ดาวน์โหลดหนังสือ
‘นี่ไถ่’ เป็นภาษากะเหรี่ยงโผล่ว แปลว่า ‘ผึ้งหลวง’ หรือต้นผึ้ง
‘ผึ้งหลวง’ หรือ Giant honey bee เป็นผึ้งในสกุล Apis ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด และเป็นผึ้งท้องถิ่นของไทย
1 ใน 3 ของอาหารที่มนุษย์บริโภค จำเป็นต้องพึ่งพาแมลงผสมเกสร โดยผึ้งเป็นกำลังสำคัญที่ทำหน้าที่นั้นในระบบนิเวศ มนุษย์เรียนรู้การใช้ประโยชน์จากผึ้งมาเป็นเวลาพันปี ปัจจุบันผลผลิตจากผึ้งยังคงเป็นที่ต้องการของมนุษย์ทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ของประชากรผึ้งทั่วโลกกำลังเผชิญวิกฤตการพัฒนาของพื้นที่เมือง (Urban landscape) ทำให้ผึ้งสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย และดูเหมือนว่าการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ (Climate change) จะเป็นตัวเร่งวิกฤตนี้มากยิ่งขึ้น
หนังสือเล่มนี้เป็นการถอดเนื้อหามาจากวิทยานิพนธ์เรื่อง องค์ความรู้ท้องถิ่นในการใช้ประโยชน์และจัดการผึ้งหลวง (Apis dorsata F.) ของชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่อำเภอศรีสัวสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี เดิมทีวัตถุประสงค์ของวิทยานิพนธ์เล่มนี้จัดทำขึ้นเพื่อทำความเข้าใจวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงในการใช้ประโยชน์จากผึ้งหลวงในพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าศรีสวัสดิ์ เพื่อเป็นข้อมูลในการเตรียมความพร้อมเพื่อวางแผนการจัดพื้นที่อย่างเหมาะสม
สำหรับหนังสือเล่มนี้ผู้เขียนเน้นการเล่าเรื่องผ่านรูปภาพ เพื่อให้อ่านเข้าใจง่ายขึ้น เสมือนได้ร่วมเดินทางไปเรียนรู้วิถีชีวิต ภูมิปัญญาการใช้ประโยชน์จากผึ้งหลวงในพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าศรีสวัสดิ์ร่วมกัน และเข้าใจถึงความผูกพันระหว่างคนกะเหรี่ยงกับทรัพยากรป่าไม้
ผู้เขียนรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่หลายคนให้ความสนใจในประเด็นดังกล่าว และขอขอบพระคุณผู้สนับสนุนไม่ว่าจะเป็น Sida องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) และมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ที่ทำให้เกิดหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา