การติดตามกวางผาภายหลังการปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ

การติดตามกวางผาภายหลังการปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ

การติดตามกวางผาภายหลังการปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ตามโครงการการฟื้นฟูประชากรกวางผาในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่
.

ปัจจุบันสัตว์ป่าหลายชนิดของประเทศไทยมีการศึกษาเกี่ยวกับประชากร สถานภาพ และระบบนิเวศของถิ่นที่อยู่อาศัยยังมีข้อมูลที่ยังไม่สมบูรณ์ สำหรับข้อมูลสัตว์ป่าจะนำมาใช้ในการบริหารจัดการประชากร และการจัดการพื้นที่ถิ่นอาศัยของสัตว์ป่าให้เหมาะสม สำหรับเป็นแหล่งต้นทุนของจำนวนประชากร และพันธุกรรมของสัตว์ป่าที่สำคัญ ดังนั้นการศึกษาถึงประชากร สถานภาพ และการกระจายจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการอนุรักษ์ชนิดพันธุ์ของสัตว์ป่า

กวางผา เป็นสัตว์ป่าสงวน 1 ใน 20 ชนิดของประเทศไทยในปัจจุบัน การศึกษาเกี่ยวกับประชากรสถานภาพ ของกวางผาได้ดำเนินการโดยกลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เมื่อปี พ.. 2561 พบว่ากวางผามีการกระจายในพื้นที่ป่า 11 พื้นที่อนุรักษ์ มีจำนวนประชากร 292 ตัว โดยมี เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่เป็นพื้นที่ที่มีประชากรกวางผามากที่สุดในประเทศไทย มีจำนวนประชากร 100 ตัว กระจายหากินอยู่บนยอดดอยและพื้นที่ต่างๆ ของดอยเชียงดาว ซึ่งจากการสำรวจนี้ทำให้ทราบว่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว เป็นแหล่งอาศัยที่สำคัญของกวางผาในประเทศไทย และถือว่าเป็นแหล่งอนุรักษ์พันธุกรรมที่สำคัญของกวางผาในประเทศไทย

การดำเนินการฟื้นฟูประชากรกวางผาในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ดำเนินการโดยความร่วมมือของสถานีวิจัยสัตว์ป่าดอยเชียงดาว สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อย และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว ได้ดำเนินการการปล่อยกวางผาคืนสู่ธรรมชาติตามหลักวิชาการ มีการคัดเลือกสายพันธุ์กวางผาในกรงเลี้ยงที่มีความเหมาะสม มีการดำเนินการมาปรับสภาพร่างกายและปรับพฤติกรรมในพื้นที่ที่จะปล่อย เพื่อเป็นการให้กวางผามีความคุ้นเคยและปรับพฤติกรรมในการกินอาหารและพฤติกรรมการดำรงชีวิตในพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีการดำเนินการติดตามกวางผาภายหลังการปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ เพื่อสร้างองค์ความรู้ในด้านการปล่อยกวางผาคืนสู่ธรรมชาติให้มีประสิทธิภาพและประสบความสำเร็จมากขึ้น

อ่านออนไลน์

บทคัดย่อ

โครงการฟื้นฟูประชากรกวางผาเป็นเป้าหมายหนึ่งของแผนการจัดการอนุรักษ์กวางผาที่เป็นสัตว์ป่าสงวนชนิดหนึ่งที่หายากของไทยให้คงอยู่ในพื้นที่ธรรมชาติของประเทศไทยต่อไป การศึกษาในครั้งนี้ดำเนินการในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่าง เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2562 ถึง เดือน มกราคม พ.ศ. 2564 แบ่งการศึกษาออกเป็น 2 ระยะ ระยะที่ 1 พัฒนากระบวนการก่อนปล่อยกวางผาคืนสู่ธรรมชาติที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ โดยการปล่อยกวางผาจะใช้วิธีการปล่อยสัตว์ป่าแบบละมุนละม่อมรวมถึง โดยอาศัยเหตุผล การปรับสภาพ และ สร้างความเคยชินในที่อยู่อาศัยใหม่แบบค่อยเป็นค่อยไป โดยมีขั้นตอน คือ

