อบรมเตรียมความพร้อมเก็บข้อมูลชุมชน กิจกรรมมนุษย์ส่งผลกระทบต่อความชุกชุมของสัตว์ป่า – ทุ่งใหญ่ฯ ด้านตะวันตก

อบรมเตรียมความพร้อมเก็บข้อมูลชุมชน กิจกรรมมนุษย์ส่งผลกระทบต่อความชุกชุมของสัตว์ป่า – ทุ่งใหญ่ฯ ด้านตะวันตก

เมื่อวันที่ 7 เมษายน มูลนิธิสืบนาคะเสถียร จัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ การเก็บข้อมูลชุมชน แก่เจ้าหน้าที่ทุ่งใหญ่ฯ ด้านตะวันตก ณ ที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันตก เพื่อเรียนรู้วิธีการสังเกต ศึกษาพฤติกรรมและผลกระทบจากการใช้ประโยชน์พื้นที่ ภายใต้โครงการเสริมสร้างประสิทธิภาพและแรงจูงใจในการอนุรักษ์สัตว์ป่าในผืนป่าตะวันตก (โครงการเสือ) ดำเนินการโดย สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Program หรือ UNDP) ที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้รับมอบหมายมาจัดการดูแลร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

 

ธนากร ไชยยศ เจ้าหน้าที่วิชาการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร

 

ธนากร ไชยยศ เจ้าหน้าที่วิชาการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวว่า การเก็บข้อมูลพฤติกรรมและผลกระทบจากการใช้ประโยชน์พื้นที่ ภายใต้โครงการเสริมสร้างประสิทธิภาพและแรงจูงใจในการอนุรักษ์สัตว์ป่าในผืนป่าตะวันตก โดยจะเก็บข้อมูลเพื่อหาผลกระทบต่อจำนวนความชุกชุมของสัตว์ป่า เป็นงานศึกษาวิจัยที่จะนำไปสู่การออกแบบเครื่องมือ หรือกิจกรรมเพื่อลดผลกระทบจากกิจกรรมมนุษย์ในชุมชนที่มีผลต่อความชุกชุมของสัตว์ป่าต่อไป

เราจะลงพื้นที่เก็บข้อมูลชุมชน 2 ช่วงคือ ช่วงฤดูแล้งกับฤดูฝน ตามวัฒนธรรมของพี่น้องชาวกระเหรี่ยงในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์ทุ่งใหญ่ฯ โดยฤดูแล้งระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคมเป็นช่วงที่พี่น้องกระเหรี่ยงเตรียมเพาะปลูก มีการฟันไร่ ถางป่า และช่วงฤดูฝนตั้งแต่เดือนกันยายน ซึ่งเป็นฤดูกาลเก็บเกี่ยว สาเหตุที่ต้องเก็บข้อมูลทั้ง 2 ฤดูกาล เนื่องมาจากแต่ละช่วงเวลาจะแสดงให้เห็นความแตกต่างของสภาพภูมิอากาศ ซึงจะเป็นตัวกำหนดปัจจัยของการเกิดกิจกรรมมนุษย์หรือไม่ ส่วนด้านสัตว์ป่าจะส่งผลต่อการวิเคราะห์ว่าจำนวนประชากรสัตว์ป่าจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามช่วงเวลาที่มีกิจกรรมมนุษย์แตกต่างกันอาจมีผลกระทบที่ต่างกันด้วย

 

 

ธนากร ไชยยศ กล่าวอีกว่า ข้อมูลที่เราเก็บต้องมีความถูกต้องมากที่สุด ดังนั้นก่อนจะลงไปเก็บข้อมูลจริง จะต้องเตรียมความพร้อมและพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าซึ่งจะเป็นผู้เก็บข้อมูล  เพื่อให้มั่นใจได้ว่าข้อมูลที่เก็บได้มีความถูกต้องแม่นยำ จึงเป็นที่มาของกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการเก็บข้อมูลชุมชนครั้งนี้

ผู้เข้าร่วมอบรมคือตัวแทนเจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์ป่าที่ประชิดบริเวณชุมชุนจาก 7 กลุ่มบ้านในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก 10 หน่วย ประกอบด้วย ทิไล่ป้า สาละวะ เดอลู่ ตะเคียนทอง สะเนพ่อง เกาะสะเดิ่ง จุดสกัดกองม่องทะ เกิงสะดา ลังกา และสนง.เขตทินวย

 

วิเชียร ชิณวงษ์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก

 

