การอนุรักษ์ดูแลรักษาเสือโคร่งเป็นหนึ่งในภารกิจที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียรให้ความสำคัญมาตั้งแต่ก่อตั้งองค์กร ในมิติของการอนุรักษ์ถือว่าเสือคือกุญแจสำคัญของระบบนิเวศ เป็นตัวชี้วัดผืนป่า ที่สามารถแสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่านั้นๆ
ซึ่งที่ผ่านมามูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้ให้ความสำคัญกับงานในส่วนนี้ผ่านการสนับสนุนการทำงานของนักวิจัยในพื้นที่ เช่น สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ ในเรื่องเครื่องมือ อุปกรณ์ ครุภัณฑ์ที่จำเป็นต่องานวิจัยและนักวิจัย เป็นต้น
อ.รตยา จันทรเทียร ประธานที่ปรึกษามูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวว่า เมื่อราว 25 ปีก่อน มูลนิธิสืบฯ มุ่งเน้นเรื่องรักษาป่า ทั้งหมด และทำงานในผืนป่าตะวันตก และได้ขยายเดิมจากการดูแลพื้นที่จากผืนป่าตะวันตก 12 ล้านไร่ รวมป่าพื้นที่ใกล้เคียงรอบๆ กลายเป็น 20 ล้านไร่ ดูแลทั้งผืนป่าและสัตว์ป่า เพื่อให้ระบบนิเวศยังคงสมบูรณ์ที่สุด เรื่องเสือเองก็เป็นหนึ่งในเรื่องที่มูลนิธิสืบฯให้ความสำคัญ เพราะเสือมีความสำคัญในระดับสูงสุดของสายใยอาหาร ซึ่งมีความเชื่อมโยงเกี่ยวพันธุ์กันระหว่างสัตว์กินเนื้อ สัตว์กินพืช และเชื่อมขยายกิ่งก้านราวใยแมงมุม เป็นมากกว่าห่วงโซ่อาหารที่สัมพันธ์เพียงแค่เชื่อมโยงต่อกันเป็นทอดๆเท่านั้น เมื่อเสืออยู่ยอดสูงสุดของสายใยอาหาร จึงถือได้ว่าเสือมีความสำคัญเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศในป่านั้นๆ เลยก็ว่าได้
ความสำคัญและความสมบูรณ์ดังกล่าวเหล่านี้เองทำให้ ดร.เดวิด สมิธ ผู้เชี่ยวชาญด้านเสือระดับโลก ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญ จึงพยายามผลักดันให้ประเทศไทยอนุรักษ์เสือไว้ให้ได้ จึงเป็นที่มาของโครงการวิจัยเสือโคร่งทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก (Thailand Tiger Project) มีสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำรับหน้าที่เป็นผู้ดำเนินโครงการศึกษาวิจัยเสือโคร่งในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก มีมูลนิธิสืบนาคะเสถียรรับบทบาทในส่วนของการบริหารจัดการด้านการเงินให้โครงการ โดยเป็นทุนที่ได้รับมาจากการเสนอขอโครงการจากหลายๆ แห่งของดร.เดวิด สมิธ
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก เป็นผืนป่าที่ตั้งอยู่ใจกลางกลุ่มป่าตะวันตก (Western Forest Complex) เป็นพื้นที่ที่มีลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่พิเศษและเหมาะสม ทำให้มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์และระบบนิเวศที่หลากหลาย เหมาะแก่การเจริญเติบโตของพรรณพืชและสัตว์ป่าในปริมาณที่มากกว่าพื้นที่ป่าอื่นๆ ของประเทศ อย่างไรก็ตามแม้มีสัตว์ป่าที่หลากหลาย แต่ข้อมูลงานวิจัยเสือโคร่งในผืนป่าแห่งนี้มีอยู่น้อยมาก จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องศึกษาวิจัยเพื่อนำไปสู่การวางแผนการบริหารจัดการเพื่ออนุรักษ์สายพันธุ์สัตว์ชนิดนี้เอาไว้
