มองเขื่อนแม่วงก์ ผ่านมุมเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม

มองเขื่อนแม่วงก์ ผ่านมุมเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม

สิ้นเสียงเคลื่อนขบวนคัดค้านเขื่อนแม่วงก์เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2556 ตามมาด้วยการยกประเด็นเข้าสู่การถกเถียงในระดับสาธารณะ ปัจจุบัน ความเคลื่อนไหวกรณีเขื่อนแม่วงก์ดูจะเงียบลงไปจากข่าวความขัดแย้งทางการเมืองที่เข้ามาทดแทนในหน้าหนังสือพิมพ์

ในความเป็นจริง กระบวนการตรวจสอบก็ยังดำเนินไปอย่างเงียบๆ โดยมีการจัดตั้งคณะกรรมการโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อทบทวนและแสดงความเห็นเพิ่มเติมต่อรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ฉบับกรกฎาคม 2555 โดยมีประเด็นด้านเศรษฐศาสตร์ เป็นหนึ่งในหัวข้อสำคัญ

แม้ว่าผู้เขียนจะไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์ แต่ด้วยพื้นความรู้ที่พอมีด้านการวิเคราะห์โครงการ จึงพยายามสรุปข้อมูลที่ปรากฏอยู่ในรายงานดังกล่าวในบทที่ 9 การวิเคราะห์โครงการด้านเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม เพื่อความเข้าใจของบุคคลทั่วไปที่มีความสนใจในประเด็นสาธารณะ

หากใครได้อ่านหนังสือ ‘เหตุผลในการคัดค้านเขื่อนแม่วงก์’ ที่รวบรวมโดยมูลนิธิสืบนาคะเสถียร คงจะได้เห็นบทความโดย อ.ดร.ชโลทร แก่นสันติสุขมงคล อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งผู้เขียนได้ศึกษาและนำมาต่อยอดเพื่อวิพากษ์ EIA ฉบับล่าสุดโดยแบ่งเป็น 6 ประเด็น

แต่ก่อนที่จะอธิบายถึง 6 ประเด็นดังกล่าว ผู้เขียนขอใช้พื้นที่สั้นๆ ในการอธิบายภาพรวมของโครงการเขื่อนแม่วงก์ โดยวิเคราะห์จากสองส่วนคือ ผลประโยชน์รับ และต้นทุนจ่าย

โครงการเขี่อนแม่วงก์นั้น ประมาณการณ์ไปในอนาคตเป็นเวลา 58 ปี แบ่งเป็นเวลาก่อสร้าง 8 ปี และเวลาที่ได้รับผลประโยชน์จากเขื่อน 50 ปี โดยสมมติฐานราคาของต้นทุนจ่าย จะใช้ราคาคงที่ ณ ปี พ.ศ. 2555 ส่วนผลประโยชน์รับ จะใช้ราคาคงที่ ณ ปี พ.ศ.2563 โดยคิดลดเป็นมูลค่าปัจจุบันโดยใช้อัตราคิดลด 12% ซึ่งการคำนวณตามต้นฉบับรายงาน จะมีมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) 113.608 ล้านบาท อัตราผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ (EIRR) 12.10% และอัตราผลประโยชน์ต่อทุน (B/C Ratio) 1.01

หากจะอธิบายให้เข้าใจง่าย โครงการเขื่อนแม่วงก์นั้นจะได้กำไรทั้งสิ้น 113.608 ล้านบาท โดยมีอัตราผลตอบแทนร้อยละ 12 ต่อปี โดยสัดส่วนของผลประโยชน์ต่อทุนนั้นอยู่ที่ 1.01 นั่นหมายความว่า การลงทุน 1 บาทจะได้ส่วนเกิน 1 สตางค์

 

