ดูรายงานสถานการณ์ป่าไม้
ในรูปแบบอินโฟกราฟิก
ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะการผลักดันให้มีสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนในทุกจังหวัดของประเทศไทย ด้วยการประกาศนโยบายป่าไม้แห่งชาติเพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ทั้งป่าเพื่อการอนุรักษ์และเพื่อเศรษฐกิจไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศไทย เพื่อให้ครบตามที่กำหนดไว้ จึงจำเป็นต้องมีข้อมูลทรัพยากรป่าไม้ที่เป็นปัจจุบันและต่อเนื่องทุกปี เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการจัดการพื้นที่ป่าไม้ร้อยละ 40 อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือในการกำหนดยุทธศาสตร์และเป้าหมายในการจัดการทรัพยากรป่าไม้ การประเมินผลและการติดตามการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ และนโยบายการแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งในเรื่องที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย หรือการใช้ประโยชน์อื่น ๆ
ปัจจุบันพื้นที่ป่าไม้ทั่วประเทศในปี พ.ศ. 2561 – 2562 จำนวน 102,484,072.71ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 31.68 ของประเทศ ซึ่งลดลงจากปี พ.ศ. 2560 – 2561 จำนวน 4,229.48 ไร่
หมายเหตุ:
- ปี 2541-2543 เปลี่ยนมาตราส่วนและเครื่องมือในการวิเคราะห์จาก 1:250,000 เป็น 1:50,000
- ปี 2560-ปัจจุบัน เปลี่ยนชุดข้อมูลดาวเทียมเป็น Sentinel-2 ที่มีความละเอียดเพิ่มขึ้นเป็น 10 เมตร
- ข้อมูลสภาพพื้นที่ป่าไม้ของประเทศไทย ปี พ.ศ. 2561-2562
หากพูดถึงนโยบายป่าไม้แห่งชาติที่กำหนดให้มีพื้นที่ป่าไม้ 40% ของพื้นที่ประเทศไทย ที่ออกเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 25% และพื้นที่ป่าเศรษฐกิจและป่าชุมชน 15% โดยพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 25% หรือ 81 ล้านไร่ ส่วนที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดูแล ปัจจุบันมีพื้นที่รับผิดชอบอยู่ประมาณ 73 ล้านไร่ (22.6 %) ของพื้นที่ประเทศ และส่วนที่ยังขาดอีก 7.75 ล้านไร่ (2.4%) อยู่ในกระบวนการรับมอบพื้นที่จากกรมป่าไม้ที่มีอยู่ประมาณ 7.7 ล้านไร่ ซึ่งจะได้ครบตามเป้า 25% ของพื้นที่ประเทศภายในปี 2569 ส่วนป่าเศรษฐกิจและป่าชุมชน 15% หรือ 48 ล้านไร่ : (กำลังจัดทำข้อมูล) อยู่ในความรับผิดชอบของกรมป่าไม้
ทั้งนี้การที่จะรักษาพื้นป่าไทยให้ได้ครบตามเป้าหมาย 40% อาจจะต้องมุ่งไปที่ป่าเศรษฐกิจและป่าชุมชนโดยการปลดล็อกกฎหมายเพื่อให้คนหันมาสนใจในการปลูกป่าเศรษฐกิจมากขึ้นในพื้นที่ของตนหรือพื้นที่ที่ได้รับอนุญาต หากสถานการณ์ป่าไม้ไทยลดลงไปกว่านี้ก็คงถูกทำลายโดยนโยบายของรัฐ เช่น การเพิ่มพื้นที่เขื่อน การตัดถนนผ่านป่า เป็นต้น
นโยบายป่าไม้แห่งชาติ : ความหวังแห่งอนาคตของป่าไม้เมืองไทย
