รู้จักสืบ นาคะเสถียร ผ่านเรื่องเล่าเพื่อนร่วมงาน ในเหตุการณ์อพยพสัตว์ป่าเขื่อนเชี่ยวหลาน

รู้จักสืบ นาคะเสถียร ผ่านเรื่องเล่าเพื่อนร่วมงาน ในเหตุการณ์อพยพสัตว์ป่าเขื่อนเชี่ยวหลาน

ผ่านมาแล้ว 29 ปี แต่ชื่อนี้ยังคงดังก้องอยู่ในความทรงจำของหลาย ๆ คน ชื่อของผู้ชายที่ชื่อว่า สืบ นาคะเสถียร 

ก่อนจะมาทำงานมูลนิธิสืบฯ ผู้เขียนไม่เคยรู้จักชื่อของชายผู้นี้มาก่อน และก็จำไม่ได้เหมือนกันว่าเราได้ยินเรื่องราวของเขาครั้งแรกตอนไหน แต่ทุกครั้งที่ได้ยินเรื่องเล่าของชายคนนี้ มักสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้เขียนได้เสมอ 

ในงานถอดบทเรียน 50 ปี ห้วยขาแข้งเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสฟังเรื่องเล่าจากเพื่อนร่วมงานของคุณสืบ หนึ่งในนั้นคือคุณชัชวาลย์  พิศดำขำ อดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และคุณวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ กรรมการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ถึงเหตุการณ์ตอนหนึ่งครั้นที่เคยทำงานร่วมกัน ในโครงการอพยพสัตว์ป่าเขื่อนเชี่ยวหลาน จ.สุราษฎร์ธานี

 

ภาพ : คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ กรรมการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และนักเขียน นิตยสารสารคดีในสมัยนั้นเล่าถึงความมุ่งมั่นของคุณสืบให้ฟังว่า

การอพยพของสัตว์ที่เขื่อนเชี่ยวหลานเป็นเหตุการณ์ครั้งแรกที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ไม่เคยมีเหตุกาณ์ครั้งนี้มาก่อน สืบเองตอนนั้นเพิ่งจบปริญญาโท จาก University of London ก่อนหน้านี้เขามาที่ม่อนจอง มาทำวิจัยกับฝรั่ง แล้วก็เกิดอุบัติเหตุเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าเสียชีวิตโดยที่ไม่ได้ตั้งใจจากไฟป่า เขารู้สึกตลอดเวลาว่าเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า หรือชาวบ้าน หรือคนระดับล่าง คือหัวใจสำคัญในการรักษาป่า

มีครั้งหนึ่งที่ผมนั่งเรือไปช่วยสัตว์ป่าที่เขื่อนเชี่ยวหลาน มันก็คืออ่างเก็บน้ำ มีเกาะเล็กเกาะน้อย เกาะพวกนี้อดีตก็คือยอดเขา ในเกาะก็จะมีสัตว์เยอะแยะมากมาย วันหนึ่งก็เอาเรือไปจอดจะกินข้าว ปรากฏว่าตอไม้ มีงูจงอางพุ่งออกมาลงน้ำ 

คุณสืบก็บอกว่า “ไปช่วยมัน เพราะมันคงว่ายไปไม่ถึงฝั่ง” 

เราก็มองหน้ากันเลิ่กลั่กว่า ระยะทางจากเรือไปโรงพยาบาลประมาณ 6 ชั่วโมง ถ้าโดนกัดก็คงไม่รอด เราก็เอาสลึงตักขึ้นมา งูก็อยู่ในสลึงแล้วตักไว้ในเรือ ทุกคนก็มองหน้ากันว่า ใครจะจับงูใส่ถุงกระสอบ 

คุณสืบมีลูกน้องตอนนั้น 6 คน คุณสืบไม่ได้พูดอะไร เดินไปแล้วก็คว้างูจงอาง ยกหัวขึ้นมาแล้วก็เอาเขี้ยวจมไว้ที่กาบเรือ ก็เป็นครั้งแรกที่ผมเห็น ทุกคนก็ดีใจว่าปลอดภัยแล้ว

