การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด-19 ถือเป็นเรื่องที่สร้างความวิตกให้กับนานาประเทศ โดยเมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2563 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้มีการประกาศให้ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019-nCoV เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระดับโลก
นับตั้งแต่ช่วงต้นของการแพร่ระบาด องค์การอนามัยโลกได้เปิดเผยว่า พบผู้ป่วยกลุ่มแรกที่เมืองอู่ฮั่น มลฑลฮูเป่ย สาธารณรัฐประชาชนจีน กลุ่มผู้ป่วยดังกล่าว เป็นผู้คนที่มีความสัมพันธ์กับ ‘ตลาดฮู่หนาน’ ซึ่งเป็นแหล่งรวมการจัดจำหน่ายสัตว์ชนิดต่าง ๆ เพื่อนำไปประกอบอาหาร จากข้อมูลข้างต้นจึงเกิดสมมติฐานขึ้นมาว่า ‘เปิบพิสดาร’ อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มนุษย์ติดเชื้อโรคโควิด-19
ย้อนกลับไปช่วงปี ค.ศ. 2002-2003 โรคซาร์ (severe acute respiratory syndrome, SARS) อันมีสาเหตุมาจากไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ SARS-CoV เริ่มระบาดจากสาธารณรัฐประชาชนจีนและกระจายไปทั่วโลก ก่อนจะพบในภายหลังว่า เป็นไวรัสโคโรน่าที่ติดต่อข้ามสปีชีส์จากค้างคาวผ่านชะมดอีเห็น มาติดเชื้อในคน ขณะนั้นมีผู้ติดเชื้อกว่า 8,000 คน และมีอัตราผู้ป่วยเสียชีวิต 10 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งในทางวิชาการเชื่อว่าการแพร่ระบาดของโรคซาร์สเกิดจากการบริโภคเนื้อสัตว์ป่า
ต่อมาในปี ค.ศ. 2012-2014 ได้มีการระบาดของโรคเมอร์ส ซึ่งเป็นไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ชื่อ Middle East respiratory syndrome coronavirus (MERS-CoV) ที่เชื่อว่าเป็นไวรัสโคโรน่าข้ามสปีชีส์จากค้างคาวผ่านอูฐมาติดเชื้อในคน เริ่มจากผู้ป่วยในประเทศซาอุดิอาระเบีย มีผู้ติดเชื้อแล้วรวม 1,733 คน อัตราผู้ป่วยเสียชีวิตอยู่ที่ 36 เปอร์เซ็นต์
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2563 ได้มีการพูดถึงโรคโควิด-19 ในสกู๊ปหน้าหนึ่งว่า การแพร่ระบาดโคโรน่าไวรัส ถูกมองถึงสาเหตุมาจากการสัมผัสในเรื่องบริโภคสัตว์ป่า เมนูแปลก ถือว่าเป็นภัยคุกคามหลากหลาย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้ให้ข้อมูลกับหนังสือพิมพ์ไทยรัฐว่า ไวรัสโคโรน่า มีอยู่หลายชนิดที่พบได้ในสัตว์ต่าง ๆ แต่สัตว์ที่ได้รับการศึกษาว่ามีเชื้อไวรัสชนิดนี้สะสมมาก คือ ‘ค้างคาว’
ไวรัสโคโรน่าที่ติดต่อมาถึงคนถูกค้นพบมาก่อนหน้านี้แล้ว 6 ชนิด สิ่งที่ค้นพบคือ ที่มาของเชื้อไวรัสโคโรน่า มักมีต้นกำเนิดของการแพร่ระบาดจาก ‘สัตว์’ สู่ ‘คน’ โดยอาจเกิดขึ้นจากหลายเหตุผล ซึ่งหนึ่งในข้อสันนิษฐานการติดเชื้อของมนุษย์เกิดขึ้นจาก พฤติกรรมการบริโภค ‘สัตว์ป่า’ หรือ ‘สัตว์แปลก’
