สาส์นสืบ – คัดค้านพ.ร.บ.เปิดป่าค้าสัตว์

สาส์นสืบ – คัดค้านพ.ร.บ.เปิดป่าค้าสัตว์

หากมีมาตรา 38 ตามร่างพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. …. แล้วจะเกิดอะไรขึ้น ?

มาตรา 38 ภายในเขตบริการ อธิบดีมีอำนาจอนุญาตและทำข้อตกลงผูกพันให้บุคคลใดเข้าไปทำการก่อสร้าง สิ่งปลูกสร้างใดๆ เพื่อดำเนินกิจการหรือให้บริการท่องเที่ยว หรือการอำนวยความสะดวก ความปลอดภัย การทัศนาจรให้แก่ประชาชนได้ คราวละไม่เกินสามสิบปี โดยให้คำนึงถึง ผลกระทบต่อสภาพธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศให้ เสียหายน้อยที่สุดเป็นสำคัญและพิจารณาผลตอบแทนที่ประชาชนและประเทศโดยรวมจะได้รับ ทั้งนี้ก่อนการอนุญาตหรือการทำความตกลงผูกพัน ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรี

หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการอนุญาตและการทำข้อตกลงตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามระเบียบที่อธิบดีกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ

 

 

ข้อคิดเห็น มาตรานี้เป็นมาตราที่น่าเป็นห่วงและน่ากังวลมากที่สุด เนื่องจากในตัวกฎหมายไม่ได้มีการระบุว่าภายในหนึ่งอุทยานแห่งชาตินั้นสามารถกำหนดพื้นที่เขตบริการได้มากน้อยแค่ไหนและจำนวนเท่าไหร่ พื้นที่ที่จะให้เอกชนเข้าตกลงผูกพันการเช่าภายในเขตบริการมีเนื้อที่จำนวนมากน้อยแค่ไหนอย่างไร รวมทั้งไม่ได้บอกว่าในหนึ่งอุทยานแห่งชาติสามารถให้เอกชนเข้าทำประโยชน์ได้กี่รายและจำนวนเท่าไหร่ เพราะถ้ายิ่งคนเข้าไปมากก็จะทำให้ธรรมชาติในพื้นที่ที่ได้รับสัมปทานมีความเสียหายมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้กำหนดระยะเวลาการเช่าที่ระบุไว้ว่าสามารถให้ทำการเช่าได้ไม่เกิน 30 ปี แล้วยุติการเช่าไปเลย หรือยังสามารถให้ต่อสัญญาเช่าการเข้าทำประโยชน์ได้ ซึ่งรายละเอียดตรงนี้ร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวไม่ได้มีการระบุไว้ ความคลุมเครือในตัวบทกฎหมายนี้เองที่ทำให้อาจตีความไปได้ในหลายแง่มุมว่าถ้ามีการเปิดพื้นที่ให้เอกชนสามารถเข้าทประโยชน์และปลูกสร้างสิ่งก่อสร้างเพื่อการท่องเที่ยวได้จริง จะเกิดความเสียหายอะไรตามมาบ้าง

ด้วยเหตุผลที่ทางผู้ร่างกฎหมายระบุว่า เนื่องด้วยอุทยานแห่งชาติของประเทศไทย ไม่มีที่พักในลักษณะเป็นที่เชิดหน้าชูตาของประเทศได้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนจากภายนอกมาทำสัมปทานสิ่งก่อสร้างอำนวยความสะดวกในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ การให้เหตุผลเช่นนี้ไม่สมเหตุสมผลเท่าไหร่นัก เนื่องจากการเข้าไปศึกษาท่องเที่ยวตามธรรมชาติ โดยปกติควรจะมีที่พักและสิ่งอำนวยความสะดวกแค่เพียงพอประมาณและมีการจำกัด

จำนวนนักท่องเที่ยวที่พอดี ตามขีดความสามารถในการรองรับของธรรมชาติในพื้นที่นั้นๆ ในความเป็นจริงแล้วบ้านพักในอุทยานแห่งชาติหลายๆแห่ง มีการสร้างไว้อย่างใหญ่โตและดูดีเพียงแต่ขาดการจัดการ ขาดการดูแล ทำให้บ้านพักหลายแห่งไม่น่าเข้าไปพักอาศัย เพราะฉะนั้นสิ่งที่ควรแก้ไขคือการจัดการบ้านพักให้เรียบร้อยและสะอาด เชื่อได้ว่ากรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีความสามารถที่จะจัดการให้ดีและมีประสิทธิภาพจากของเดิมที่มีอยู่แล้วได้ ดีกว่ามาสร้างสิ่งใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่เหลียวแลจัดการสิ่งเก่าให้เรียบร้อยและให้เกิดประโยชน์สูงสุด