หนังสือพญาแร้ง เล่มนี้ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร จัดทำขึ้นเพื่อเป็นสื่อเผยแพร่ให้ความรู้เกี่ยวกับ พญาแร้ง โดยย่นย่อ ตั้งแต่ลักษณะทางกายภาพ คุณค่าความสำคัญที่มีต่อระบบนิเวศ ตลอดจนเรื่องราวการสูญพันธุ์ของพญาแร้งในประเทศไทย
ทั้งนี้ ปัจจุบัน มีความพยายามจาก 4 องค์กร ที่จะทำให้พญาแร้งได้กลับไปบินบนท้องฟ้าเหนือป่าห้วยขาแข้งดังเดิม ด้วยการร่วมแรงร่วมใจกันของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช องค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ด้วยความหวังที่ว่าจะสามารถเพาะขยายพันธุ์พญาแร้งในพื้นที่ธรรมชาติ ออกลูกสืบหลานเพื่อดำรงเผ่าพันธุ์ต่อไปอีกนานแสนนาน
พญาแร้ง เป็นนกขนาดใหญ่ ขนาดลำตัวประมาณ 80 เซนติเมตร เมื่อโตเต็มที่ หัว คอ และเท้ามีสีแดง ขนตามลำตัวมีสีดำ ขนที่หน้าอกและโคนขามีสีขาว ที่คอมีสีขาวขึ้นโดยรอบ มองดูคล้ายสวมพวงมาลัย
เราสามารถรู้ได้ว่าตัวไหนเป็นเพศผู้ เพศเมีย ดูได้จากสีของม่านตา เพศผู้จะมีม่านตาสีเหลือง และเพศเมียจะมีม่านตาสีดำ ไปจนถึงสีแดงหม่น ส่วนพญาแร้งวัยเด็กจะมีขนบริเวณหัว และหน้าอกมีสีขาว มีปีกสีน้ำตาล
หนังสือพญาแร้ง
ผู้จัดทำ – มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
บรรณาธิการ – ชฎาภรณ์ ศรีใส
คณะผู้จัดทำ – ชฎาภรณ์ ศรีใส เอกวิทย์ เตระดิษฐ์ สุธาสินี นุกูลกิจ
ภาพประกอบ – ชีวพัฒน์ อดุลศักดิ์ศรี
เรื่อง – อรยุพา สังขะมาน
กราฟิก – สุธาสินี นุกูลกิจ
พิมพ์ครั้งที่ 1 – ธันวาคม 2565
จำนวน – 1,500 เล่ม