ต้นทุนจ่าย

โครงการเขื่อนแม่วงก์ มีมูลค่าต้นทุนทั้งสิ้น 8,328.95 ล้านบาท โดยมีต้นทุนราวร้อยละ 80 เป็นมูลค่าการก่อสร้าง โดยรายงานการประเมินได้ระบุอายุการใช้ประโยชน์ของเขื่อนคือ 100 ปี และได้เกิดผลประโยชน์บวกกลับ เนื่องจากเขื่อนดังกล่าวยังไม่หมดอายุการใช้งานในปีที่ 50 โดยตัดค่าเสื่อมราคาแบบเส้นตรง

มูลค่าปัจจุบัน ของต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์ เขื่อนแม่วงก์ (ตาราง 9.4-5 หน้า 9-21)

ส่วนต้นทุนอีกราวร้อยละ 20 เป็นมูลค่าของสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ที่จะต้องสูญเสียไป เช่น ค่าเสียโอกาสของป่าไม้ การสูญเสียความอุดมสมบูรณ์ในดิน การสูญเสียแหล่งกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และการสูญเสียแหล่งท่องเที่ยว

สำหรับต้นทุนส่วนที่เหลือ คิดเป็นราวร้อยละ 10 คือค่าบำรุงรักษาเขื่อน ค่าดำเนินการลดผลกระทบ ค่าที่ดินและทรัพย์สิน ซึ่งตามรายงานจะมีการเวนคืนที่ดินราว 16,000 ไร่จากเกษตรกรเพื่อเป็นพื้นที่หัวงานและการขุดคลองชลประทาน

 

ผลประโยชน์รับ

ผลประโยชน์รับของโครงการเขื่อนแม่วงก์มีทั้งสิ้น 9,547.95 ล้านบาท โดยผลประโยชน์ส่วนใหญ่นั้นมาจากการเกษตร ซึ่งแบ่งเป็นการปลูกพืชผัก (พริก) คิดเป็นร้อยละ 43 การปลูกพืชไร่และการทำนา (ข้าวและอ้อย) ร้อยละ 32 คิดรวมกันเป็นราวร้อยละ 75 นับว่าเป็นผลประโยชน์หลักของโครงการเขื่อนแม่วงก์

มูลค่าปัจจุบัน ของผลประโยชน์ทางเศรษฐศาสตร์ เขื่อนแม่วงก์ (ตาราง 9.4-5 หน้า 9-21)

สัดส่วนของผลประโยชน์อื่นๆ ที่รองลงมาเช่น ไม้ผลยืนต้น ซึ่งในรายงานใช้มะม่วงเป็นตัวแทน การมีน้ำอุปโภคบริโภคและการใช้น้ำในอุตสาหกรรม การป้องกันภัยแล้ง การผลิตไฟฟ้า การป้องกันอุทกภัย และผลประโยชน์จากการปลูกป่าทดแทน

สิ่งที่น่าสนใจคือ หากเราพิจารณาจากสัดส่วนผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจแล้ว เขื่อนแม่วงก์นั้นมีจุดประสงค์เพื่อการเกษตร โดยพิจารณาจากสัดส่วนผลประโยชน์นั้นมีแหล่งมาจากการเกษตรเป็นหลัก ในขณะที่การป้องกันอุทกภัยคิดเป็นผลประโยชน์เพียงร้อยละ 1 เท่านั้น

อย่างไรก็ดี ในผลประโยชน์รับข้างต้น ยังไม่รวมผลประโยชน์รับที่ไม่น่าพึงพอใจ (Negative Benefits) คือมูลค่าของปริมาตรไม้ตัดออก ซึ่งคิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน 1,105.35 ล้านบาท ซึ่งเป็นกระแสเงินสดลบในปลายปีที่หนึ่ง

จากภาพรวมของต้นทุนจ่ายและผลประโยชน์รับ ในรายงาน EIA ได้มุ่งเน้นความสำคัญในลักษณะของเขื่อนเพื่อการชลประทาน เนื่องจากมีการเวนคืนที่ดินเพื่อทำคลองส่งน้ำชลประทาน และผลประโยชน์แทบทั้งหมดมาจากการเกษตร ในขณะที่ผลประโยชน์จากการบรรเทาอุทกภัยคิดเป็นมูลค่าเพียงร้อยละ 1 ของผลประโยชน์โครงการ