1) การคัดเลือกกวางผาที่เลี้ยงอยู่ในสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อยและขนย้ายกวางผามาที่กรงปรับสภาพในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว 2) เก็บข้อมูลพฤติกรรมของกวางผาแต่ละตัวในกรงปรับสภาพ ด้วยการใช้กล้องดักถ่ายภาพ และการสังเกตโดยตรง 3) การสำรวจพื้นที่เพื่อปล่อยกวางผา 4) การใส่ปลอกคอส่งสัญญาณดาวเทียม และ 5) การปล่อยกวางผาคืนสู่ป่าธรรมชาติ 

ระยะที่ 2 การติดตามประชากรจำนวน พื้นที่อาศัยและกิจกรรมของกวางผาจำนวน 3 ตัว ภายหลังการปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ด้วยปลอกคอสัญญาณดาวเทียม การใช้กล้องดักถ่ายภาพ และการสังเกตโดยตรง โดยมีระยะเวลาศึกษาติดตาม 11 เดือน 

ผลจากการศึกษา พบว่า คัดเลือกกวางผาที่เหมาะสมสำหรับการปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ได้ทั้งจำนวน 6 ตัว เป็นเพศผู้ 2 ตัว เพศเมีย 4 ตัว โดยการคัดเลือกกวางผามีสุขภาพแข็งแรงและมีข้อมูลพันธุกรรมต่างกันเพื่อป้องกันภาวะเลือดชิด การศึกษาพฤติกรรมของกวางผาในกรงปรับสภาพ พบว่า กวางผามีการปรับพฤติกรรมการเคี้ยวเอื้อง การหาอาหาร การกินอาหารสำเร็จรูป การพักผ่อน การนอนหลับ การทำความสะอาดร่างกาย การเกา การผิงแดด การยืน และการเดินในกรงปรับสภาพในทิศทางที่ดีภายในระยะเวลา 6 เดือน รวมถึงกวางผายังแสดงพฤติกรรมการปรับตัวให้เข้ากับสภาพภูมิประเทศ สภาพภูมิอากาศ และกินพืชที่มีอยู่ ในบริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาวเป็นอาหารหลักอีกด้วย

ผลการศึกษาหลังการปล่อยกวางผาจำนวน 3 ตัว เพศผู้ 2 ตัว และเพศเมีย 1 ตัว สู่พื้นที่ป่าธรรมชาติพบว่ากวางผาเพศผู้ มีอาณาเขตพื้นที่หากิน (0.369 ตารางกิโลเมตร) และ พื้นที่อาณาเขตใช้ประจำ (0.074 ตารางกิโลเมตร) กว้างมากกว่าพื้นที่หากิน (0.099 ตารางกิโลเมตร) และพื้นที่อาณาเขตใช้ประจำของเพศเมีย (0.02 ตารางกิโลเมตร) โดยมีจุดกึ่งกลางพื้นที่อาศัยใหม่ของเพศผู้จะอยู่ห่างจากกรงปรับสภาพประมาณ 327- 550 เมตร และ เพศเมียจะมีพื้นที่อาศัยใหม่อยู่ห่างจากกรงปรับสภาพประมาณ 456.07 เมตร ลักษณะโครงสร้างของสังคมพืชที่กวางผาทั้ง 3 ตัวเลือกใช้ คือ ป่าดิบเขา ที่มีเรือนยอดไม่แน่นทึบ มีความลาดชันประมาณ 30º-70º พื้นล่างปกคลุมด้วยพืชตระกูลหญ้า มีชนิดไม้เด่นคือ สนสามใบ ก่อ แอบ ดอกขาวและเก็ดดำ นอกจากนี้ยังพบว่ากวางผามีระยะทางเดินเฉลี่ยในช่วงฤดูร้อนที่มากกว่าฤดูหนาวและฤดูฝน เนื่องจากกวางผาพยายามหาแหล่งพืชอาหารและแหล่งน้ำเพียงพอต่อความต้องการ ในช่วงที่สภาพป่าแห้งแล้ง

ดาวน์โหลดหนังสือ