ปัญหาความขัดแย้ง คน-ช้างป่า กับโจทย์ “การอยู่ร่วมกัน อย่างยั่งยืน”

ปัญหาความขัดแย้ง คน-ช้างป่า  กับโจทย์ “การอยู่ร่วมกัน อย่างยั่งยืน”

จากกรณีช้างป่านับ 10 ตัว ออกมากินข้าว ถอนมันสำปะหลังของชาวบ้าน และส่งเสียงร้องในเวลากลางคืน เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นที่บ้านคลองห้วยหวาย ม.21 ต.แม่เปิน อ.แม่เปิน จ.นครสวรรค์ เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2561

เจ้าหน้าที่ภาคสนามมูลนิธิสืบนาคะเสถียร รายงานว่า ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับชุมชน ได้ผลักดันช้างโดยใช้วิธีการทำให้เกิดเสียงดัง เพื่อให้ช้างตกใจ และหนีไป แต่ช้างป่าเหล่านี้ ยังไม่กลับเข้าไปในป่าใหญ่ หากแต่เริ่มมีการแตกกลุ่มกระจายตัวกันออกไป และยังคงพากันกินข้าวและพืชไร่ของชาวบ้านอย่างต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมา จึงได้จัดให้มีเวทีหารือ ทำความเข้าใจ และหาแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกันเบื้องต้น นำโดยผู้ใหญ่บ้าน บ้านคลองห้วยหวาย ม.21 ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน สมาชิก อบต.แม่เปิน ร่วมกับตัวแทนจากอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ นว.1 (แม่กะสี) และมูลนิธิสืบนาคะเสถียร พร้อมกับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ

จากการหารือ ได้ข้อสรุปต่อแนวทางการแก้ปัญหาเบื้องต้น โดยมีข้อเสนอให้ยุติการใช้เสียงดังในการผลักดันช้าง เช่น ไม่ใช้ลูกบอล ปะทัด พลุ ปืน เพื่อลดความตึงเครียดของช้าง และป้องกันพฤติกรรมก้าวร้าว ซึ่งอาจส่งผลกระทบ และนำไปสู่ความเสียหายมากกว่าเดิม ส่วนในเรื่องความเสียหายที่เกิดขึ้นกับพืชไร่ของชาวบ้าน ในที่ประชุมเสนอให้ใช้เงินกองทุนหมู่บ้าน เพื่อชดเชยความเสียหายแก่ชาวบ้านบางส่วน และนอกจากนี้ เสนอให้มีการสำรวจและจัดทำแหล่งอาหาร แหล่งน้ำ ให้กับสัตว์ป่าด้านใน เพื่อเป็นแรงจูงใจไม่ให้สัตว์ออกมานอกพื้นที่

 

เครือข่ายเฝ้าระวังและทีมผลักดันช้าง

สำหรับการตั้งรับ และเฝ้าระวังสถานการณ์ มีการจัดตั้งเครือข่ายเฝ้าระวังและทีมผลักดัน เพื่อรายงานสถานการณ์ ความคืบหน้า ความเสียหายต่างๆ ในกรณีที่ช้างป่า เข้ามาสร้างความเสียหายในพื้นที่

หลังจากการพูดคุยหารือเบื้องต้นนี้แล้ว จะนำผลการประชุม และแนวทางการแก้ไขปัญหาเบื้องต้น เสนอกับท่านนายอำเภอแม่เปิน และหวังให้มีการจัดเวทีหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาระยะยาวกับอำเภอ อบต.แม่เปิน และหน่วยงานภาคี ต่างๆ

“การจัดการความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า เราต้องเข้าใจพฤติกรรมของช้างป่า ส่วนวิธีการ แก้ปัญหาอาจขึ้นอยู่กับบริบทชุมชนนั้นๆ” คุณปราโมทย์ ศรีใย เจ้าหน้าที่ภาคสนามมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าว

ปัญหาช้างป่า ลงมากินพืชไร่ของชาวบ้าน เป็นเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว และเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ในหลายๆ พื้นที่ อย่างเช่น ตำบลห้วยเขย่ง อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ซึ่งนอกจากการมีเครือข่ายเฝ้าระวังและทีมผลักดันแล้ว แต่จำเป็นต้องมีแนวทางสำหรับการแก้ปัญหาระยะยาวด้วย

 

 

คุณปราโมทย์ รายงานว่า เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2561 เจ้าหน้าที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ชุมชนตำบลห้วยเข่ยง มูลนิธิอนุรักษ์ผืนป่าตะวันตก และเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ทองผาภูมิ ได้ร่วมกันเดินจับพิกัดสำรวจพื้นที่เกษตรกรรมที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่า ตำบลห้วยเขย่ง ในโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการ “ปลูกบุกเพื่อลดผลกระทบจากช้างป่า” ภายใต้โครงการวิจัยและพัฒนาระบบเพื่อการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับช้างป่าอย่างสันติฯ (สกว.) ณ. ห้วยเขย่ง อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี  คุณปราโมทย์ อธิบายว่า บุกเป็นพืชที่เหมาะกับพื้นที่ และจากการศึกษาพบว่าช้างจะไม่ทำลายบุก จึงจะช่วยลดผลกระทบจากความเสียหายที่เกิดขึ้น หากมีกรณีช้างลงมาในพื้นพื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้าน

ขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 5–8 พฤศจิกายน 2561 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี ร่วมกับ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร จัดเวทีพูดคุย เพื่อนำเสนอแนวทางการปฏิบัติของชาวบ้านที่อยู่ในเขตป่า ซึ่งมีปัญหา ช้างป่ามารบกวนพืชไร่ โดยให้ความรู้เรื่องพฤติกรรมของช้างป่า เพื่อช่วยให้การอยู่ร่วมกันกับช้างป่ากับชาวบ้าน มีความปลอดภัยต่อชีวิตเพิ่มขึ้น พร้อมนำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะการจัดทำแนวป้องกันในรูปแบบต่างๆ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นต่อไป ในอนาคต

 

เฟสบุ๊ค เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ

 

แม้ว่าแต่ละพื้นที่อาจยังไม่มีบทสรุปที่แน่ชัด ต่อแนวทางการแก้ปัญหา แต่มีโจทย์เดียวกันคือ จะทำอย่างไร เพื่อลดความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า การเปิดพื้นที่ให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบวิธีการแก้ปัญหา ควบคู่กับการทำความเข้าใจพฤติกรรมของช้างป่า แล้วเรียนรู้วิธีการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน 

ร่วมรักษาป่าผืนใหญ่กับมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ผ่านการสมทบกองทุนมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ผ่านบัญชีธนาคาร

 


เรียบเรียง ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
ภาพเปิดเรื่อง เฟสบุ๊ค เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