เอกสารเหตุผลในการคัดค้านโครงการเขื่อนแม่วงก์ เป็นเอกสารที่จัดทำขึ้น โดยเครือข่ายองค์กรอนุรักษ์ด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อนำเสนอข้อมูลที่เป็นเหตุผละผลจากการศึกษา ทั้งการลงเก็บข้อมูลในพื้นที่และการศึกษาข้อมูลเอกสาร โดยนักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิแต่ละอาชีพที่เป็นสมาชิกเครือข่ายองค์กรอนุรักษ์ด้านสิ่งแวดล้อม
แนวคิดในการดำเนินโครงการเขื่อนแม่วงก์ เกิดขึ้นจากรมชลประทานได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมของการพัฒนาโครงการชลประทานในลุ่มน้ำสะแกกรัง โดยการสนับสนุนจาก JICA (ประเทศญี่ปุ่น) เมื่อปี พ.ศ.2527 แนวคิดของการสร้างเขื่อนแม่วงก์ได้เกิดขึ้นมาในช่วงเวลานั้น และมีการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในการก่อสร้าง โดยมีการว่าจ้างสถาบันการศึกษาและบริษัทเอกชนเป็นผู้ดำเนินการ เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการผู้ชำนาญการและคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเป็นผู้พิจารณา ซึ่งคณะกรรมการทั้งสองชุดได้มีมติแก้ไขและปรับปรุงรายงานการศึกษาเพิ่มเติมมามากกว่า 3 ครั้ง จนถึงปัจจุบันนี้ นั่นเพราะเหตุและผลของโครงการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ ยังไม่สามารถตอบคำถามอย่างชัดเจนในด้านผลประโยชน์ที่จะได้รับและการแก้ไขปัญหาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นจากโครงการแต่อย่างใด
ในปี พ.ศ. 2554 ประเทศไทย ประสบปัญหาน้ำท่วมลุ่มน้ำที่ราบภาคกลางอย่างรุนแรง คณะรัฐบาลจึงมีมติอนุมัติในหลักการ เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2555 ให้เดินหน้าโครงการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ ด้วยงบประมาณ 13,280 ล้านบาท โดยอ้างว่าเป็นการป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ภาคกลาง เก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้งและขยายพื้นที่ชลประทาน
เอกสารเหตุผลในการคัดค้านโครงการเขื่อนแม่วงก์ของเครือข่ายองค์กรอนุรักษ์ด้านสิ่งแวดล้อมฉบับนี้ เป็นการนำเสนอบทความในประเด็นที่มีนัยสำคัญต่อการคัดค้านโครงการเขื่อนแม่วงก์ ประกอบด้วย คุณค่าของทรัพยากรสัตว์ป่าและระบบนิเวศของป่าที่ราบริมน้ำแม่วงที่จะได้รับผลกระทบหากมีโครงการเขื่อนแม่วงก์ ประเด็นการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้ง ข้อสังเกตในการวิเคราะห์ความคุ้มทุนทางเศรษฐศาสตร์ ธรรมาภิบาลในกระบวนการดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ และทางออกในการจัดการน้ำของพื้นที่
ซึ่งจากการศึกษาข้อมูลของเครือข่ายองค์กรอนุรักษ์ด้านสิ่งแวดล้อมในแต่ละประเด็นพบว่าโครงการเขื่อนแม่วงก์สามารถบรรเทาน้ำท่วมลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้เพียงเล็กน้อย และยังมิได้แก้ปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งของพื้นที่ลุ่มน้ำแม่วง อย่างมีนัยสำคัญ โครงการเขื่อนแม่วงก์จึงเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่าของประเทศไทย ขณะเดียวกันยังพบว่าในพื้นที่แม่วงก์ ยังมีทางออกในการจัดการน้ำของพื้นที่ในบริเวณนี้ทั้งในระดับบุคคล ชุมชน และตำบล ที่มีการดำเนินการอยู่แล้วอย่างได้ผล อาจใช้เป็นแบบอย่างในการจัดการน้ำได้โดยไม่ต้องลงทุนสูง ทั้งในเรื่องระบบนิเวศและเงินลงทุนเช่นเดียวกับการสร้างเขื่อนแม่วงก์ สิ่งสำคัญคือ กระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ของตนเอง
การนำพื้นที่ป่าสมบูรณ์ของอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ มาสร้างเป็นหัวงานและอ่างเก็บน้ำย่อมเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่าอย่างยิ่ง เพราะอุทยานแห่งชาติแม่วงก์เป็นส่วนสำคัญของผืนป่าตะวันตก ซึ่งประกอบไปด้วยผืนป่าอนุรักษ์ 17 ผืน ต่อเนื่องกันเป็นผืนป่าใหญ่ถึง 11.7 ล้านไร่ เป็นผืนป่าใหญ่ที่สุดของประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีขนาดใหญ่พอที่จะเป็นบ้านของสัตว์ป่านานาชนิด เช่น เสือโคร่ง ช้าง กระทิง วัวแดง สมเสร็จ ควายป่า ฯลฯ การก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์เป็นการทำลายป่าต้นน้ำ อาจเกิดการลักลอบตัดไม้ริมอ่างเก็บน้ำที่ยากต่อการควบคุม เป็นการเร่งให้เกิดการสูญพันธุ์ของสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ เช่น นกยูง เสือโคร่ง สูญเสียแหล่งที่อยู่ของสัตว์ป่า ทำลายโอกาสการฟื้นฟูของอุทยาน ส่งผลกระทบต่อมรดกโลกทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ทำให้ระบบนิเวศถูกคุกคาม ง่ายต่อการลักลอบล่าสัตว์ป่า นอกจากนั้นเขื่อนมีขนาดเล็ก ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน เขื่อนไม่แก้ปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้ง ทำลายความเชื่อมั่นด้านสิ่งแวดล้อมของไทยและเป็นช่องทางให้โครงการพัฒนาขนาดใหญ่เกิดขึ้นในพื้นที่อนุรักษ์อื่นๆ ต่อไป
ดาวน์โหลด หนังสือ เหตุผลในการคัดค้านโครงการเขื่อนแม่วงก์