26 กุมภาพันธ์ 2561 จนท.หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ อน.8 จนท.หน่วยจัดการต้นน้ำสะแกกรัง ร่วมกับ ผช.ผู้ใหญ่บ้าน และกรรมการป่าชุมชน ม.11 บ้านอ่างห้วยดง ร่วมกันลาดตะเวนเก็บข้อมูลบริเวณพื้นที่ป่าชุมชนบ้านอ่างห้วยดง
กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาการบริหารจัดการพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ โดยการสนับสนุนของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการพื้นที่ป่าสงวนอย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านการทำงานลาดตระเวนในพื้นที่เพื่อรับรู้ถึงสภาพพื้นที่ ปัญหา ภัยคุกคามต่างๆ
ตลอดจนยังเป็นการดึงภาคประชาชนเข้ามาทำงานอย่างมีส่วนร่วม (คณะกรรมการป่าชุมชน) เพื่อสร้างแนวร่วมในการทำงานอนุรักษ์ และเสริมกำลังให้แก่เจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันรักษาป่าของกรมป่าไม้ที่ยังขาดทรัพยากรด้านบุคคลในแต่ละพื้นที่
ตะวันฉาย หงส์วิลัย ผู้จัดการโครงการพัฒนาการบริหารจัดการพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ให้ความเห็นว่า ในอดีตการทำงานของกรมป่าไม้เป็นไปในทิศทางปราบปรามป้องกันอย่างเดียว แต่ก็ไม่สามารถออกมาทำงานเชิงรุกได้มาก เนื่องจากเจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันรักษาป่ามีจำนวนน้อยเกินกว่าจะดูแลพื้นที่ในความรับผิดชอบได้ทั้งหมด และผืนป่าสงวนกระจายออกไปในรูปแบบหย่อมป่า ยิ่งทำให้ยากต่อการดูแล และการลาดตระเวนก็ไม่ได้ถูกวางไว้เป็นภารกิจหลัก ทำบ้าง มิทำบ้าง จึงทำให้ขาดความต่อเนื่องในการป้องกันปราบปราม จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องพัมนารูปแบบการบริหารจัดการเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพการทำงานมากยิ่งขึ้น และการลาดตระเวนร่วมกับคณะกรรมการป่าชุมชนก็เป็นส่วนหนึ่งของงานที่นำมาผลักดัน
การลาดตระเวนเก็บข้อมูลพื้นที่ป่าชุมชนบ้านอ่างห้วยดง เป็นการลาดตระเวนร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ อน.8 (บ้าน กม.53) เจ้าหน้าที่หน่วยจัดการต้นน้ำสะแกกรัง และคณะกรรมการป่าชุมชน ม.11บ้านอ่างห้วยดง ร่วมลาดตระเวนบันทึกข้อมูลพื้นที่
ผลของการลาดตระเวนครั้งนี้ ได้ทำการบันทึกสภาพป่าที่พบเห็น รายละเอียดพันธุ์ไม้ และทรัพยากรใช้สอย เช่น ผักหวานป่า รวมถึงการเก็บข้อมูลขนาดของไม้ใหญ่ว่ามีจำนวนเท่าไหร่ ในส่วนของร่องรอยสัตว์ป่าและหรือการกระทำความผิดเป็นสิ่งที่ไม่พบเจอในบริเวณที่ทำการลาดตระเวน
การเก็บข้อมูลนี้ จะนำไปสู่การดูแลรักษาป่าในอนาคต เช่น ช่วงไหนสามารถเปิดให้เข้าใช้ประโยชน์ป่าชุมชนได้ สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ตรงไหนได้บ้าง ตรงไหนเป็นพื้นที่ห้ามใช้ประโยชน์
ตะวันฉาย อธิบายความสำคัญของการทำงานข้อมูลพื้นที่แห่งนี้ว่า “มีการเก็บสถิติการใช้ประโยชน์ทรัพยากรของชาวบ้านเพื่อหาความสำคัญของพื้นที่นั้น เช่น ตรงไหนมีทรัพยากรแบบไหน ทำให้สามารถจัดการพื้นที่ได้ว่าอะไรเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ นำมาเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการให้ไม้ไม่ถูกตัด อีกทั้งเพื่อวางแผนว่าการเก็บผักหวานต้องเก็บให้ถูกวิธี”
ที่สำคัญกว่านั้น ตะวันฉายระบุว่าการลาดตระเวนร่วมก่อให้เกิดประโยชน์ต่อทั้งฝ่ายชุมชนและฝ่ายเจ้าหน้าที่ป่าไม้
“ชุมชนได้ใช้ประโยชน์ในเชิงการหาอยู่หากิน ภาครัฐแทนที่จะลงไปทำงานเพียงฝ่ายเดียวตอนนี้ได้ชุมชนมาช่วยดูแล ทำให้ลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่กับชุมชน จึงเป็นหลักสำคัญชี้วัดความเป็นอยู่ของป่าในอนาคต”
สำหรับพื้นที่ป่าชุมชนบ้านอ่างห้วยดงนั้น เป็นผืนป่าที่อยู่ประชิดพื้นที่ป่าอนุรักษ์บริเวณรอยต่อของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งสลับกับพื้นที่ทำกินของชุมชน และองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ตั้งอยู่ด้วย ในส่วนที่ติดกับผืนป่าห้วยขาแข้งยังพบว่ามีสัตว์ป่าหลายชนิดประจายตัวข้ามมาใช้ประโยชน์ในบางส่วนของป่าชุมชนแห่งนี้ แสดงถึงความสมบูรณ์ของพื้นที่ได้เป็นอย่างดี
ก่อนมาดำเนินโครงการพัฒนาการบริหารจัดการพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้สนับสนุนงานด้านการจัดตั้งป่าชุมชน โดยบ้านอ่างห้วยดงเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่สูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้เข้าไปสนับสนุนและช่วยทำกระบวนการจนจัดตั้งสำเร็จ เกิดเป็นกฎกติการดูแลและใช้ประโยชน์ป่าชุมชน
ตะวันฉาย ซึ่งเดิมดูแลงานด้านป่าชุมชนของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ให้ความเห็นว่า คณะกรรมการป่าชุมชนที่นี่มีความเข้มแข็งในระดับที่ดี สามารถดูแลรักษาควบคุมกฎระเบียบได้อย่างครบครัน และยังสามารถทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานรัฐได้เป้นอย่างดี ผืนป่าบริเวณนี้จึงยังคงความเป็นป่าสมบูรณ์ได้ถึงปัจจุบัน
สำหรับกิจกรรมลาดตระเวนพื้นที่ป่าสงวน มูลนิธิสืบนาคะเสถียร นอกจากทำหน้าที่ประสานกิจกรรมแล้ว ยังได้ให้การสนับสนุนงบประมาณจำนวนหนึ่งในการเดินลาดตะเวนเพื่อใช้เป็นค่าเดินทางและเสบียงแก่ผู้ปฏิบัติหน้าที่
ติดตามเรื่องราวงานดูแลพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติทั้งหมดได้ที่ โครงการพัฒนาการบริหารจัดการพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติในผืนป่าตะวันตก
ร่วมสนับสนุนการทำงานรักษาป่าผืนใหญ่กับมูลนิธิสืบนาคะเสถียรโดยการสมทบทุนผ่านบัญชีธนาคาร