หากย้อนไปดูสถานการณ์ป่าไม้ของประเทศไทยในช่วงมากกว่า 30 ปีที่ผ่านมา คงปฏิเสธไม่ได้ว่า พื้นที่ป่าของประเทศอยู่ในสถานการณ์วิกฤตและมีพื้นที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงโครงการต่าง ๆ ที่คุกคามผืนป่าและสัตว์ป่าก็ปรากฎตามสื่อต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง โดยรัฐบาลเองได้พยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าวมาโดยตลอด จนกระทั่งในวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2528 ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติ เพื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบายว่าด้วยการป่าไม้ของชาติและกำหนดแนวทางการจัดการป่าไม้ในระยะยาว ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2528 โดยเป็นกรอบแนวทางการบริหารทรัพยากรป่าไม้ของประเทศมาจวบจนปัจจุบัน ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญที่ทราบกันดีในการกำหนดให้มีพื้นที่ป่าไม้ ทั้งป่าอนุรักษ์และป่าเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า ร้อยละ 40 ของประเทศ
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติชุดแรก ได้ถูกยกเลิกไปโดยเหตุผล เพื่อให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ที่มีความสอดคลองกับยุทธศาสตร์ด้านทรัพยากรธรรมชาติของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในขณะนั้น โดยควรมีองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ครอบคลุมทรัพยากรอื่น ๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็น ดิน หิน แร่ ป่าไม้ และชายฝั่ง อย่างไรก็ตามช่วงเวลาที่ผ่านมาก็ไม่สามารถดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการดำเนินงานตามกรอบที่วางไว้ได้
จนกระทั่งวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 ได้กำหนดให้มี ‘คณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติ พ.ศ. 2560’ เพื่อดำเนินการจัดทำนโยบายป่าไม้แห่งชาติและแผนแม่บทเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งมีกรอบการจัดทำตามหลักวิชาการและหลักการกำหนดนโยบาย อันได้แก่ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และความมั่นคง โดยมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำร่างนโยบายป่าไม้แห่งชาติและร่างแผนแม่บทพัฒนาป่าไม้แห่งชาติ เพื่อจัดทำร่างดังกล่าวให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
เป็นเวลากว่า 30 ปีในความพยายามสร้างกรอบแนวทางการบริหารทรัพยากรป่าไม้ให้เป็นไปอย่างสมดุลและเป็นเอกภาพ ที่เรียกว่า ‘นโยบายป่าไม้’ เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2562 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติเห็นชอบนโยบายป่าไม้แห่งชาติ อันประกอบด้วยเนื้อหาครอบคลุม 3 ด้านหลัก ๆ
1) ด้านการจัดการป่าไม้ มีเนื้อหา 13 ข้อ โดยเน้นในเรื่องการบริหารจัดการป่าไม้ สัตว์ป่า และที่ดินของรัฐอย่างเป็นระบบและเป็นธรรม เพื่อตอบโจทย์เป้าหมายที่กำหนดให้มีพื้นที่ป่าไม่น้อยกว่า ร้อยละ 40 ของประเทศ แบ่งเป็นป่าอนุรักษ์ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 25, ป่าเศรษฐกิจและป่าชุมชน รวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 ของประเทศ