นายสัตวแพทย์ไพศิลป์ เล็กเจริญ นักระบาดวิทยาด้านสัตว์ป่า ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาด้านระบาดวิทยาโรคสัตว์ป่า ภาควิชาสัตวแพทยสาธารณสุข คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้อธิบายว่า การรับประทานสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เลี้ยงหรือสัตว์ป่า หากสัตว์ป่วยหรือมีเชื้ออยู่ภายใน ความเสี่ยงที่มนุษย์จะได้รับเชื้อมีค่อนข้างสูง
สำหรับการบริโภคสัตว์ที่ถูกเลี้ยงไว้ในระบบที่ได้มาตรฐานด้านการปศุสัตว์ หรือที่เลี้ยงไว้เพื่อบริโภคในครัวเรือนนั้น มีโอกาสที่ผู้บริโภคจะได้รับเชื้อโรคต่าง ๆ ได้แต่น้อยกว่าการบริโภคสัตว์ป่า เนื่องจากสัตว์ในระบบปศุสัตว์มีการเลี้ยงในระบบที่มีการควบคุมดูแล สามารถทำการป้องกันควบคุมโรคและการติดเชื้อได้ แต่ในขณะที่สัตว์ป่าที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาตินั้น โอกาสที่จะได้ศึกษาทำความรู้จักชนิดและปริมาณของเชื้อโรคจากสัตว์ที่ถูกล่าและนำมารับประทานนั้นมีน้อยมาก
“อย่างไรก็ดีพฤติกรรมการบริโภคเนื้อสัตว์ป่านั้น นอกจากโคโรน่าไวรัสแล้ว ยังมีเชื้อโรคอื่น ๆ อยู่อีกมากมาย แต่ถ้ารับประทานสัตว์ที่ถูกเลี้ยงไว้เพื่อบริโภคนั้น อย่างน้อย ๆ เราก็พอจะมีข้อมูลค่อนข้างเยอะ ว่าสัตว์แต่ละชนิดมันมีเชื้อโรคอะไรอยู่บ้าง และมีหลักเกณฑ์ในการควบคุมปริมาณเชื้อโรคไม่ให้เกินมาตรฐานที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค เพราะฉะนั้นเราจึงรู้ว่าควรจะป้องกันอย่างไร ดังนั้นการกินสัตว์ป่าก็เปรียบเสมือนการเพิ่มความเสี่ยงให้กับตัวเรานั่นเอง”
ช่วง 15 ปีที่ผ่านมามีการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องการบริโภคเนื้อสัตว์ป่า เช่น กวาง ต่าง ๆ ลิง ค่าง กอริลล่า ชะมดอีเห็น หมาจิ้งจอก ค้างคาว หนู กระรอก รวมถึงนก กับการเกิดโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนกันมากขึ้น พบว่าการแพร่ระบาดของเชื้อโรคไม่ได้เกิดจากการบริโภคเพียงอย่างเดียว บางโรคอาจสามารถติดต่อได้ผ่านพาหะต่าง ๆ ในสิ่งแวดล้อมได้ด้วย
การที่มนุษย์เข้าไปล่าสัตว์ในป่า จะมีความเสี่ยงในการได้รับเชื้อโรคตั้งแต่ย่างก้าวเข้าสู่พงไพร อย่างไข้มาลาเรีย ไข้ซิกา ไข้เห็บ และไข้รากสาดใหญ่ที่ติดต่อผ่านทางเห็บ ยุง เหลือบและแมลงพาหะชนิดอื่น ๆ นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อโรคที่ออกมาจากมูลหรือสารคัดหลั่ง ที่ปะปนอยู่ในดินและแหล่งน้ำ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อแอนแทร็กซ์ เมลิออยโดสิส และฉี่หนู
นอกจากนี้การล่าสัตว์ป่าก็เพิ่มโอกาสในการถูกสัตว์ป่าทำร้าย กัด ข่วน ขบ แทง จนเกิดบาดแผลและยังถือเป็นช่องทางความเสี่ยงที่มนุษย์จะได้รับการถ่ายทอดเชื้อจากสัตว์เพิ่มขึ้น
