มูลนิธิสืบฯ ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ เดินหน้าสำนักงานประหยัดพลังงาน

มูลนิธิสืบฯ ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ เดินหน้าสำนักงานประหยัดพลังงาน

เมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้ดำเนินการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ เพื่อลดใช้พลังงานในสำนักงาน แล้วเสร็จไปเมื่อกลางเดือนเมษายน และได้เริ่มทดลองใช้งานแล้วตั้งแต่เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

มูลนิธิสืบฯ ได้ว่าจ้างบริษัทที่ทำการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์มาดำเนินการ และได้รับคำแนะนำของผู้มีความรู้ด้านการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ และได้ทำการขออนุญาตการไฟฟ้าอย่างถูกต้อง

สำหรับการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์นี้มูลนิธิฯ ได้ติดตั้งในระบบออนกริด (On Grid) ใช้ควบคู่ไปกับระบบไฟฟ้าเดิมจากการไฟฟ้า กล่าวคือ ระบบออนกริดเป็นระบบไฟที่ผลิตได้จากแผงโซลาร์เซลล์ แล้วแปลงไฟโดยอินเวอร์เตอร์ สามารถต่อไฟร่วมกับระบบไฟจากการไฟฟ้าได้ ไม่ต้องทำระบบสลับไฟ สามารถใช้กับอุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิดโดยไม่ใช้แบตเตอรี่

โดยอินเวอร์เตอร์แบบออนกริด จะทำงานเมื่อ มีไฟจากแผงโซลาร์เซลล์ และมีไฟจากการไฟฟ้าเท่านั้น ในช่วงค่ำโวลท์ของแผงโซลาร์จะค่อยๆ ลดลงตามแสงที่ได้รับ เมื่อต่ำถึงเกณฑ์ที่กำหนด อินเวอร์เตอร์จะปิดตัวลงอัตโนมัติ เมื่อมีแสงสว่าง โวลท์ของแผงโซลาร์จะค่อยๆ สูงขึ้น ทำให้อินเวอร์เตอร์กลับมาทำงานอีกครั้ง

 

 

ศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร อธิบายถึงแนวคิดการนำพลังงานทดแทนมาใช้ในองค์กรว่า การติดตั้งแผงโซลลาร์เซลล์เป็นส่วนหนึ่งในแผนงานของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เรื่องการจัดการภายใน ที่ต้องการให้สำนักงานเป็นพื้นที่กรีนออฟฟิศ ขณะเดียวกันก็เพื่อเป็นการเรียนรู้เรื่องการใช้พลังงานทดแทนแก่ตัวองค์กร

“แม้ว่าเราจะไม่ได้เป็นองค์กรสิ่งแวดล้อมที่ทำงานด้านพลังงานโดยตรง แต่โซลาร์เซลล์หรือเรื่องการลดใช้พลังงานกำลังเป็นเทรนด์ของโลก เราจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจกับเรื่องตรงนี้ว่าสามารถทำได้จริงไหม หรือลดค่าใช้จ่ายได้จริงไหม เพราะการจะเปลี่ยนโลกหรือดูแลสิ่งแวดล้อมโลกในปัจจุบันคงไม่ใช่เรื่องการไปปลูกป่าเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมองถึงเรื่องการลดใช้พลังงานอย่างโซลาร์เซลล์ควบคู่ไป”

ประธานมูลนิธิสืบฯ ให้ความเห็นต่อว่า ปัญหาใหญ่ในปัจจุบันของการใช้พลังงานทดแทนคือ ยังขาดวิศวกรที่ทำงานด้านนี้โดยเฉพาะ เช่น มีหลายคนเห็นด้วยเรื่องนี้ อยากจะทำ แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร ถ้าหากองค์กรเรียนรู้เรื่องราวตรงนี้จนเข้าใจ ก็อาจสามารถแนะแนวแก่ผู้ที่สนใจได้ โดยใช้สำนักงานเป็นที่ศึกษาดูงาน ที่จัดอบรม  เชิญวิทยากรที่มีความรู้มาอธิบาย หรือในอนาคตอาจมีกิจกรรมร่วมกับเครือข่ายอาสาสมัครต่างๆ หรือกับชมรมอนุรักษ์ของเทคนิคต่างๆ ในกรุงเทพฯ ที่มีความสนใจด้านการอนุรักษ์

“ที่ผ่านมามีนักศึกษาหลายสถาบันที่มีความสนใจอยากทำงานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกับมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เช่น นักเรียนช่างจากเทคนิคเทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งมีความรู้เกี่ยวกับระบบไฟเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว แต่ไม่รู้จะทำงานอนุรักษ์อะไรในพื้นที่ตัวเมือง ในอนาคตหากเรามีความรู้เรื่องนี้มากขึ้น ก็อาจจะใช้พื้นที่สำนักงานมูลนิธิสืบฯ เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ดูงานให้กับนักศึกษาหรือชมรมอนุรักษ์ เพื่อให้เขาได้มีความรู้ด้านการอนุรักษ์นำไปใช้กับวิชาชีพที่ศึกษามา”

 

 

ร่วมรักษาป่าใหญ่กับมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ผ่านแอพพลิเคชั่น SCB EASY

 


เรียบเรียง ฝ่ายสื่อสารองค์กรมูลนิธิสืบนาคะเสถียร