ดังนั้น คำกล่าวอ้างที่ว่าจะสร้างเขื่อนแม่วงก์เพื่อป้องกันอุทกภัยนั้น ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ปรากฎในรายงาน

นอกจากนี้ การคำนวณและการวิเคราะห์ในรายงานยังมีลักษณะบางประการให้ชวนสงสัย ซึ่งผู้เขียนสามารถสรุปได้ 6 ประการ ดังนี้

 

1. ผลประโยชน์จากการปลูกพริก

สิ่งที่ชวนสงสัยอันดับแรกคือผลประโยชน์รับจากการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ 100 เปอร์เซ็นต์นั้น คิดเป็นผลประโยชน์จากการปลูกพริกสูงถึงร้อยละ 43 นับว่าเป็นสัดส่วนที่สูงมากสำหรับโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่

รายได้จากการปลูกพริก

ที่น่าแปลกใจคือ ปัจจุบัน บริเวณพื้นที่ชลประทานนั้นไม่มีการปลูกพริกอยู่เลย โดยพืชผลหลักนั้นคือการปลูกมันและการปลูกข้าว ผู้เขียนได้สืบค้นในวิทยานิพนธ์ของขวัญกมล สระทองฮ่วม ที่อ้างอิงว่าในจังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกพริกสำคัญนั้นมีสัดส่วนการปลูกพริกอยู่เพียงร้อยละ 10 จากพื้นที่ปลูกผักทั้งหมด ในขณะที่บริเวณพื้นที่ชลประทานหลังการก่อสร้างเขื่อน ได้มีการตั้งสมมติฐานว่าจะมีพื้นที่ปลูกพริกสูงถึงร้อยละ 30 จากพื้นที่ชลประทานทั้งหมด

ในมุมมองของระดับประเทศ ในปี พ.ศ.2550 ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกพริกทั้งสิ้น 474,717 ไร่ แต่ในรายงานฉบับนี้ หากมีการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ จะมีพื้นที่ปลุกพริกเพิ่มขึ้น 37,370.75 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 8 ของพื้นที่ทั้งประเทศ

จึงเป็นคำถามที่ว่า การตั้งสมมติฐานเช่นนี้เหมาะสมหรือไม่ และเอื้อประโยชน์ต่อผู้ต้องการโครงการมากไปหรือเปล่า

 

2. การวิเคราะห์ความอ่อนไหว (Sensitivity Analysis)

‘การวิเคราะห์ความอ่อนไหวของโครงการ’ หมายถึง การพิจารณาว่าการเปลี่ยนแปลงของสมมติฐานในกระแสผลประโยชน์รับหรือต้นทุนจ่าย จะส่งผลอย่างไรต่อมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) และอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ (EIRR)

ในรายงานได้ระบุว่า ณ จุดคุ้มทุนที่ทำให้โครงการได้รับผลตอบแทนขั้นต่ำคือร้อยละ 12 สมมติฐานในผลประโยชน์รับสามารถลดลงได้ไม่เกินร้อยละ 1.20 ต้นทุนจ่ายเพิ่มขึ้นได้ไม่เกินร้อยละ 1.21 และทั้งสองกรณีข้างต้นเกิดขึ้นพร้อมกันได้ไม่เกินร้อยละ 0.60 มิฉะนั้นโครงการเขื่อนแม่วงก์จะขาดทุนทันที

นั่นหมายความว่าการประมาณการณ์ล่วงหน้า 58 ปี จะไม่มีข้อผิดพลาดเกินร้อยละ 0.60 !