นางสาวอรยุพา สังขะมาน หัวหน้าฝ่ายวิชาการ มูลนิธิสืบฯ กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับการทำงานของโครงการวิจัยเสือว่า โครงการวิจัยเสือโคร่งทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก มีระยะเวลาดำเนินการ 1 พฤศจิกายน 2558 – 1 พฤศจิกายน 2560 นับเป็นระยะเวลา 2 ปี ซึ่งได้ ดร.อัจฉรา ซิ้มเจริญ นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสรรค์) ซึ่งมีความรู้ด้านการวิจัยเสือเป็นหัวหน้าผู้ดำเนินโครงการ โครงการนี้สร้างกระบวนการ 5 กิจกรรม ทำงานเพื่อเก็บเป็นข้อมูลพื้นฐานในการจัดการพื้นที่และสัตว์ป่าต่อไป ประกอบไปด้วย
(1) การติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพ เพื่อเห็นข้อมูลยืนยันการดำรงอยู่ของเสือและตรวจสอบลายเสือที่เปรียบเสมือนดีเอ็นเอ
(2) การจับเสือโคร่งเพศเมียและลูกเพื่อติดปลอกคอวิทยุ เพื่อศึกษานิเวศวิทยาของเสือโคร่ง ขั้นตอนนี้ในขั้นที่จับเสือได้แล้ว จะมีการตรวจสอบเก็บข้อมูลนิเวศวิทยาเบื้องต้น อาทิ ชั่งน้ำหนักตัว เพศ และถ่ายรูปเพื่อเก็บลายเสือเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ตรวจสอบแหล่งที่มาต่อไป
(3) การสำรวจวิจัยประชากรเหยื่อของเสือโคร่ง แน่นอนว่าเสืออยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีเหยื่อ หากเสือมีจำนวนมากก็สามารถชี้วัดปริมาณเหยื่อได้
(4) การจัดอบรมการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ เพื่อดูแลรักษาและปกป้องเสือ ปกป้องทรัพยากรทั้งหมด
(5) ประชาสัมพันธ์ความสำคัญของเสือโคร่งในระบบนิเวศยังหมู่บ้านในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรตะวันออก เพื่อสร้างจิตสำนึกและความตระหนักร่วมกันในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หากภาครัฐอนุรักษ์อย่างเดียวไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ ต้องอาศัยความเข้าใจของประชาชนในพื้นที่
จากการดำเนินงานวิจัยที่ผ่านมา นักวิจัยโครงการสามารถจับเสือโคร่งได้จำนวน 4 ตัว ได้ตัวแรกวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2559 และแล้วเสร็จตัวสุดท้ายในวันที่ 30 เมษายน 2559 แบ่งเป็น เพศผู้ 1 ตัว และเพศเมีย 3 ตัว ได้แก่ ข้าวจี่, ตะวัน, จันทรเทียร และวิรัช ซึ่งมีทั้งเสือเจ้าถิ่นและต่างถิ่น มีอายุตั้งแต่ประมาณ 3 ปีขึ้นไป อยู่ในวัยที่สมบูรณ์ ตัวผู้มีน้ำหนักถึง 160 กิโลกรัม และเจ้าหน้าที่ได้ทำการติดปลอกคอวิทยุเสือโคร่งทั้ง 4 ตัวนี้ เพื่อติดตามศึกษาระบบนิเวศวิทยาของเสือเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
กระบวนการเหล่านี้เองนำไปสู่การเก็บรวบรวมข้อมูลที่แท้จริงและเป็นปัจจุบัน ส่งผลไปถึงการวางแผนจัดการบริหารที่ถูกต้องและเหมาะสมสำหรับการสร้างแนวทางการอนุรักษ์ประชากรเสือโคร่งให้คงอยู่ต่อไปในระบบนิเวศแห่งนี้ สมมุติว่าหากข้อมูลผิดพลาดหรือไม่มีข้อมูลพื้นฐานที่ชัดเจน มันส่งผลกระทบต่อการจัดการที่ไม่ถูกต้อง และการตัดสินใจที่ผิดพลาด ซึ่งอาจเป็นจุดเริ่มต้นของความล้มเหลวได้ เมื่อแนวทางอันดีประสบผลสำเร็จ จำนวนประชากรเสือนั้นจะสามารถเพิ่มได้นั่นเอง
และสิ่งที่ขาดไม่ได้นั่นคือการเตรียมมาตรการรับมือเมื่อประสบผลสำเร็จในการเพิ่มจำนวนประชากรเสือโคร่งต่อไป ต้องมีปริมาณเหยื่อเพียงพอ ป่าไม้ตามธรรมชาติต้องสมบูรณ์เป็นผืนใหญ่มากขึ้น อาชญากรรมการล่าการค้าสัตว์ป่าลดจำนวนลงหรือประชากรต้องฉายแสงยานุภาพให้อาชญากรรมนี้สาบสูญสิ้นไป เพราะไม่ใช่เพื่อป่าไม้ ไม่ใช่เพียงเพื่อสัตว์ป่าเท่านั้น แต่เพื่อระบบนิเวศที่มนุษย์จำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยตราบจนสิ้นลมหายใจนั่นเอง