บางคนอาจมองว่าการใช้ ‘พลาสติก’ ในแต่วันเป็นเรื่องเล็กน้อยและปัญหาเหล่านี้เป็นเรื่องไกลตัว พวกเราจะตื่นตัวตามกระแสก็ต่อเมื่อได้รับผลกระทบ ดังเช่น ขยะอุดตันท่อน้ำทิ้งบางพื้นที่จนเป็นที่มาของวลี “น้ำท่วมรอการระบาย” เราไม่สามารถแยกออกหรอกว่าขยะที่เข้าไปอุดตันนั้นเรามีส่วนมากน้อยเพียงใด แต่สิ่งนั้นคือผลลัพธ์ของปัญหาที่เกิดจากขยะต่างๆ รวมถึงขยะพลาสติก แต่มิใช่ทั้งหมด…
คุณไม่ทราบหรอกว่าถุงพลาสติกในมือคุณจะไปตีบตันอยู่ในกระเพาะวาฬหรือไม่ หลอดเพียงหนึ่งชิ้นที่คุณใช้แล้วทิ้งจะไปอุดจมูกเต่าหรือเปล่า รวมทั้งพลาสติกขนาดเล็กที่เกิดจากการแตกตัวของขยะพลาสติกจะสร้างผลกระทบต่อสัตว์และมนุษย์มากน้อยเพียงใด
พักเรื่องเครียดๆ ไว้แล้วมาชวนมาเปิดกระเป๋า ‘รักษ์โลก’ ของหัวหน้าฝ่ายวิชาการ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร คุณอรยุพา สังขะมาน จากการขุดคุ้ยของในกระเป๋าพบไอเทมกรีนๆ ดังต่อไปนี้ กระบอกน้ำ หลอดซิลิโคน ถุงผ้า และกล่องบรรจุอาหารแสนอร่อยฝีมือคุณแม่
คุณอรยุพาเล่าว่า “การออกจากบ้านในแต่ละครั้งต้องมีการวางแผนก่อนเสมอ” กระบอกน้ำใสบรรจุกาแฟนอนอยู่ก้นขวด หลอดซิลิโคนนุ่มๆ รั้งรอให้เจ้าของมาดื่มกาแฟให้หมด “วันหนึ่งเราทำอะไร จะซื้ออะไร เราก็พกของที่เรามีไปเพื่อลดการเพิ่มขยะพลาสติกโดยไม่จำเป็น เช่น วันนี้เราจะแวะซื้อขนมปัง ก็จะพก beeswax wraps ใส่กระเป๋าไปด้วย” เธอหัวเราะพร้อมยอมรับว่าชอบทานขนมปังมาก
คุณจะได้อะไรจากการพกพาไอเทมเหล่านี้ “เราสามารถเลือกได้ว่าเราจะสร้างมลพิษให้กับโลกมากน้อยแค่ไหน การที่เราเลือกใช้ของใช้ซ้ำจึงเป็นส่วนหนึ่งของการไม่ก่อขยะโดยไม่จำเป็น“
สิ่งเหล่านี้นอกจากเป็นการช่วยลดปริมาณขยะพลาสติก ลดอัตราการเกิดปัญหาที่ตามมาจากขยะพลาสติก ยังเป็นการลดโลกร้อนอีกด้วย เพราะการเผาไหม้ในกิจกรรมการผลิตและการเผาทำลายถุงพลาสติก ยิ่งมากเท่าไรปริมาณคาร์บอนไดออไซออกไซด์ที่ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น
อาจเพราะเราทำงานด้านวิชาการ เรารู้ต้นเหตุของปัญหา การที่เราจะไม่ทำอะไรเลยมันเหมือนเป็นการละเลยปัญหา การที่เราปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมันทำให้เรารู้สึกผิดน้อยกว่าการที่ไม่ทำอะไรเลย คุณอรยุพากล่าว
การเริ่มต้นปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตามความเคยชินนั้นยากเสมอ เป็นระยะกว่า 10 ปีแล้ว ที่หัวหน้าฝ่ายวิชาการแปรเปลี่ยนพฤติกรรม และเริ่มพกของ ‘เยอะ’ มากขึ้น และเคร่งครัดพฤติกรรมอย่างจริงจังอีกทีเมื่อปี 2554 ที่น้ำท่วมบ้านของเธอ ซึ่งมีสีดำมาก “ปัจจุบันคราบเปื้อนจากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนั้นยังคงติดฝาผนังบ้านของเรา เรารู้สึกว่าสิ่งที่มนุษย์ทำไปสุดท้ายมันก็ต้องย้อนกลับมาหาตัวเราอยู่ดี”
การแบกเป้พกของทั้งกระบอกน้ำ หลอดซิลิโคน กล่องข้าว เพิ่มจากข้าวของเครื่องใช้ปรกติอย่างพวกหนังสือ เอกสารต่างๆ แล้วปั่นจักรยานก่อนต่อรถประจำทางทุกวัน เธอยอมรับว่ามันไม่ใช่เรื่องสบาย “มันลำบากอยู่แล้ว เราต้องบรรทุกของเยอะกว่าปรกติ แต่อย่างที่เราบอกมันรู้สึกดีกว่าการที่เราไม่ทำอะไรเลย”
สิ่งเหล่านี้เริ่มต้นที่ตัวเราได้ โดยไม่ต้องรอนโยบายของรัฐบาล และไม่ต้องเป็นซูเปอร์แมนก็ช่วยโลกได้ คุณอรยุพากล่าวทิ้งท้าย
เปิดพิกัดสำหรับคนมองหาไอเทมรักษ์โลก
1. หลอดแบบใช้ซ้ำ เพจ ReReef มีทั้งหลอดซิลิโคนหลากสี หลอดสเตนเลส และแปรงขัดไม่ต้องกลัวล้างไม่ได้
2. หลอดซิลิโคนและหลอดไม้ไผ่ อีกทั้งปั๊มน้ำยา แปรงสีฟันไม้ไผ่ พบได้ที่ เพจ Refill Station
3. beeswax wraps ที่ PassionDelivery
4. ถุงผ้าเป็นไอเทมที่หาได้ง่ายตามท้องตลาดทั่วไป