ในมุมมองของผู้เขียน การประมาณการณ์มิให้ผิดพลาดนั้นแทบเป็นไปไม่ได้ โดยเฉพาะโครงการที่ลงทุนในสินทรัพย์จริง (Real Asset) และผลประโยชน์ส่วนใหญ่มาจากราคาสินค้าเกษตรที่ผันผวนตามราคาตลาด การใช้ราคาคงที่ในการคำนวณและหวังไม่ให้ผิดพลาดเกินร้อยละ 0.60 จึงนับว่าเป็นไปได้ยากอย่างยิ่ง

สำหรับโครงการที่เป็นเงินมาจากภาษีประชาชนก็ยิ่งควรจะมีการพิจารณาที่ถี่ถ้วน หากเปรียบเทียบรัฐบาลเป็นบริษัทมหาชน ที่ประชาชนเป็นผู้ถือหุ้น โครงการก่อสร้างที่มีผลตอบแทนในลักษณะเช่นนี้นับว่าไม่น่าลงทุนอย่างยิ่ง เนื่องจากมีความเสี่ยงที่สูงเกินไป และควรหาโครงการอื่นๆ ที่มีประโยชน์กับท้องถิ่นมากกว่าและความเสี่ยงต่ำกว่าเพื่อทดแทน

 

3. ผลตอบแทนของโครงการ กรณีเกิดความล่าช้า 2 ปี

การประเมินมูลค่าโครงการในกรณีโครงการล่าช้านั้นแทบไม่ได้รับการพูดถึง ซึ่งประเด็นดังกล่าวนับว่าเป็นประเด็นสำคัญเนื่องจากนักการเงินและนักเศรษฐศาสตร์ย่อมคำนึงถึงค่าของเงินตามเวลา และการที่ต้นทุนจะเกิดเพิ่มเติมเนื่องจากค่าเงินเฟ้อ ซึ่งในรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ได้มีการคำนวณกรณีที่โครงการล่าช้าออกไป 2 ปี

ผู้เขียนได้อธิบายเบื้องต้นไปแล้วว่า ในรายงานฉบับดังกล่าวได้มีการตั้งสมมติฐานว่าโครงการเขื่อนแม่วงก์จะสามารถเริ่มก่อสร้างได้ในปี พ.ศ.2555 และแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2563 ซึ่งการประเมินมูลค่าโครงการกรณีเกิดความล่าช้า 2 ปี นั่นหมายถึงการก่อสร้างในปี พ.ศ.2557 หรือปีปัจจุบันนั่นเอง

ในตารางที่ผู้เขียนอ้างอิงข้างต้น ได้ระบุว่าหากโครงการล่าช้าเป็นเวลา 2 ปี โครงการเขื่อนแม่วงก์จะมีมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) –1,541.10 ล้านบาท โดยมีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์เหลือร้อยละ 10.63 ซึ่งน้อยกว่าขั้นต่ำที่คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระบุไว้ว่าไม่ควรต่ำกว่าร้อยละ 12 อย่างไรก็ดี อัตราดังกล่าวสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสภาวะเศรษฐกิจ

จากข้อมูลในตัวรายงานเอง เป็นการชี้ชัดว่าหากมีการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 เป็นต้นไป จะเป็นการใช้ภาษีประชาชนที่ไม่คุ้มค่า ไม่คุ้มต้นทุน โดยจะขาดทุนสูงถึง 1,541.10 ล้านบาท และได้อัตราผลตอบแทนต่อปีไม่ถึงเป้าที่คาดหวัง

 

4. ขาดการคำนวณต้นทุนจ่ายจากการสูญเสียระบบนิเวศที่สำคัญ

จากที่ผู้เขียนสรุปต้นทุนจ่ายในภาพรวมไปเบื้องต้น จะเห็นว่าผู้ทำการศึกษาในรายงานฉบับดังกล่าวไม่ได้คำนวณรวมมูลค่าของการสูญเสียระบบนิเวศ แต่มุ่งเน้นไปที่มูลค่าการสูญเสียทรัพยากรมากกว่า ซึ่งส่วนใหญ่คือผลประโยชน์ที่ไม่พึงประสงค์โดยคิดเป็นมูลค่าไม้จากการตัดฟัน

แม้ในรายงานจะได้มีการอ้างอิงเอกสารวิชาการ ซึ่งระบุข้อความว่าไม่สามารถพิจารณาครอบคลุมทุกต้นทุนได้ โดยจะคำนวณเฉพาะต้นทุนที่สำคัญ นั่นหมายความว่ามูลค่าระบบนิเวศของป่าแม่วงก์ในบริเวณการก่อสร้างเขื่อนนั้นไม่สำคัญอย่างนั้นหรือ?

