หนังสือ การสูญพันธุ์ครั้งที่ 6 เล่มนี้จัดทำขึ้นโดย มูลนิธิสืบนาคะเสถียร เพื่ออธิบายเรื่องราววิกฤตการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ของโลกที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน หรือที่เรียกว่า ‘การสูญพันธุ์ครั้งที่ 6’
โดยเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ ส่วนหนึ่งเป็นการเรียบเรียงขึ้นใหม่จากหนังสือ The Sixth Extinction ของคุณอลิซาเบธ โคลเบิร์ต (มีการตีพิมพ์และแปลเป็นภาษาไทยกับสำนักพิมพ์ openworld ในชื่อ ประวัติศาสตร์นับศูนย์ : สู่การสูญพันธุ์ครั้งที่ 6 แปลโดยคุณสุนันทา วรรณสินธ์ เบล และจากหนังสือ Half-Earth ของนักชีววิทยาชื่อ เอ็ดเวิร์ด ออสบอร์น วิลสัน
รวมถึงได้มีการเรียบเรียงกรณีศึกษาต่างๆ จากข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ และการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตที่เกิดขึ้นรอบโลกในปัจจุบันเพิ่มเติม
มูลนิธิสืบนาคะเสถียร หวังเป็นอย่างยิ่งว่า เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้จะมีส่วนช่วยให้ผู้อ่านเกิดความตระหนักและเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์สิ่งมีชีวิตและชนิดพันธุ์ต่างๆ ก่อให้เกิดแนวร่วมในการปกป้องสรรพชีวิตให้รอดพ้นจากวิกฤตการสูญพันธุ์ที่กำลังดำเนินอยู่ในทุกวันนี้
ตัวอย่างเนื้อหา
การสิ้นสุดโลกครั้งแรกของเขาหมายถึงการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่
ครั้งล่าสุดเมื่อ 65 ล้านปีที่ดาวเคราะห์น้อยกว้าง 12 ไมล์พุ่งเข้าชนโลกด้วยความเร็ว 20 กิโลเมตรต่อวินาที หรือ 1,200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง วิ่งชนโลกบริเวณชายฝั่งเม็กซิโก ทำให้เกิดหลุมลึก 10 กิโลเมตร รัศมีกว้าง 180 กิโลเมตร ทำให้โลกสั่นเป็นระฆังเลยทีเดียว ผลของการชนก็ทำให้เกิดแผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิดตูมตาม เกิดคลื่นยักษ์รอบโลก จากนั้นก็เกิดฝนกรดจากหมอกควันภูเขาไฟที่ละลายกับฝน ท้องฟ้ามืดเพราะฝุ่นภูเขาไฟฟุ้งกระจาย แสงอาทิตย์ส่องลงมาไม่ได้ อากาศเย็นลง ผลใหญ่ๆ ของมันนอกจากสรรพชีวิตจะตายทันทีเพราะแรงระเบิดและภัยพิบัติต่างๆ ที่ตามมา ในระยะยาวก็ทำให้พืชสังเคราะห์แสงไม่ได้ เข้าสู่ช่วงเวลาหนาวเย็นยาวนาน ประมาณการว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ของสิ่งมีชีวิตตายแหงแก๋ไปหมด ไม่ใช่เฉพาะที่เราดูในหนังบ่อยๆ ว่าเป็นไดโนเสาร์ที่วิ่งกันจ้าละหวั่น แต่หมายถึงระดับจุลินทรีย์ เห็ดรา และแมลงต่างๆ ไม่เฉพาะพืชและสัตว์ใหญ่ๆ เท่านั้น
นั่นคือช่วงเวลาธรณีกาลที่สิ้นสุดมหายุคมีโซโซอิก มีพวกสัตว์เลื้อยคลานโดดเด่น และเข้าสู่มหายุคซีโนโซอิก ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาของพวกเลี้ยงลูกด้วยน้ำนม อ้ายมนุษย์อย่างพวกเราก็คงถือเป็นสุดยอดผลผลิตของมหายุคซีโนโซอิกนั่นเอง
