สถานการณ์ป่าไม้ไทย 2565

สถานการณ์ป่าไม้ไทย 2565

จากการประเมินทรัพยากรป่าไม้ในระดับโลกขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations: FAO) ในช่วงปี พ.ศ. 2563 พบว่า มีพื้นที่ที่คงสภาพป่าไม้อยู่ประมาณร้อยละ 30.8 หรือคิดเป็น 25,375 ล้านไร่ หรือราว 3.125 ไร่ต่อหัวของประชากรโลก พื้นที่มากกว่าครึ่งของพื้นที่ป่าไม้ในโลกมีการกระจุกตัวมากที่สุดใน 5 ประเทศ ได้แก่ ประเทศรัสเซีย ประเทศบราซิล ประเทศแคนาดา ประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศจีน ซึ่งในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมาสัดส่วนของพื้นที่ป่าไม้ลดลงจากร้อยละ 32.5 เหลือร้อยละ 30.8 สาเหตุหลักของการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ส่วนใหญ่คือการขยายตัวของพื้นที่เกษตรกรรม โดยใน 135 ประเทศ พบว่า 60 ประเทศ จะมีการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้มากกว่าร้อยละ 1 ของพื้นที่ป่าไม้ในประเทศ ซึ่งประเทศที่มีการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้มากสุด ได้แก่ ประเทศบราซิล ประเทศแคนาดา ประเทศคองโก และประเทศปารากวัย ในขณะที่มีเพียง 17 ประเทศ ที่มีพื้นที่ป่าไม้เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 1

พื้นที่ป่าไม้ประเทศไทย 2565

ปี 2565 ประเทศไทยมีพื้นที่ที่มีสภาพป่าไม้เพียงร้อยละ 31.57 ของพื้นที่ประเทศไทย หรือคิดเป็น 102,135,974.96 ไร่ ซึ่งลดลดลงจากปี 2564 ประมาณร้อยละ 0.02 คิดเป็น 76,459.41 ไร่ อย่างไรก็ตามจากรายงานสถานการณ์ป่าไม้ของประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 – 2565 พบว่า มีอัตราการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ป่าไม้ค่อนข้างจะคงที่ และในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันพื้นที่ป่าไม้ของไทยมีการลดลงต่อเนื่อง สาเหตุสำคัญที่ทำให้พื้นที่ป่าไม้ลดลง ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน (Land Use Change) การเกิดจากปัญหาไฟป่า (Forest Fire) หรือการบุกรุกทำลายป่า เป็นต้น

สถิติพื้นที่ป่าไม้ของประเทศไทย (พ.ศ. 2516 – 2565)

จังหวัดที่มีพื้นที่ป่ามากและน้อยที่สุด

การบุกรุกพื้นที่ป่า พ.ศ. 2565

การบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 1,845 คดี มีพื้นที่ถูกบุกรุก 16,176.16 ไร่ โดยมีจำนวนคดีการบุกรุกลดลงจากปี พ.ศ. 2564 แต่มีพื้นที่ที่ถูกบุกรุกเพิ่มขึ้น 982.82 ไร่

การบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 625 คดี มีพื้นที่ถูกบุรุก 3,461.36 ไร่ โดยมีจำนวนคดีบุกรุกและพื้นที่ที่มีการบุกรุกเพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2564

สถานภาพชนิดพันธุ์สัตว์ป่า… ที่ ‘ถูกคุกคาม’ ในประเทศไทย

ไฟป่า… สถานการณ์ที่ไทยต้องเผชิญ

การเกิดไฟป่า… นับว่าเป็นสาเหตุหนึ่งของการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ในประเทศไทย ทั้งการเกิดไฟป่าที่มีสาเหตุมาจากธรรมชาติและจากการกระทำของมนุษย์ ซึ่งส่งผลต่อสมดุลของระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของมนุษย์ด้วย จากรายสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2565 พบว่า การดับไฟป่าในปี พ.ศ. 2564 เกิดขึ้นทั้งหมด 12,033 ครั้ง มีพื้นที่ที่ถูกไฟไหม้ 248,690.30 ไร่ ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก ปี พ.ศ. 2563 ที่มีการดับไฟป่า 10,708 ครั้ง และมีพื้นที่ที่ถูกไฟไหม้ไปทั้งหมด 238,199.40 ไร่