ดร.อนรรฆ พัฒนวิบูลย์ อาจารย์ภาควิชาอนุรักษวิทยา คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ได้ระบุถึงลักษณะของป่าแม่วงก์ที่เคยเป็นป่าที่ถูกใช้ประโยชน์ แต่ได้รับการฟื้นฟูอย่างรวดเร็วในเวลาเพียง 24 ปี นับว่าเป็นตัวอย่างของความสำเร็จในการฟื้นฟูป่าต้นน้ำ สัตว์ป่า และระบบนิเวศ

ลักษณะพิเศษของป่าแม่วงก์คือเป็นพื้นที่ป่าริมน้ำ ซึ่งเหมาะกับการอยู่อาศัยของสัตว์ป่า และป่าที่ราบริมน้ำในลักษณะนี้มีอยู่สองแห่งคือริมลำห้วยขาแข้งในผืนป่ามรดกโลก และริมห้วยแม่เรวา ป่าแม่วงก์ บริเวณที่จะถูกน้ำท่วมหากมีการสร้างเขื่อน

ป่าแม่วงก์ พื้นที่ราบริมน้ำ ที่จะกลายเป็นบริเวณอ่างเก็บน้ำหากมีการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ / PHOTO รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์

ปัจจุบัน พื้นที่ดังกล่าวอยู่ในโครงการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง โดย WWF ประเทศไทย เพื่อตอบสนองกับ Tiger Action Plan ที่มุ่งเน้นการรักษาประชากรเสือโคร่งให้เพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืน จึงนับได้ว่าต้นทุนระบบนิเวศที่เราต้องเสียไป เป็นมูลค่าที่ไม่ควรมองข้าม

 

5. การคำนวณผลประโยชน์จากการปลูกป่าทดแทน

แม้ว่าผลประโยชน์จากการปลูกป่าทดแทนจะคิดเป็นเพียงร้อยละ 6 จากผลประโยชน์ทั้งหมด แต่โครงการเขื่อนแม่วงก์ก็นับว่าเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ เนื่องจากหลายรายการที่มีการคำนวณยังไม่ชัดเจน หลายประเด็นยังสับสน และควรมีการสอบทานเพื่อเป็นมาตรฐานในการประเมินมูลค่าโครงการรัฐบาลอื่นๆ

 

ก) ความสับสนระหว่างมูลค่าไม้สะสม (Wood Stock) และมูลค่าไม้ส่วนเพิ่ม (Wood Growth)

ในการคำนวณผลประโยชน์จากการปลูกป่าทดแทน รายได้ที่สำคัญมาจากการมีปริมาตรไม้ (Wood Stock) เพิ่มเติมต่อหนึ่งปี ซึ่งตัวเลขที่ควรใช้ในการคำนวณควรจะเป็นลักษณะส่วนเพิ่ม (Incremental Benefits) มากกว่าเต็มจำนวน ซึ่งผู้เขียนขออธิบายด้วยกราฟดังที่แสดงข้างล่าง

มูลค่าไม้

หากพิจารณาตัวเลขข้างต้น มูลค่าไม้ที่ใช้คำนวณในปีที่ 1 ควรมีค่าเท่ากับ 100 บาท ส่วนปีที่ 2 และ 3 ควรคำนวณผลตอบแทนจากมูลค่าไม้ส่วนเพิ่ม คือส่วนต่างที่ต้นไม้เติบโตขึ้นคือปีละ 20 บาทเท่านั้น เพื่อสะท้อนผลประโยชน์รับที่แม่นยำ