วิเชียร ชิณวงษ์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก กล่าวว่า ในพื้นที่ทุ่งใหญ่นเรศวรที่นี่คนกับป่าสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน โดยมีจำนวนสัตว์ป่าหนาแน่น ชุกชุม แต่เราจะพูดว่าเราประสบความสำเร็จโดยไม่มีข้อมูลทางวิชาการอ้างอิงคงไม่ได้ ดังนั้นคิดว่าการเก็บข้อมูลครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ในเชิงข้อมูลปริมาณสัตว์ป่าที่น่าเชื่อถือ และสามารถตอบได้ว่าการจัดการผืนป่าตะวันตกของเราประสบความสำเร็จแค่ไหน เพราะเราจะได้ข้อมูลสัตว์ป่าที่ปรากฏในพื้นที่ใช้ประโยชน์ของชุมชน นี่จะเป็นตัวชี้วัดผลสำเร็จของงานการบริหารจัดการผืนป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้วย

 

 

รูปแบบของกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ แบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือการเก็บข้อมูลของสัตว์ป่า เป็นการศึกษาระบบนิเวศ ประเภทสัตว์ป่า จากการจำแนกรอยเท้าสัตว์ ร่องรอยสัตว์ป่า และเก็บข้อมูลกิจกรรมมนุษย์ คือ สังเกตการจำแนกกิจกรรมมนุษย์ในชุมชน การอบรมในช่วงเช้าเป็นการเรียนรู้ภาคทฤษฎี หลักการบันทึกข้อมูลลงในแบบฟอร์ม (Data Sheet) ทำความเข้าใจลักษณะพื้นฐานของข้อมูลสัตว์ป่า กิจกรรมภายในชุมชน ภัยคุกคามรอบชุมชน ในช่วงบ่ายเป็นการworkshop ลองเก็บข้อมูลจริง โดยจำลองสถานการณ์ แบ่งเจ้าหน้าที่ออกเป็นสองกลุ่ม ให้ฝึกใช้เครื่องมือ บันทึกข้อมูลลงในแบบฟอร์ม สังเกตรอยเท้าสัตว์ป่า การกำหนดพิกัดทางภูมิศาสตร์ (GPS) และช่วงก่อนเสร็จสิ้นการฝึกอบรมทีมวิทยากรชวนเจ้าหน้าที่ประเมินเส้นทางการเดินเก็บข้อมูลจริง

 

ทวี คงนานดี รักษาการหัวหน้าหน่วยพิทักษ์ป่าทิไล่ป้า

 

ทวี คงนานดี รักษาการหัวหน้าหน่วยพิทักษ์ป่าทิไล่ป้า บอกกับเราหลังจากร่วมกันประเมินเส้นทางสำรวจว่า บางเส้นทางตามเส้นสำรวจ เรามีความกังวลมากกลัวว่าจะเดินไปไม่ได้ เพราะเส้นทางเดินมีความยากลำบากอยู่มาก บางเส้นเป็นหน้าผา เขาหิน บางจุดที่เดินเวลาเราพักอาจไม่มีน้ำ จะต้องวางแผนค้างคืน และการสำรวจข้อมูลด้วยวิธีการตามที่ฝึกอบรมมาน่าจะทำให้การเดินล่าช้ากว่าการเดินลาดตะเวนปกติอย่างที่เราเคยเดินกัน เพราะต้องเก็บรายละเอียดเยอะมาก แต่คิดว่าไม่มีปัญหาเรื่องข้อมูล กังวลเรื่องเส้นทางมากกว่า

 

 

การเก็บข้อมูลชุมชนทั้งหมด ภายใต้โครงการเสริมสร้างประสิทธิภาพและแรงจูงใจในการอนุรักษ์สัตว์ป่าในผืนป่าตะวันตก (โครงการเสือ) มูลนิธิสืบนาคะเสถียรคิดว่า ข้อมูลเหล่านี้เมื่อนำมาวิเคราะห์แล้วจะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานอนุรักษ์อย่างยิ่ง ข้อมูลที่ได้จะเป็นงานวิจัยเชิงวิชาการที่สามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงเพื่อเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะได้ อาจนำไปสู่การตัดสินใจในระดับนโยบายเพื่อการดูแลรักษาผืนป่าและสัตว์ป่าต่อไป

 

ร่วมสนับสนุนการทำงานรักษาป่าผืนใหญ่กับมูลนิธิสืบนาคะเสถียรผ่านบัตรสะสมแต้มบางจาก

 


เรียบเรียง นรินทร์  ปากบารา เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร