ถ้า 30 ปีที่แล้วโครงการเขื่อนน้ำโจนได้รับความเห็นชอบโดยปราศจากเสียงคัดค้าน ลำนำที่ปรากฎอยู่ในภาพถ่ายนี้จะกลายสภาพเป็นทะเลสาบขนาดใหญ่ ต้นไม้ใหญ่หลากหลายชนิดจะล้มหาย สัตว์ป่าจะถูกแบ่งแยกออกจากกันไม่สามารถหากินและโยกย้ายถิ่นฐานได้ตามฤดูกาลปกติ รวมถึงการสูญเสียความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติที่มนุษย์มิอาจสร้างขึ้นมาได้อีก
นับโชคดีที่บรรดา ‘ไอ้พวกนักอนุรักษ์’ จากหลายภาคส่วนในเวลานั้นสามารถ ‘หยุด’ โครงการเขื่อนน้ำโจนไว้ได้สำเร็จ
หากเท้าความถึงโครงการเขื่อนน้ำโจนคงต้องย้อนกลับไปในปี 2508 ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ทำการศึกษาเพื่อพัฒนาลุ่มน้ำแควใหญ่ จนเกิดเป็นโครงการไฟฟ้าพลังงานน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนท่าทุ่งนา และเขื่อนน้ำโจนหรือเขื่อนแควใหญ่ตอนบน โดยเขื่อนศรีนครินทร์และเขื่อนท่าทุ่งนาได้สร้างเสร็จไปก่อนในปี 2521 และ 2524 ตามลำดับ ส่วนเขื่อนน้ำโจนได้รับการพิจารณาเห็นชอบในหลักการจากสำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) และถูกบรรจุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 5 พ.ศ. 2525
เขื่อนน้ำโจนเป็นเขื่อนแบบหินทิ้งแกนดินเหนียว สูง 187 ม. สันเขื่อนยาว 430 ม. มีพื้นที่อ่างเก็บน้ำประมาณ 142 ตร.กม. สามารถกักเก็บน้ำได้ 5,950 ล้านลูกบาศก์เมตร และเก็บกักได้สูงสุด 370 ม. (รทก.) ที่ตั้งเขื่อนจะสร้างอยู่ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 7 ปีตั้งแต่ พ.ศ. 2526 – 2532 มีค่าใช้จ่ายในการลงทุนโครงการรวม 12,592 ล้านบาท
กฟผ. ชี้แจงว่าเขื่อนน้ำโจนนั้นเป็นจะเขื่อนอเนกประสงค์ สามารถให้ประโยชน์ได้หลายด้าน เช่น ด้านการเกษตร บรรเทาอุทกภัยและภัยแล้ง บรรเทาภาวะน้ำเสียและน้ำเค็มบุกรุก ส่งเสริมการประมง อีกทั้งยังช่วยให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงาน
แต่หลังจากที่โครงการเขื่อนน้ำโจนถูกบรรจุเข้าในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ.2525 ก็เริ่มมีเสียงคัดค้านดังขึ้นจากกลุ่มคนหลายฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการ มีข้อมูลแย้งถึงคุณประโยชน์ที่ถูกกล่าวอ้างออกมาหลายเรื่อง สาธารณชนเริ่มให้ความสนใจ จนรัฐบาลต้องชะลอโครงการออกไปและตั้งคณะทำงานศึกษาข้อมูลขึ้นมาใหม่
เหตุผลที่ถูกยกขึ้นมาแย้งนั้นมีหลายประเด็น เช่น คุณไพโรจน์ สุวรรณกร ผู้อำนวยการกองอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมป่าไม้ อธิบายว่า “การสร้างเขื่อนจะนำมาซึ่งความเสียหายแก่พื้นที่ป่าดงดิบและป่าเบญจพรรณ ก่อให้เกิดการลักลอบตัดไม้ตามมาอีกจำนวนมาก” หรือในประเด็นที่คณะกรรมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อม (คอทส.) ได้ทำหนังสือชี้แจงต่อรัฐบาลว่า “กฟผ.สำรวจโครงการไม่ทั่วถึง ไม่เพียงพอ และให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนไม่ตรงกับความเป็นจริง ทั้งข้อมูลปริมาณน้ำฝน ปัญหาดินเค็ม พื้นที่ที่ต้องสูญเสีย” ฯลฯ
ก่อนที่ต่อมาจะเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ขึ้นในวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2526 วัดระดับได้ 5.8 ริกเตอร์ ซึ่งเป็นแผ่นดินไหวที่มีความรุนแรงอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศไทย ศูนย์กลางของแผ่นดินไหวครั้งนั้นอยู่ที่อำเภอศรีสวัสดิ์ (เป็นแนวแผ่นดินไหวจากพรมแดนไทย-พม่าเข้ามาทางตะวันตกของประเทศจนถึงจังหวัดกาญจนบุรี) และนับตั้งแต่ 25 เมษายน – 19 มิถุนายน พ.ศ. 2526 ได้เกิดแผ่นดินไหวต่อเนื่องในบริเวณเดิมและพื้นที่ใกล้เคียงขึ้นถึง 121 ครั้ง จากเหตุการณ์นั้นได้กลายเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ถูกหยิบยกมาใช้ในการคัดค้านเขื่อนน้ำโจน โดยเฉพาะจากภาคประชาชนในจังหวัดกาญจนบุรีที่กังวลถึงความปลอดภัยจากผลกระทบอันเชื่อมโยงกันของเขื่อนกับแผ่นดินไหว
ถึงแม้จะมีหลากเหตุผลจากหลายกลุ่มคนที่ออกตัวคัดค้านโครงการจนเป็นข่าวใหญ่โต แต่รัฐบาลในเวลานั้นก็ยังคงยืนยันที่จะสร้างเขื่อนน้ำโจนให้สำเร็จ จนในที่สุดโครงการเขื่อนน้ำโจนได้ถูก ‘ปลุก’ ขึ้นมาอีกครั้งในช่วงต้นปี 2529 เปิดฉากการต่อสู้ลากยาวข้ามปีไปจนถึง พ.ศ. 2531