“มันเริ่มตั้งแต่การที่เราเข้าไปในบ้านของสัตว์ป่าเหล่านี้แล้ว ตั้งแต่การเดินทางเพื่อเข้าไปล่า ล่าได้ก็ต้องนำมาชำแหละ ฉีก หั่น สับ ปรุง บางครั้งก็กินดิบ ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่โน้มนำให้มนุษย์สัมผัสกับเลือดและสารคัดหลั่งจากสัตว์ที่อาจมีเชื้อโรคปนออกมาด้วย ล้วนแต่ก่อให้เกิดความเสี่ยงทั้งนั้น สัตว์ป่าบางตัวที่เราพบตัวหรือถูกล่าได้ง่าย ก็อาจเป็นผลมาจากการที่สัตว์ป่วยหรือไม่แข็งแรงอยู่ในระดับหนึ่งแล้ว”
สำหรับตลาดฮู่หนาน เมืองอู่ฮั่น อันเป็นศูนย์กลางของการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 นายสัตวแพทย์ไพศิลป์ ให้ความเห็นว่า นอกจากพฤติกรรมการกินสัตว์แปลกของคนในพื้นที่แล้ว รูปแบบการจับสัตว์ต่างชนิดต่างที่ทาง มาขังไว้รวมกันผิดวิสัยที่สัตว์เคยอยู่ในธรรมชาติ เพื่อรอให้บริการลูกค้าที่ต้องการ ‘เชือดกินสด ๆ’ นั้น ส่งผลให้ สัตว์ป่ามีความเครียดจนภูมิคุ้มกันอ่อนแอ และทำให้เชื้อในร่างกายเพิ่มจำนวนและแพร่ออกมาออกมาง่ายขึ้น สัตว์มีการต่อสู้ทำร้ายกันจนทำให้เกิดบาดแผล และเกิดการแพร่กระจายของเชื้อได้มากขึ้น
“แม้การศึกษาต้นตอของเชื้อไวรัสยังไม่สามารถระบุชนิดและที่มาของสัตว์ที่มีความเชื่อมโยงกับการระบาดในครั้งนี้ได้อย่างชัดเจน แต่จากการสำรวจเชื้อไวรัสโคโรน่าในสัตว์หลายชนิดที่ผ่านมาพบว่าค้างคาวเป็นสัตว์ที่น่าจะเป็นโฮสต์ธรรมชาติของเชื้อไวรัสโคโรน่าหลายชนิด และแม้ค้างคาวจะเป็นสัตว์ที่ถูกจับมาบริโภค แต่สัตว์ชนิดอื่นที่อาจมีส่วนเป็นโฮสต์โดยบังเอิญหรือ ‘ตัวกลาง’ ที่เชื่อมมาถึงคนนั้น มีกี่ชนิด เป็นชนิดใดบ้าง มีที่มาจากไหน รวมถึงวิธีการแพร่เชื้อระหว่างกัน ยังต้องรอการพิสูจน์อีกมาก”
นายสัตวแพทย์ไพศิลป์ กล่างทิ้งท้ายว่า อย่างไรก็ตามมนุษย์ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับสัตว์ อาหารหรือผลิตภัณฑ์ที่ได้มาจากสัตว์ รวมถึงสารคัดหลั่งจากสัตว์ ที่อาจมีความเกี่ยวข้องในวงจรการแพร่ระบาดของโรคนี้ แม้จะยังไม่ทราบที่มาของไวรัสก่อโรคโควิด-19 อย่างแน่ชัด
กล่าวได้ว่าการรับประทานสัตว์ป่า นอกจากจะเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อโรคที่อาจเป็นตรายถึงชีวิต และยังเป็นปัจจัยหนึ่งให้เกิดการระบาดของโรคอุบัติใหม่ไปทั่วโลกแล้ว ในทางกฎหมายอุปสงค์ หรือความต้องการ บริโภคสัตว์ป่า อาจส่งผลให้เกิดการล่าสัตว์ ซึ่งอาจเข้าข่ายกระทำความผิดกฎหมาย พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 มาตรา 12 ห้ามมิให้ผู้ใดล่าสัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครอง
โดยหากเป็นการล่าสัตว์ป่าคุ้มครอง มีโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือ ปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากเป็นการล่าสัตว์ป่าสงวน มีโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี หรือ ปรับตั้งแต่สามแสนบาทถึงหนึ่งล้านห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