โครงการฟื้นฟูประชากรกวางผาในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประชากรของกวางผาในแหล่งอาศัยตามธรรมชาติให้มากขึ้น และเพื่อปรับปรุงพันธุ์ของกวางผาในธรรมชาติ โดยแก้ไขปัญหาเลือดชิดและเพิ่มความหลากหลายทางพันธุกรรมมากขึ้น โดยมีโครงการนำกวางผาจากกรงเลี้ยงในสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ที่มีสุขภาพสมบูรณ์จำนวน 6 ตัว และได้เตรียมความพร้อมปรับสภาพให้กับกวางผาในกรงปรับสภาพ เพื่อให้กวางผาคุ้นเคยกับพื้นที่ป่าธรรมชาติ แล้วค่อยๆ ขยายพื้นที่จนมั่นใจว่ากวางผาสามารถหาอาหารและดำรงชีวิตในธรรมชาติได้ พร้อมทั้งยังเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อตรวจโรค การติดปลอกคอส่งสัญญาณดาวเทียมที่ติดกับกวางผา จำนวน 3 ตัว พร้อมทั้งการใช้กล้องดังถ่ายภาพ (Camera Trap) ติดตามกวางผาเพื่อศึกษาการรอดตาย ติดตามตัว และการปรับเลือกใช้ พื้นที่อาศัยภายหลังการปล่อยคืนสู่ธรรมชาติในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว
บทคัดย่อ
การศึกษาขนาดอาณาเขตหากินและการใช้พื้นที่อาศัยของกวางผาพม่า ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่
การศึกษาขนาดอาณาเขตหากินและถิ่นที่อยู่อาศัยของกวางผาพม่า ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาขนาดของอาณาเขตพื้นที่หากิน ลักษณะพื้นที่อาศัยและโครงสร้างสังคมพืช และปัจจัยคุกคามที่มีผลต่อกวางผาที่พบในธรรมชาติ บริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว
วิธีดำเนินการวิจัยเริ่มจากการดักจับกวางผาเพื่อติดปลอกคอส่งสัญญาณดาวเทียมก่อนปล่อย กำหนดให้ปลอกคอสัญญาณดาวเทียมที่ระบุพิกัดทุกชั่วโมงทุกชุดข้อมูลดังกล่าวนี้จะนำไปใช้วิเคราะห์ขนาดของอาณาเขตพื้นที่หากิน ถิ่นที่อาศัยของสังคมพืช และปัจจัยคุกคามที่มีผลต่อกวางผาที่พบในธรรมชาติ
ดำเนินการศึกษาวิจัยเริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2564 จนถึงเดือนกันยายน พ.ศ. 2565
ผลการศึกษาพบว่า ขนาดของอาณาเขตพื้นที่หากินของกวางผาในธรรมชาติ เพศเมียตัวเต็มวัย จำนวน 3 ตัว อาณาเขตพื้นที่อาศัยกระจายในพื้นที่ดอยหลวงน้อย ดอยกิ่วลมและดอยสามพี่น้อง บริเวณที่มีความสูงระหว่าง 1,000-1,900 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ความลาดชันระหว่าง 50-80 องศา สภาพพื้นที่เป็นหน้าผาหินปูนสูงชันสลับกับทุ่งหญ้าระหว่างหน้าผา มีขนาดอาณาเขตพื้นที่หากิน เท่ากับ 0.072-0.360 ตารางกิโลเมตร (FK ที่ 95%) และขนาดพื้นที่ 0.077-0.404 ตารางกิโลเมตร (MCP ที่ 95%) ส่วนพื้นที่ครอบครองใช้ประจำ (Territory) เท่ากับ 0.014-0.081 ตารางกิโลเมตร (FK ที่ 50%) และขนาด 0.015-0.069 ตารางกิโลเมตร (MCP ที่ 50%)
ขนาดพื้นที่อาศัยของกวางผาตามฤดูกาล พบว่ากวางผาใช้พื้นที่อาศัยกว้างมากที่สุดในฤดูหนาว รองลงมาคือช่วงฤดูฝน ส่วนฤดูร้อนกวางผามีขนาดพื้นที่น้อยที่สุด