วิลสัน อธิบายถึงช่วงเวลาทางธรณีวิทยาในมหายุคซีโนโซอิกมาจนถึงปัจจุบันว่า แบ่งเป็น 7 ช่วงเวลา หรือที่ทางธรณีวิทยาเขาใช้ศัพท์คำว่า ‘สมัย’ หรือ Epoch เป็นสมัยใหญ่ๆ 7 สมัย แบ่งตามความโดดเด่นของการพบฟอสซิลพืชหรือสัตว์ที่มีการเปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงเวลา มีวิวัฒนาการมาตั้งแต่การสิ้นสุดมหายุคมีโซโซอิก สมัยต่างๆ มีชื่อทางธรณีวิทยาว่า อีโอซีน, โอลิโกซีน, ไมโอซีน, ไพลโอซีน มาจนถึงไพลสโตซีน หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ ‘ยุคน้ำแข็ง’ ต่อจากยุคน้ำแข็งก็เข้าสู่ช่วงปัจจุบันทางธรณีวิทยาที่เรียกว่า ช่วงของสมัยโฮโลซีน นับจากเวลา 11,700 ปีที่ผ่านมา เป็นช่วงน้ำแข็งเริ่มถดถอยไปอยู่ขั้วโลกและสิ่งมีชีวิตก็เพิ่มจำนวนชนิดพันธุ์กันปุบปับเยอะแยะ
ในช่วงหมื่นกว่าปีนั้น มีมนุษย์กระจายตัวไปทั่วโลกแล้ว วิลสันบอกว่า “มนุษย์นี้แหละที่มีศักยภาพในการทำลายสูงเท่าๆ กับครั้งที่ดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนโลกเมื่อครั้งที่แล้วเลย” การทำลายใน 3 ระดับชีวิตจะครบถ้วน “ทั้งระดับระบบนิเวศ เช่น แนวปะการัง แม่น้ำ ป่า ระดับชีวิตทั้งปลา สัตว์อื่นๆ สุดท้ายจะทำลายถึงระดับพันธุกรรมในแต่ละชนิดพันธุ์กันเลย
การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ไม่ใช่ว่าเคยเกิดมาแค่ครั้งเดียว แต่เคยเกิดมาแล้วหลายครั้งในประวัติธรณีกาล ในช่วง 600 ล้านปีที่ผ่านมา ก็มา 5 ครั้ง เฉลี่ยๆ ก็ร้อยกว่าปีมาสักทีนึงจากปัจจัยที่แตกต่างกัน และใช้เวลาประมาณ 10 ล้านปีในการฟื้นฟูชนิดพันธุ์ใหม่กลับมา การเข้าสู่ยุคที่มนุษย์จะเป็นสาเหตุนี้จะเป็นวิกฤตการสูญพันธุ์ใหญ่ครั้งที่ 6 นับจากหลักฐานที่พบชนิดพันธุ์ขึ้นบนโลก
ยุทธศาสตร์ Extinction & Climate Change
ท่ามกลางสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมของโลกที่กำลังเผชิญภัยพิบัติ และการคุกคามสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ ทั่วโลกจนค่อยๆ ทยอยสูญพันธุ์ลง มูลนิธิสืบนาคะเสถียรซึ่งมีบทบาทการทำงานอนุรักษ์ผืนป่าและสัตว์ป่าในประเทศไทย กำลังทำงานท่ามกลางสถานการณ์ดังกล่าว บทบาทสำคัญขององค์กร คือ การรักษาผืนป่าใหญ่ที่เป็นบ้านอันมั่นคงของสัตว์ป่า และระบบนิเวศสำคัญของประเทศไทยและของมนุษย์ในโลกใบนี้ รวมถึงฟื้นฟู ดูแลประชากรของสัตว์ป่าที่กำลังเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่มูลนิธิฯจะเป็นองค์กรอนุรักษ์ของประเทศไทยเข้ามาทำหน้าที่ร่วมขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาเรื่อง ‘การสูญพันธุ์ครั้งที่ 6’ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก โดยใช้จุดแข็งของมูลนิธิฯ คือ การสื่อสารสาธารณะให้ตระหนักถึงปัญหาและเข้ามามีส่วนร่วมหยุดยั้งปัญหาด้วยตนเอง รวมถึงผลักดันเชิงนโยบายที่เป็นกลไกสำคัญขับเคลื่อนการลดภัยพิบัติ