เมื่อพิจารณาสถิติการดับไฟป่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พบว่า แนวโน้มการดับไฟป่าและพื้นที่ที่ถูกไฟไหม้เพิ่มขึ้น โดยพื้นที่ที่ถูกไฟไหม้มากที่สุดคือ พื้นที่ทางภาคเหนือของไทย รองลงมาคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ตามลำดับ โดยมีสาเหตุหลักมาจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน การหาของป่า และการเผาไร่ เป็นต้น

สถิติการดับไฟป่าในประเทศไทย (พ.ศ. 2560 – 2564)

ปี พ.ศ. 2565 จากการติดตามจุดความร้อน (Hotspot) ในประเทศไทยโดยการใช้ข้อมูลจากดาวเทียม The Suomi Nation Polar-Orbiting Partnership: Suomi NPP ระบบ Visible Infrared Imaging Radiometer Suite: VIIRS พบว่า มีจำนวนจุดความร้อนสะสมรวมทั้งประเทศ 53,673 จุด ลดลงจากปี พ.ศ. 2564 ร้อยละ 51.94 ที่มีจุดความร้อนสะสมถึง 111,682 จุด โดยจุดความร้อนสะสมสูงสุดจะเกิดขึ้นบิรเวณพื้นที่ภาคเหนือ รองลงมาคือ ภาคตะวันออกฉียงเหนือ หากวิเคราะห์ตามพื้นที่การใช้ประโยชน์ที่ดินแล้วจะปรากฎจุดความร้อนสะสมสูงสุดในพื้นที่เกษตรกรรม พบ 17,793 จุด รองลงมาคือ พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ พบ 14,151 จุด พื้นที่อนุรักษ์ พบ 8,980 จุด เขตปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร พบ 6,919 จุด พื้นที่ชุมชนและอื่นๆ พบ 5,815 จุด และพื้นที่ริมทางหลวง พบ 754 จุด ตามลำดับ

อนาคตผืนป่าของไทย

ที่ผ่านมาประเทศไทยได้มีการร่วมลงนามและให้สัตยาบันในข้อตกลงร่วมกันระหว่างประเทศในการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (Convention on Biological Diversity: CBD) อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ (Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora: CITES) เป็นต้น 

แต่ทว่าในทางกลับกันภาครัฐของไทยยังคงมีโครงการพัฒนาขนาดใหญ่เกิดขึ้นอยู่เสมอ เช่น โครงการการสร้างอ่างเก็บน้ำ โครงการสร้างถนนผ่านพื้นที่ป่า ซึ่งโครงการเหล่านี้เป็นโครงการที่จะต้องมีการขอใช้พื้นที่ป่า ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติหรือพื้นที่ป่าอนุรักษ์ โดยไม่มีการคำนึงถึงผลเสียในระยะยาวที่จะเกิดขึ้นท่ามกลางวิกฤตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมและภูมิอากาศที่โลกกำลังเผชิญในปัจจุบัน อาจยังถือได้ว่าเป็นภัยคุกคามโดยตรงต่อผืนป่าและความหลากหลายทางชีวภาพของไทย 

แม้ในขั้นตอนการดำเนินโครงการพัฒนาเหล่านี้จะต้องมีการประเมินผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและหาแนวทางในการป้องกัน ฟื้นฟู หรือลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นให้น้อยที่สุด เช่น การสร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 1,000 ไร่ จะต้องมีการปลูกป่าเพิ่มเป็น 2 เท่าของพื้นที่ป่าที่เสียไป แต่ในความเป็นจริงแล้วการจะได้มาซึ่งพื้นที่ป่าที่มีการหมุนเวียนของระบบนิเวศเฉพาะของพื้นที่นั้นๆ ย่อมต้องใช้ระยะเวลาให้ธรรมชาติสร้างสรรค์ขึ้นเอง ซึ่งมนุษย์เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่มีความต้องการพึ่งพาประโยชน์จากระบบนิเวศนั้นๆ 

แล้วเหตุใดมนุษย์จึงกลายเป็นสาเหตุหลักในการคุกคามธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม?

อย่างไรก็ตาม นโยบายป่าไม้แห่งชาติ พ.ศ. 2562 ยังคงมีเป้าหมายในการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ให้ได้ร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศ แบ่งเป็น พื้นที่ป่าอนุรักษ์ร้อยละ 25 พื้นที่ป่าเศรษฐกิจและป่าชุมชนร้อยละ 15 ในขณะที่ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) มีการกำหนดเป้าหมายการเพิ่มพื้นที่สีเขียวทุกประเภทให้ได้ร้อยละ 55 ของพื้นที่ประเทศภายในปี พ.ศ.2580 แบ่งเป็น พื้นที่ทีเขียวที่เป็นป่าธรรมชาติร้อยละ 35 พื้นที่สีเขียวเพื่อการใช้ประโยชน์ร้อยละ 15 และพื้นที่สีเขียวในเมืองและชนบทร้อยละ 5 นอกจากนี้ยังมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 – 2570) ซึ่งเป็นแผนระยะ 5 ปี ที่ 2 ของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ได้กำหนดเป้าหมายในการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ธรรมชาติให้ได้ร้อยละ 33 และพื้นที่ป่าเศรษฐกิจเพื่อการใช้ประโยชน์ร้อยละ 12 ของพื้นที่ประเทศ ภายในปี พ.ศ. 2570

ปัจจุบันประเทศไทยเหลือพื้นที่ป่าไม้คิดเป็นร้อยละ 31.57 ของพื้นที่ประเทศ โดยเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ร้อยละ 22 และพื้นที่ป่าเศรษฐกิจและป่าชุมชนร้อยละ 9 หากมองย้อนกลับไปในช่วง 5 ปีหลัง จะพบว่า พื้นที่ป่าไม้ของไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวในการดำเนินงานและมาตรการของหน่วยงานภาครัฐผู้รับผิดชอบ

แม้ว่าภาครัฐจะมีการดำเนินมาตรการที่สำคัญประกอบด้วย 1) การปลูกและฟื้นฟูป่าธรรมชาติในพื้นที่ต่าง ๆ เช่น ป่าสงวนแห่งชาติ พื้นที่ คทช. (ลุ่มน้ำชั้น 1,2) ป่าชุมชน ป่าอนุรักษ์ และป่าชายเลน เป็นต้น 2) การส่งเสริมการปลูกป่าเศรษฐกิจ ได้แก่ พื้นที่ ค.ท.ช. (ลุ่มน้ำชั้น 3,4,5) พื้นที่ป่าไม้ถาวร พื้นที่ ส.ป.ก. ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และพื้นที่เอกชนที่ดินกรรมสิทธิ์ และ 3) การเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเขตเมืองและชนบท รวมถึงมาตรการป้องกันการบุกรุกพื้นที่ป่าและการป้องกันการเผาป่า หรือจะเป็นการร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนจัดทำโครงการปลูกป่าเพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟู ป่าต้นน้ำ ป่าชายเลน และป้องกันไฟป่า แต่ผลจากการดำเนินงานยังคงไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร

“ดังนั้น การบรรลุเป้าหมายดังกล่าวจึงเป็นเรื่องท้าทายสำหรับภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการจัดสรรงบประมาณ การให้ความสำคัญและเข้าใจปัญหา วิธีการดำเนินงาน การแก้ปัญหาและการป้องกันที่ถูกต้องและได้ผล การลงมือทำอย่างเข้มข้น และการให้ความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน เป็นต้น”

อ้างอิง

  • Global Land Alliance. 2020
  • โครงการจัดทำข้อมูลสภาพพื้นที่ป่าไม้ ปี พ.ศ. 2565. สำนักจัดการที่ดินป่าไม้. กรมป่าไม้
  • ร่างรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2566, สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
  • รายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2565, สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
  • สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน). 2566