การเคลื่อนที่กวางผาในรอบวัน กวางผาสามารถเคลื่อนที่ได้เฉลี่ย 0.79-1.36 กิโลเมตรต่อวัน โดยมีการเคลื่อนที่ของกวางผาในรอบชั่วโมง กวางผาสามารถเคลื่อนที่ได้เฉลี่ย 0.03-0.06 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยมีการเคลื่อนที่ของกวางผาในรอบวันในฤดูร้อนมีระยะทางการเคลื่อนที่มากที่สุด และฤดูฝน ฤดูหนาว ตามลำดับ
สำหรับพื้นที่ที่กวางผาใช้ประโยชน์และอาศัยเป็นสังคมพืชป่าดิบเขาที่มีทุ่งหญ้าสลับเป็นหย่อมโดยมีไม้ในวงศ์ก่อ เป็นไม้เด่น
ส่วนปัจจัยคุกคามที่เป็นสัตว์ผู้ล่าตามธรรมชาติที่พบได้แก่ เสือดาว เสือไฟ และหมาใน
องค์ความรู้จากการศึกษานี้ ทำให้ทราบถึงข้อมูลอาณาเขตหากินของกวางผาแต่ละตัวใช้ในการดำรงชีวิต และประเมินศักยภาพของพื้นที่อาศัยในด้านของสังคมพืช ที่เป็นแหล่งอาหารและหลบภัยของกวางผา รวมถึงภัยคุกคามต่างๆ ที่มีแนวโน้มส่งผลต่อการลดจำนวนของกวางผา
ซึ่งข้อมูลดังกล่าวมีความสำคัญในการบริหารจัดการโครงการฟื้นฟูประชากรกวางผาในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาวประสบความสำเร็จ ความต่อเนื่องและยั่งยืน
กิตติกรรมประกาศ
การศึกษาขนาดอาณาเขตหากินและถิ่นที่อาศัยของกวางผาพม่า ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการวิจัยโครงการการฟื้นฟูประชากรกวางผา ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว ซึ่งงานวิจัยสำเร็จลุล่วงได้ด้วยความร่วมมือจากหลายฝ่าย ประกอบด้วยสถานีวิจัยสัตว์ป่าดอยเชียงดาว และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว รวมถึงเจ้าหน้าที่ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ทุกท่านที่ร่วมในโครงการนี้
ในการดำเนินการวิจัยนี้ต้องขอขอบพระคุณอย่างยิ่ง สำหรับมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ที่ร่วมสนับสนุนโครงการฟื้นฟูปนะชากรกวางผา ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว โดบสนับสนุนงบประมาณในการจัดซื้ออุปกรณ์ทำกรงปรับสภาพ งบประมาณในการเก็บข้อมูล และปลอกคอสัญญาณดาวเทียม (Satellite GPS Collars) พร้อมค่าใช้จ่ายในการรับข้อมูลจากดาวเทียม รวมถึงคุณวรลักษณ์ โกษากุล กรรมการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ที่ช่วยประสานงานกับบริษัท VECTRONIC Aerospace ในการติดต่อและประสานงานใช้ข้อมูลจากปลอกคอสัญญาณดาวเทียม
ขอขอบคุณ อาจารย์ ดร.ศศิธร หาสิน อาจารย์ประจำมหาวิยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ คุณอัมพรพิมล ประยูร และว่าที่ร้อยตรี ณัฐวุฒิ วรรณา ผู้ให้คำปรึกษา คำแนะนำ ช่วยในวิเคราะห์ข้อมูล ตลอดจนพิจารณาแก้ไขเล่มโครงการ และสพญ.รัตนา สาริวงศ์จันทร์ นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ ที่มาช่วยตรวจสุขภาพกวางผาในการดำเนินการศึกษาวิจัย