แต่ในรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการเขื่อนแม่วงก์กลับใช้ตัวเลขมูลค่าไม้สะสมในการคำนวณทุกปี กล่าวคือปีที่ 1 ได้ประโยชน์ 100 บาท ปีที่ 2 ได้ประโยชน์ 120 บาท และปีที่ 3 ได้ประโยชน์ 140 บาท ซึ่งผู้เขียนมองว่าจะทำให้ผลประโยชน์ที่ได้รับสูงเกินจริง

 

ข) การเพิ่มแหล่งกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

ผู้เขียนได้ลองวาดกราฟผลประโยชน์จากการกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ได้รับจากการปลูกป่าทดแทน ซึ่งจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าในช่วงปีแรกๆนั้นกราฟมีแนวโน้มสูงขึ้น สะท้อนปริมาณกักเก็บที่สูงขึ้นก่อนจะลดต่ำลงและคงที่จนสิ้นสุดระยะประเมินโครงการ

จากตารางที่ 9.4-5 ผลประโยชน์จากการปลูกป่าทดแทน หน้า 9-21

อย่างไรก็ดี ผู้เขียนได้ลองเปรียบเทียบความสัมพันธ์ของปริมาณกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กับปริมาตรไม้สะสม ซึ่งในกรณีของการสูญเสียพื้นที่ป่าเพื่อใช้ในการก่อสร้างเขื่อนนั้นมีความสัมพันธ์แบบเส้นตรง กล่าวคือกราฟทั้งสองควรมีลักษณะไม่ต่างกัน แต่น่าแปลกที่การคำนวณผลประโยชน์ของการปลูกป่าทดแทนนั้น กลับเพิ่มมูลค่าอย่างรวดเร็วในปีแรกๆ ซึ่งอาจทำให้ผลประโยชน์รับมีมูลค่าสูงกว่าความเป็นจริง

 

ค) พื้นที่ปลูกป่าทดแทน

ในรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการเขื่อนแม่วงก์ มีการระบุว่าจะปลูกป่าทดแทนเป็นพื้นที่จำนวน 30,000 ไร่ซึ่งจะอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติโซน C โดยจะเป็นพื้นที่ริมขอบป่าแม่วงก์เพื่อสร้างเป็นแนวกันชน

ผู้เขียนได้รับข้อมูลจากมูลนิธิสืบนาคะเสถียรที่ได้ทำการลงพื้นที่ไปตรวจสอบบริเวณดังกล่าว พบว่าส่วนใหญ่เป็นป่าเสื่อมโทรม มีการบุกรุกเพื่อปลูกพืชไร่ บางแห่งก็ทับซ้อนกับพื้นที่ป่าธรรมชาติดั้งเดิม จนชวนให้ตั้งคำถามว่าทางกรมชลประทานเจ้าของโครงการจะดำเนินการอย่างไรเพื่อขอคืนพื้นที่มาปลูกป่า และใครจะเป็นผู้รับผิดชอบให้ป่าใหม่เหล่านี้ยั่งยืนจนสามารถสร้างผลประโยชน์ให้อย่างที่คาดการณ์

พื้นที่ซ้อนทับของบริเวณปลูกป่าทดแทนและพื้นทีอ่างเก็บน้ำคลองปลาสร้อยและคลองขลุงล่าง

นอกจากนี้ มูลนิธิสิบนาคะเสถียรยังได้เปิดเผยว่า บริเวณที่กรมชลประทานตั้งใจว่าจะใช้เป็นพื้นที่ในการปลูกป่าทดแทนยังซ้อนทับอยู่ในบริเวณอ่างเก็บน้ำคลองปลาสร้อย และคลองขลุงล่าง ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำที่อยู่ในแผนบริหารจัดการน้ำ และการชลประทาน ที่จะสร้างขึ้นติดกับอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ บริเวณจังหวัดกำแพงเพชร