ผมก็เดินไปตบไหล่คุณสืบ “พี่สืบเซียนจับงูเลยว่ะ”
คุณสืบก็หันมาบอกผมว่า  “พี่ก็เพิ่งจับเป็นครั้งแรกเหมือนกัน”

คุณสืบมีลูกน้องก็ไม่เคยสั่งให้ใครทำ เพราะเขาบอกผมตลอดว่าทุกชีวิตมีค่าเท่ากัน แต่ผมต้องรับผิดชอบชีวิตเหล่านี้เพราะผมเป็นคนพาเขามา นี่คือความมุ่งมั่นของคุณสืบ

 

ภาพ : คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ชัชวาลย์  พิศดำขำ อดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ปี 2533 ได้เล่าถึงความรู้สึกของการเป็นหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์ฯ ภายหลังที่คุณสืบเสียชีวิต เพราะเขากำลังมาทำหน้าที่แทนคนที่เคยเป็นทั้งพี่และครู

” ตอนที่รู้จักกับพี่สืบ ตอนนั้นผมเป็นหัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า จังหวัดนราธิวาส พี่สืบเป็นหัวหน้าโครงการอพยพสัตว์ป่าเขื่อนเชี่ยวหลาน ตอนที่จะสร้างเขื่อน พี่สืบจะอพยพสัตว์ป่าส่วนหนึ่ง จากสุราษฎร์ธานีมาที่สถานีเพาะเลี้ยงที่ผมเป็นหัวหน้าอยู่ 

พี่สืบบอกว่าวันนี้เอาสัตว์มาไว้ที่นี่แล้วก็บอกผมว่า “ชัช เดินตามมานะ”

พี่สืบก็นำหน้ากรงสัตว์ที่เตรียมอพยพ เขาอธิบายถึงสัตว์ป่าที่อพยพมาตรงนี้มันเป็นมาอย่างไร สภาพเป็นอย่างไรในรายละเอียด พี่สืบสอนโดยที่ผมไม่รู้ตัว พอสัตว์ป่าเข้ากรงไปเรียบร้อย พี่สืบก็นอนที่ใต้ต้นเสม็ด ตอนนั้นอยู่หน้าสถานีเพาะเลี้ยงแล้วก็คุยกับผม 

พี่สืบบอกว่า “เหนื่อย แต่งานนี้มันไม่ได้ผลหรอก สัตว์ป่าที่อพยพมาเปอร์เซ็นต์รอดต่ำมาก แต่มันเป็นข้อแก้ตัวของคนที่อยากจะทำเขื่อน เพื่อบอกสังคมว่าได้หาทางอย่างเต็มที่แล้วที่จะจัดการสัตว์ป่า”

ผมมีความรู้สึกว่าผู้ชายคนนี้ พูดว่างานของตัวเองว่าหนัก เป็นคำเหน็ดเหนื่อยเต็มที่อย่างตรงไปตรงมา และก็เป็นข้อเท็จจริง 4 ปีที่ผมเป็นหัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงฯ ตรงนั้น สัตว์ป่าทยอยตายเกือบทั้งหมด เปอร์เซ็นต์รอดตายเป็น 0 เราดูแลเต็มที่นะครับ มีสัตวแพทย์ของโครงการสมเด็จพระนางเจ้าฯ มาช่วยดูแลแต่ก็เอาไม่อยู่ 

ปี 2533 ผมเข้ารับตำแหน่งเป็นหัวหน้าเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง คำถามที่ถูกถามบ่อยที่สุดคือ รู้สึกอย่างไร ตอบได้เลยครับ “กลัว ผมรู้สึกกลัว”

นอกจากพื้นที่มันใหญ่แล้ว ผมกำลังมาแทนคนที่เป็นทั้งพี่และครู พี่สืบขนาดนั้น ผมเป็นใครมาจากไหน ผมจะเอาไหวหรอ ไม่รู้จะตั้งต้นอย่างไร