2) ด้านการใช้ประโยชน์ผลิตผลและการบริการจากป่าไม้และอุตสาหกรรมป่าไม้ มีเนื้อหา 4 ข้อ เกี่ยวข้องในเรื่องของการส่งเสริมด้านไม้เศรษฐกิจแบบครบวงจร ตั้งแต่กระบวนการปลูก การรับรอง และซื้อ-ขาย และใช้ประโยชน์บริการทางนิเวศอย่างสมดุลและยั่งยืน
3) ด้านการพัฒนาระบบบริหารและองค์กรเกี่ยวกับการป่าไม้ จำนวน 7 ข้อ มีเนื้อหาเน้นไปในระดับนโยบายและการบริการงานขององค์กรป่าไม้ การพัฒนาโครงสร้าง ศักยภาพของหน่วยงาน ธรรมาภิบาล ปรับปรุงและพัฒนากฎหมายเกี่ยวกับป่าไม้ให้สอดคล้องกับบริบทและสถานการณ์ปัจจุบัน
ดังนั้น กระบวนการสำคัญต่อจากนี้ คือ การจัดทำแผนแม่บทพัฒนาการป่าไม้แห่งชาติ ซึ่งอยู่ในระหว่างการร่างแผนและการรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องและนักวิชาการ โดยแผนแม่บทนี้จะเปรียบเสมือนเป็นกลไกหรือเครื่องมือที่จะแปลงนโยบายป่าไม้แห่งชาติสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ที่มีถ่ายทอดเนื้อหาที่ถูกกำหนดในนโยบายป่าไม้แห่งชาติออกมาเป็นแผนระดับหน่วยงาน และมีการทบทวนทุก ๆ 3 ปี ตามความเหมาะสมของสถานการณ์ทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ
การแก้ปัญหาการถือครองที่ดินในป่าอนุรักษ์ ในมุมมองของเลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร
“ปัญหาป่าทับที่คน คนทับที่ป่า คาราคาซังมากกว่า 60 ปี ทั้งชุมชนที่เคยอาศัยอยู่เดิมแล้วมีอุทยานแห่งชาติหรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าประกาศทับ หรือบางส่วนชุมชนมีการขยายพื้นที่เพิ่มหรือบุกรุกป่าอนุรักษ์เพิ่มเข้ามาในภายหลัง ถึงแม้จะมีความพยายามในการแก้ไขปัญหานี้มาหลายต่อหลายครั้ง แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ เช่น มติครม. 30 มิ.ย. 2541 ที่ดำเนินการไม่แล้วเสร็จ มีที่มาแต่ไม่มีที่ไป ”
แต่ปัญหานี้กำลังได้รับการคลี่คลาย เนื่องจากมีการออกพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ซึ่งถือเป็นกฎหมายสองฉบับแรก* ที่ยอมรับการมีอยู่ของคนในป่า
เงื่อนไขของผู้ที่จะได้รับการสำรวจถือครองในเบื้องต้นต้องไม่มีที่ดินทำกินและได้อยู่อาศัยหรือทำกินในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่าฯ ที่มีการประกาศกำหนดมาก่อนวันที่พระราชบัญญัติทั้ง 2 ใช้บังคับ ภายใต้กรอบเวลาตามมติครม. 30 มิ.ย. 2541 หรือตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 66/2557 และจะไม่ได้สิทธิในการครอบครอง แต่ได้สิทธิในการใช้ประโยชน์เพื่อการดำรงชีพอย่างเป็นปกติธุระ ซึ่งกลไกการสำรวจตามกฎหมายใหม่นี้ มีการกำหนดระยะเวลาที่จะต้องดำเนินการสำรวจเบื้องต้นให้แล้วเสร็จภายใน 240 วัน ตามกฎหมาย (เป็นบทการเร่งรัดการทำงานของเจ้าหน้าที่ ไม่ได้เป็นการตัดหรือจำกัดสิทธิของประชาชนในกรณีที่เกิดการสำรวจตกหล่น) และถือเป็นกุญแจสำคัญที่บังคับเจ้าหน้าที่ต้องทำให้เสร็จภายในระยะเวลา เพราะหากไม่เสร็จถือว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ที่อยู่ในป่าอนุรักษ์หรือมีที่ดินทำกินในป่าอนุรักษ์ต้องตกขบวนรถไฟนี้อย่างแน่นอน ไม่ได้รับการรับรองการอยู่และทำกินตามกฎหมาย และปัญหาคนอยู่ในป่าคงไม่มีวันจบสิ้น
มีการสำรวจเสร็จในเบื้องต้นตามกรอบระยะเวลากฎหมายกำหนด จากข้อมูล ณ วันที่ 21 ก.ค. 2563 พบว่า ในพื้นที่ 227 ป่าอนุรักษ์ (อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า) ไม่มีชุมชนอยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 1 แห่ง ส่วนอีก 226 ป่าอนุรักษ์ มีจำนวนหมู่บ้านทั้งหมด 4,192 หมู่บ้าน เนื้อที่ประมาณ 4,295,501.24 ไร่ โดยแบ่งเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติ 126 แห่ง มีจำนวน 2,745 หมู่บ้าน เนื้อที่ 2,550,044.18 ไร่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 60 แห่ง 1,003 หมู่บ้าน 1,471,908.37 ไร่ เขตห้ามล่าสัตว์ป่า 40 แห่ง 444 หมู่บ้าน 273,548.69 ไร่ นี่ถือเป็นตัวเลขสำรวจที่สมบูรณ์ ครบถ้วน และเป็นปัจจุบันที่สุด ตั้งแต่ที่มีหน่วยงานรัฐได้ดำเนินการสำรวจมา มีการใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีที่มีความแม่นยำและมีการเดินรังวัดที่ดินอย่างละเอียด นอกจากนี้ยังมีขั้นตอนการรับรองของชุมชนโดยเฉพาะจากผู้ที่ใช้ประโยชน์ในแปลงข้างเคียง เพื่อเป็นการทวนสอบข้อมูลที่สำรวจได้อีกทางหนึ่งด้วย
เรื่องที่ต้องทำต่อหลังสำรวจ 240 วันเสร็จแล้ว มีอะไรบ้าง ?
การสำรวจ 240 วันที่ผ่านมา เหมือนการตรึงพื้นที่ ณ วันที่สำรวจเสร็จแล้วให้อยู่ ถ้าขยายหรือบุกรุกเพิ่มเติมหลังจากนี้คือจับกุมดำเนินคดีอย่างเดียว ซึ่งเป็นการบริหารจัดการเชิงพื้นที่เป็นการสำรวจข้อมูลถือครองและใช้ประโยชน์ของประชาชนเท่านั้น สำหรับขั้นตอนการพิจารณาให้สิทธิแก่ประชาชนในการใช้ประโยชน์นั้น กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กำลังเร่งออกกฎหมายลำดับรอง ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นและกำลังปรับแก้เนื้อหาให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละพื้นที่ให้มากที่สุด เนื้อหาในกฎหมายลำดับรองจะระบุหลักเกณฑ์ในการพิจารณาอย่างละเอียด รวมถึงมีระเบียบ กติกาการอยู่อาศัยและทำประโยชน์ในพื้นที่เขตบริหารจัดการเพื่อการอนุรักษ์ให้สอดคล้องกับวิถีของชุมชน โดยชุมชนมีส่วนร่วมในการออกแบบร่วมกับหัวหน้าพื้นที่อนุรักษ์และเสนอเป็นโครงการตามกฎหมายลำดับรอง ว่าชุมชนจะอยู่ในพื้นที่อย่างยั่งยืนได้อย่างไร และบุคคลที่ผ่านหลักเกณฑ์ตามกฎหมายมีหน้าที่ต้องดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพอย่างไรบ้าง เพื่อให้คนอยู่ได้ ป่าอยู่ได้ และสัตว์ป่าอยู่ได้
*หมายเหตุ ร่วมเป็นคณะทำงานเฉพาะกิจขับเคลื่อนนโยบายการแก้ปัญหาการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ของ สำนักบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี คณะทำงานชุดนี้ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาและติดตาม ผลักดันกระบวนการ 240 วัน และกระบวนการในขั้นตอนต่อไปให้สัมฤทธิ์ผล มีการลงไปแลกเปลี่ยนพูดคุย รับฟังปัญหาจากประชาชนรวมถึงเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ พยายามสร้างความเข้าใจให้เกิดข้อตกลงร่วมและเอาปัญหาที่พบเจอระหว่างสำรวจ รวบรวมข้อมูล สรุป เสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อช่วยพิจารณาในการแก้ไขปัญหาให้การแก้ไขปัญหาคนอยู่กับป่า
ดูรายงานสถานการณ์ป่าไม้
ในรูปแบบอินโฟกราฟิก