จึงเป็นคำถามต่อไป ว่าการที่กรมชลประทานหรือนักการเมืองมักอ้างว่าสร้างเขื่อนแม่วงก์แล้วได้ป่าเพิ่มขึ้น เป็นไปได้ในข้อเท็จจริงหรือไม่ หรือปรากฎไว้แค่บนกระดาษแต่ไม่สามารถนำไปปฏิบัติ

 

6. ควรหรือไม่ที่จะรวมผลประโยชน์จากโครงการปลูกป่าไว้ในโครงการก่อสร้างเขื่อน

หากเปรียบเทียบการคำนวณความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจ (Feasibility Study) ระหว่างโครงการเขื่อนแม่วงก์และโครงการภาคเศรษฐกิจปกติ จะเห็นว่าการรวมผลประโยชน์รับจากโครงการปลูกป่าทดแทนไว้ในผลประโยชน์ของโครงการเขื่อนแม่วงก์นั้นไม่เหมาะสม เนื่องจากโครงการดังกล่าวเป็นอิสระต่อกัน (Independent Project) โดยทั้งสองโครงการมีกระแสรายรับและต้นทุนที่สามารถแยกออกจากกันได้อย่างเด็ดขาด

ผู้เขียนลองเปรียบเทียบง่ายๆ ในกรณีที่บริษัทผู้ผลิตน้ำมันแห่งหนึ่ง ต้องการทำโครงการขุดเจาะน้ำมัน ในขณะเดียวกันก็ทำโครงการรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) เพื่อเป็นการสร้างภาพลักษณ์และลดแรงต่อต้านจากชุมชน หากผู้อ่านเป็นคณะกรรมการบริษัทที่จะตัดสินใจลงทุนในโครงการดังกล่าว ก็คงจะพิจารณาผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับของโครงการขุดเจาะน้ำมันเป็นหลัก โดยไม่ได้รวมผลประโยชน์รับหรือต้นทุนของโครงการ CSR

ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบกับโครงการแม่วงก์ การปลูกป่าทดแทนก็ไม่ต่างจากโครงการลดผลกระทบต่อชุมชนและลดแรงต้านต่อภาพประชาสังคม แต่การพิจารณาว่าโครงการเขื่อนแม่วงก์คุ้มทุนและคุ้มค่าหรือไม่ ควรพิจารณาเพียงกระแสลประโยชน์รับและต้นทุนจ่ายที่เกิดจากโครงการเขื่อนเดี่ยวๆเท่านั้น ไม่ควรรวมผลประโยชน์รับหรือต้นทุนจ่ายจากโครงการปลูกป่าเข้าไปด้วย

จาก 6 ข้อสังเกตเบื้องต้น จะเห็นว่ายังมีหลายแง่มุมของเขื่อนแม่วงก์ที่ยังคงไม่กระจ่างชัด และหลายประเด็นที่กำหนดสมมติฐานไม่เหมาะสม ซึ่งผู้เขียนได้ปรับเปลี่ยนสมมติฐานใหม่และลองคำนวณความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจของโครงการเขื่อนแม่วงก์ใหม่โดยเผยแพร่ไว้ในบทความ ‘ทบทวนการวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ โครงการเขื่อนแม่วงก์’

ทั้งนี้ สิ่งที่ผู้เขียนต้องการนำเสนอ คือความถูกต้องทางวิชาการเพื่อเป็นบรรทัดฐานในการประเมินมูลค่าโครงการภาครัฐ ที่ควรนำเสนออย่างเที่ยงตรงและสมเหตุสมผล เพื่อเป็นมาตรฐานทั้งในด้านความโปร่งใส และสะท้อนธรรมาภิบาลของภาครัฐผู้เป็นเจ้าของโครงการ


บทความโดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์
เผยแพร่ครั้งแรก 22 มิถุนายน 2014  มูลนิธิสืบนาคะเสถียร