แต่ผมปล่อยให้ตัวเองอยู่กับความกลัวนี้ไม่ได้ โชคดีที่มีหัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ รู้จักกับผมผิวเผินเข้ามาทักทายแล้วก็ให้เอกสารผม 2 เล่ม เล่มแรกเป็นแผนแม่บทการจัดการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง  เล่มที่ 2 คือ Domination ที่พี่สืบเขียน เพื่อที่จะออกประกาศให้ห้วยขาแข้งเป็นมรดกโลก ผมอ่านเอกสารนี้อย่างตื่นเต้นแล้วก็ดีใจ 

บ้านพักที่นั่นค่อนข้างกันดาร ผมนอนในบ้านที่พี่สืบเสียชีวิต เพราะมันไม่มีทางเลือก ไม่อย่างนั้นก็ต้องไปกางเปลนอน ผมนั่งอ่านเอกสารทั้ง 2 ฉบับหลังจากไฟดับแล้ว 2 ทุ่มต้องดับไฟ เพราะเรามีน้ำมันอย่างจำกัด จะลำเลียงน้ำมันเข้ามาแต่ละครั้งมันยากเย็น นั่งอ่านเอกสารตรงนั้นแล้วก็จินตนาการถึงคนที่เขียนเอกสารตรงนี้ ซึ่งพรรณาถึงความอุดมสมบูรณ์และคุณค่าของป่าแห่งนี้ท่ามกลางเสียงปืนของคนล่าสัตว์ที่อยู่โดยรอบ ผมเดาว่าพี่สืบรู้สึกอย่างไรได้พอสมควรว่าความเจ็บช้ำ ความเจ็บปวดมันเป็นอย่างไร พี่สืบถึงพยายามผลักดันให้พื้นที่ตรงนี้เป็นมรดกโลก

เอกสารที่พี่สืบเขียนไว้ มีประเด็น 2 ประเด็นที่ผมฝังใจในการประชุมของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ที่ตอนนั้นร่วมเป็นกรรมการมูลนิธิฯ ด้วย ว่าเราจะทำอะไรกันดี คำตอบที่ตอบอย่างตรงไปตรงมาที่สุดก็คือ เราทำในสิ่งที่พี่สืบฝัน เราทำในสิ่งที่สืบเริ่มต้น และทำในสิ่งที่พี่สืบอยากให้มันเป็นได้ไหม 

 

แม้คุณสืบจะจากไป แต่อุดมการณ์ยังคงอยู่

ภายหลังที่คุณสืบเสียชีวิตหลายฝ่ายได้สานต่อเจตนารมณ์ของคุณสืบในการผลักดันให้พื้นที่ห้วยขาแข้งและทุ่งใหญ่นเรศวรขึ้นเป็นมรดกโลก และก่อตั้งมูลนิธิสืบนาคะเสถียรเพื่อช่วยเหลือเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ดั่งที่คุณสืบได้ตั้งใจไว้ คุณวันชัยได้เล่าถึงที่มาที่ไปถึงตอนนี้ให้ฟังว่า

” ประมาณปลายปี 2532 คุณสืบก็โทรมาชวนผมไปกินข้าว ก็บอกผมว่า กำลังตัดสินใจ กำลังหนักใจ ตอนนั้นกรมฯ สั่งให้ไปเป็นหัวหน้าเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง สมัยนั้นไม่ได้ดังขนาดนี้ 

ห้วยขาแข้งใหญ่ขนาดไหน?
ใหญ่กว่ากรุงเทพเกือบ 2 เท่า อุดมไปด้วยสัตว์ป่าแล้วก็เสียงปืน 

