สืบเนื่องมาจากเจ้าหน้าที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ร่วมกับเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก และ ชุดคณะกรรมการอนุรักษ์ทรัพยากรหมู่บ้าน ทั้ง 7 กลุ่มบ้าน ได้ทำการเก็บข้อมูลร่องรอยของกิจกรรมมนุษย์และสัตว์ป่า รอบหมู่บ้านในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก โดยการเก็บข้อมูลร่องรอยกิจกรรมมนุษย์ และสัตว์ป่า จะนำมาใช้ในการวิเคราะห์หาความสัมพันธ์ นำไปสู่ข้อมูลทางวิชาการที่ได้ เพื่อใช้ในการบริหารจัดการพื้นที่มรดกโลกทางงธรรมชาติ ทั้งเรื่องของการลดผลกระทบจากกิจกรรมมนุษย์ และการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์ป่า
ซึ่งการเก็บข้อมูลกิจกรรมมนุษย์ และสัตว์ป่า เป็นการดำเนินการภายใต้โครงการสร้างเสริมประสิทธิภาพและแรงจูงใจในการอนุรักษ์สัตว์ป่าในผืนป่าตะวันตก (โครงการเสือ) จากงบประมาณของสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และดำเนินการโดยมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยดำเนินโครงการในพื้นที่มรดกโลก 2 พื้นที่ คือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี แต่กิจกรรมการเก็บข้อมูลดังกล่าวเริ่มในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศารด้านตะวันออกก่อนในปีนี้
คุณธนากร ไชยยศ เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้เล่าถึงการดำเนินการเก็บข้อมูลร่องรอยของกิจกรรมมนุษย์และสัตว์ป่าที่ชุมชนในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออกว่า การดำเนินการจะมีการเก็บข้อมูล 2 ครั้งต่อปี โดยแบ่งเป็นช่วงฤดูร้อน และฤดูฝน เนื่องจากความแตกต่างระหว่างฤดูกาลนั้น เป็นตัวกำหนดปัจจัยของการเกิดกิจกรรมมนุษย์ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการตัดไม้ การตัดไผ่ แผ้วถาง การชิงเผาฟันไร่ การเก็บหาของป่า ร่องรอยมนุษย์ ร่องรอยปศุสัตว์ แคมป์พักแรม การล่าสัตว์ หรือการหาปลา ส่วนด้านสัตว์ป่าจะส่งผลต่อการวิเคราะห์ว่าจำนวนประชากรสัตว์ป่าจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามช่วงเวลาที่มีกิจกรรมมนุษย์แตกต่างกันและมีผลกระทบที่แตกต่างกัน ซึ่งตอนนี้ในฤดูร้อนได้เก็บข้อมูลและวิเคราะห์ผลเสร็จเรียบร้อยแล้ว ส่วนการเก็บข้อมูลในฤดูฝนเพิ่งเริ่มเก็บข้อมูลในเดือนกรกฎาคมนี้
รูปแบบของการเก็บข้อมูลชุมชนแบ่งกิจกรรมออกเป็น 2 ส่วนคือ การเก็บข้อมูลสัตว์ป่า โดยจำแนกออกเป็นร่องรอยของสัตว์ป่า เช่น รอยเท้า ถูกฆ่า กองมูล การเห็นตัวโดยตรง เสียงร้อง รอยคุ้ย ซากสัตว์ เป็นต้น อีกส่วนหนึ่งก็ คือ การเก็บข้อมูลร่องรอยกิจกรรมมนุษย์ โดยการสังเกตการและจำแนกกิจกรรมมนุษย์ในบริเวณที่เกิดขึ้น 7 กลุ่มหมู่บ้าน เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลพื้นฐานของสัตว์ป่า และการเก็บข้อมูลจากการตีแปลงสำรวจความเข้มข้นของกิจกรรมกรรมมนุษย์ในพื้นที่นั้น
เมื่อเก็บข้อมูลดังกล่าวเสร็จสิ้นก็จะมี 3 ตัวแปรที่นำไปสู่การวิเคราะห์ทางสถิติโดยหาค่าความสัมพันธ์ออกมาเป็นงานวิจัยเชิงวิชาการคือผลกระทบจากกิจกรรมมนุษย์ที่เกิดขึ้นจากในพื้นที่จากการเก็บข้อมูลความชุกชุมของสัตว์ป่าและระยะห่างจากแต่ละหมู่บ้าน
ปัจจุบัน กิจกรรมที่ทางมูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้วางไว้ตลอดทั้งปีสำเร็จไปแล้ว 50% เนื่องจากการเก็บข้อมูลในช่วงฤดูร้อนได้สำเร็จเพียงอย่างเดียว และเมื่อมีการเก็บข้อมูลครั้งต่อไปจะมีขึ้นอีกในช่วงฤดูฝนนี้ หลังจากนั้นจะนำเอาข้อมูลสองชุดนี้มาเปรียบเทียบกันดูความชุกชุมของสัตว์ป่าที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลา โดยการนำเอาข้อมูลไปเปรียบเทียบระยะห่างจากหมู่บ้านกับผลกระทบจากกิจกรรมมนุษย์ รวมไปถึงการเปรียบเทียบกันทั้งสองช่วงฤดูกาลว่าความรุนแรงของกิจกรรมมนุษย์มีมากน้อยแค่ไหน หรือว่าถ้าความรุนแรงของกิจกรรมมนุษย์มีเท่ากัน แล้วความรุนแรงของแต่ละกลุ่มบ้านมีกิจกรรมมนุษย์ที่แตกต่างกันหรือเปล่า แต่ละช่วงเวลาจะมีความรุนแรงของกิจกรรมมนุษย์ที่มากหรือน้อยหรือเท่ากันหรือเปล่า
และจากที่กล่าวมามูลนิธิสืบนาคะเสถียรมีเป้าหมายในภาพใหญ่ว่า ข้อมูลที่ได้จะเป็นงานวิจัยเชิงวิชาการที่สามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงเพื่อเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะได้ หรือในบริบทที่สูงกว่านั้นก็สามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลสำหรับการตัดสินใจในระดับนโยบายเพื่อการดูแลรักษาผืนป่าและสัตว์ป่าต่อไป
ร่วมรักษาผืนป่าใหญ่กับมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ผ่านแอพพลิเคชั่น SCB EASY