ข้อพิจารณาพื้นฐาน ทางเลือกในการจัดการน้ำ กรณีไม่ต้องสร้างเขื่อนในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์
การสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศที่เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ที่เชื่อมโยงถึงระบบนิเวศ และการกระจายของถิ่นที่อยู่ของสัตว์ป่าในป่าตะวันตก ที่ผ่านการอนุรักษ์ และฟื้นฟูประชากรสัตว์ป่าจนประสบความสำเร็จมาตลอดระยะกว่า 20 ปี
โครงการสร้างเขื่อนแม่วงก์ สามารถบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ราบลุ่มของลำน้ำแม่วงก์ได้เพียงบางส่วน เนื่องจากยังมีสายน้ำหลากในช่วงผนตกหนัก ในพื้นที่ลาดชันและไม่มีป่า และพืชคลุมดินมากพอ ที่อยู่นอกเหนือจากพื้นที่รับน้ำที่เขื่อนแม่วงก์จะรองรับ รวมถึงการขาดระบบระบายน้ำ ที่มีประสิทธิภาพมากพอในเขตเทศบาลเมือง และพื้นที่เกษตรกรรม และสาเหตุดังกล่าวน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้พื้นที่ลุ่มต่ำด้านท้ายโครงการเขื่อนแม่วงก์ เกิดปัญหาน้ำท่วม ไม่ใช่จากการที่ไม่มีเขื่อนในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์
โครงการสร้างเขื่อนแม่วงก์ คาดว่าจะบรรเทาภัยแล้งได้พอสมควร ในพื้นที่ราวๆ หนึ่งในสามของพื้นที่ชลประทาน ที่กำหนดไว้ 116,545 ไร่ ในช่วงฤดูแล้ง จากพื้นที่กำหนดไว้ทั้งหมดถึง 291,900 ไร่ ซึ่งเป็ชลประทานในช่วงฤดูฝน ที่ไม่ขาดแคลนน้ำ แต่หากต้องการลดภัยแล้งให้ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดน่าจะมีปริมาณน้ำไม่เพียงพอ นอกจากนี้ การคาดการที่จะเก็บน้ำในฤดูฝน อาจจะคลาดเคลื่อนจากความเสี่ยงของความเป็นเขตเงาฝนในพื้นที่เหนือเขื่อน ที่มีแนวโน้มฝนตกน้อยกว่าในจุดที่ตรวจวัดปริมาณน้ำฝน และขนาดของอ่างเก็บน้ำ ที่เมื่อพิจารณาจากเส้นชั้นความสูงตามแผนที่ภูมิประเทศ จะมีพื้นที่เก็บกักน้ำเพียงครึ่งเดียวของพื้นที่อ่างเก็บน้ำตามโครงการ ดังนั้น การสร้างเขื่อนแม่วงก์จึงมีความเสี่ยงที่จะเก็บน้ำได้น้อย และบรรเทาภัยแล้งได้ต่ำกว่าที่คาดไว้