อีกด้านหนึ่งคือพี่สืบสอบชิงทุนปริญญาเอกที่อังกฤษได้ สืบก็กลุ้มใจไม่รู้จะเลือกอะไร ผมคิดว่าในห้องนี้ 90 เปอร์เซ็นต์ คงเลือกที่จะไปเรียนต่อเพราะมันเป็นความเจริญรุ่งเรืองในอนาคต กลับกลายเป็นว่าพี่สืบเลือกไปเป็นหัวหน้าเขตฯ ที่อยู่ในพื้นที่ไกลปืนเที่ยงมาก ๆ ไม่ค่อยมีคนรู้จักในสารระบบส่วนใหญ่ แต่คุณสืบมีความมุ่งมั่นที่จะไปเป็นหัวหน้าเขตรักษาพันธ์ุสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ที่ได้งบประมาณไร่ละบาทในเวลานั้น เขาพูดตลอดเวลาว่าเครียดขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งอย่างที่เราทราบกันดี

มูลนิธิสืบนาคะเสถียรสร้างขึ้นมาในวันที่เขาตายวันแรก เขามีความมุ่งมั่นที่จะรักษาผืนป่าและสัตว์ป่า ทุกครั้งที่เขาพูดในเวทีต่าง ๆ มักขึ้นประโยคนั้นว่า

 “ผมขอพูดในนามของสัตว์ป่า เพราะสัตว์ป่าผมพูดไม่ได้” ผมคิดว่าเขาพูดด้วยความจริงใจ 

เมื่อคุณสืบเสียชีวิต พวกเราไม่ว่าจะมาจากภาครัฐ ภาคเอกชน NGOs มารวมตัวกันเพื่อที่จะสานฝันของคุณสืบเป็นจริง ความฝันของพี่สืบต้องการที่จะทำให้ป่าห้วยขาแข้งกับป่าทุ่งใหญ่นเรศวรเป็นหัวใจสำคัญของป่าตะวันตกให้ได้ เพราะว่าก่อนที่คุณสืบจะเสียชีวิต เขาพยายามผลักดันให้เป็นมรดกทางธรรมชาติ นี่คืองานชิ้นสุดท้ายของคุณสืบกับเพื่อนที่ช่วยกันผลักดัน 

หลังจากที่เขาเสียชีวิตไม่นาน สิ่งที่ฝันก็เป็นจริงเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง-ทุ่งใหญ่นเรศวร เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ และความฝันหนึ่งของคุณสืบคือ จะทำอย่างไรให้เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าซึ่งเป็นระดับล่างสุดมีสวัสดิการที่ดี เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าไม่ใช่ข้าราชการ ไม่ใช่ลูกจ้างประจำ เป็นลูกจ้างกินรายวัน เราเห็นความสำคัญของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่ามาก เราตั้งกองทุนเพื่อผู้พิทักษ์ป่า สมัยก่อนมันไม่มีสวัสดิการให้ลูกจ้างข้าราชการ คนกลุ่มนี้ไม่มีใครดูแล มูลนิธิฯ จึงจัดตั้งกองทุนพิทักษ์ป่าเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจ อย่างน้อยถ้าเสียชีวิต หรือบาดเจ็บในหน้าที่ มูลนิธิฯ มีกองทุนสนับสนุนให้ 

นี่คือการสานฝันของคุณสืบ 

 

ในวันที่เราจากไปจะคงเหลือแต่สิ่งที่เราเคยทำ

กาลเวลาผ่านไป 29 ปี คนรุ่นใหม่อาจไม่ค่อยคุ้นชื่อนี้มากนัก แต่เชื่อว่าเรื่องราวเหล่านี้จะส่งต่อให้เราได้ระลึกถึงคุณความดีของชายคนนี้ และคอยเป็นแรงบันดาลใจเพื่อรักษาป่าผืนนี้ให้กับคนรุ่นต่อ ๆ ไป

เราไม่เคยลืมสืบฯ
ร่วมรำลึกการจากไปครบรอบ 29 ปี สืบ นาคะเสถียร

 


บทความ นูรซาลบียะห์ เซ็ง เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร