ผมสรุปความทุ่มเทเหนื่อยยากเพื่อไถ่บาปที่เขาไม่ได้เป็นผู้ก่อ ตามที่อาจารย์เสกสรรค์ กล่าวมาของ สืบ นาคะเสถียร ออกได้เป็น 4 เรื่องใหญ่ๆ ที่กลายเป็นสัญลักษณ์และจุดเปลี่ยนของสังคมไทย
1. เหตุการณ์ในโครงการช่วยชีวิตสัตว์ป่าที่เขื่อนเชี่ยวหลาน ซึ่งขยายผลมาสู่การคัดค้านเขื่อนน้ำโจนในภายหลัง
2. การเขียนรายงานเสนอคุณค่าป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้งเป็นมรดกโลก ในช่วงคาบเกี่ยวการทำหน้าที่หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง
3. ถ้อยคำประวัติศาสตร์ ในการนำสู่การบรรยายในการประชุมวิชาการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติครั้งที่ 1 ที่ สืบ นาคะเสถียร ประกาศชัดว่า “ผมขอพูดในนามสัตว์ป่า”
4. ภาพลักษณ์ข้าราชการน้ำดีของกรมป่าไม้ ที่นำไปสู่การรู้จักบุคคลที่สามารถประกาศตัวเองว่าเป็น “นักอนุรักษ์” สถาปนา “การอนุรักษ์ธรรมชาติ” ขึ้นอย่างเด่นชัดในสังคมไทย หลังสิ้นเสียงกระสุนนัดนั้นเมื่อ 28 ปีก่อน
เรื่องราวของ สืบ นาคะเสถียร เกิดขึ้นอย่างพอเหมาะพอดีกับโลกที่เริ่มสำนึกรู้ว่ามนุษย์ทำลายความสัมพันธ์ของชีวิตและธรรมชาติไปอย่างเกินเลย
ในต้นทศวรรษที่ 30 ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เปิดเผยมากมายว่าเผ่าพันธุ์ของเราทำลายป่า และล่าสัตว์ป่า ทำการประมงเกินขนาด พัฒนาอุตสาหกรรมและพลังงานสร้างมลภาวะ และปล่อยแก๊สเรือนกระจกมากมาย นี่เป็นความรู้ที่เริ่มตระหนักในความจริงที่ปรากฏชัดในช่วงนั้น
ความตายของ สืบ นาคะเสถียร คล้ายเป็นบทสรุปของสังคมไทยมีผู้ประกาศที่จะ “สืบทอดเจตนา” มากมาย และก่อเกิดเป็นขบวนการสิ่งแวดล้อมร่วมสมัยที่แผ่ขยายกว้างขวาง และมีการเรียนรู้ ถอดบทเรียนบนความตายของหัวหน้ารักษาพงไพรจังหวัดอุทัยคนนั้นอย่างกว้างขวาง
อ่านออนไลน์ วารสารสาส์นสืบ ฉบับ 28 ปีที่โลกเปลี่ยนไป หรือดาวน์โหลด