การก้าวสู่อนาคตของผ้าทอจอมป่า # 3

การก้าวสู่อนาคตของผ้าทอจอมป่า # 3

“ผ้าทอจอมป่า” จากการทอผ้ากี่เอวสู่กี่กระตุก

เพื่อสร้างทางเลือกในการทอผ้าที่จะเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับแบรนด์ผ้าทอจอมป่า เมื่อต้นปีที่ผ่านมามูลนิธิสืบนาคะเสถียรจึงได้จัดอบรมเพิ่มทักษะในการทอผ้าต่างไปจากการทอผ้าแฮนเมคแบบเดิมที่เรียกว่าการทอกี่เอว เพิ่มทักษะอีกแบบคือการทอกี่กระตุก ที่ใช้เครื่องทอขนาดใหญ่นั่นเอง

นอกจากจะสนับสนุนเครื่องทอแล้ว การรวมตัวกันของสมาชิกกลุ่มผ่าทอจอมป่าที่สนใจในกระบวนการทอผ้าแบบใหม่แล้ว มูลนิธิสืบนาคะเสถียรยังสนับสนุนเครื่องทอผ้ากี่กระตุกเพื่อให้สมาชิกได้ใช้ฝึกฝนและพัฒนาทักษะต่อไป

จากประสบการณ์การทำงานของคุณพัชราภรณ์ ต๊ะกู่ เจ้าหน้าที่ส่งเสริมงานผ้าทอ ได้เล็งเห็นแล้วว่าการทอกี่เอวแบบดั้งเดิมของชาวปกาเกอะญอนั้นแม้จะเต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์ แต่ข้อด้อยในการผลิตเพื่อให้ได้งานออกมานั้นก็ยังมี อันได้แก่ การทอกี่เอวจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการทอ ที่ส่งผลให้สามารถผลิตผลิตภัณฑ์ออกมาได้น้อย การทอกี่เอวได้ผืนผ้าหน้ากว้างที่แคบ

ดังนั้นการทอกี่กระตุกที่ใช้เครื่องในการทอจึงจะมาช่วยเพิ่มทางเลือกในการผลิตผลงานต่างๆ ทั้งเสื้อผ้า ผ้าปูโต๊ะ หรืออื่นๆ ที่จำเป็นต้องใช้ผ้าหน้ากว้างนั่นเอง “ใช้เวลาในการทอน้อยลง ได้ผลิตภัณฑ์เยอะขึ้น นำไปสู่การสร้างรายได้มากขึ้น”

โดยจากการประชุมกลุ่มสมาชิกผ้าทอจอมป่า เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม ที่มี 5 หมู่บ้าน ได้แก่  บ้านกุยเลอตอ บ้านกุยต๊ะ บ้านกุยเคอะ บ้านพอกะทะ และหมู่บ้านหม่องกั๊วะ เข้ามาร่วมประชุมนั้นมีมติเป็นเอกฉันท์ที่จะเริ่มทอผ้ากี่กระตุกในเดือนพฤศจิกายน หลังฤดูการลงเมล็ดพันธุ์พืชไร่

เนื่องจากการทอผ้านั้นมีความสัมพันธ์บางประการกับช่วงฤดู เช่น ฤดูแล้งนั้นจะเป็นช่วงเวลาแห่งการตระเตรียมด้ายเพื่อใช้ในการทอผ้า ทั้งการปั่นด้าย อิดด้าย ย้อมด้ายมักทำกันในช่วงฤดูนี้ เพื่อกักตุนวัสดุเผื่อใช้ในฤดูอื่นๆ เนื่องจากฤดูฝนไม่เหมาะแก่การย้อมด้ายเพราะด้วยความชื้นและสภาพอากาศทำให้สีที่ย้อมติดได้ไม่ดีเท่าที่ควร ส่วนฤดูฝนนั้นนอกจากชาวปกาเกอะญอจะทอผ้าอยู่บ้านแล้ว ยังยึดถือเอาช่วงฤดูนี้เป็นช่วงเวลาให้ต้นหมากรากไม้ที่พวกเธอใช้ประโยชน์ให้เป็นเครื่องมือในการให้สีสันต่างๆ อาทิ เปลือกต้นมะม่วง ต้นเพกา ได้พักฟื้นสภาพนั่นเอง

“การทอครั้งหน้าตั้งเป้าไว้ที่สองร้อยชิ้น ซึ่งการทอกี่กระตุกครั้งนี้นอกจากจะช่วยเพิ่มความชำนาญแก่คนที่เริ่มหัดทอแล้ว ยังเป็นการเพิ่มความคล่องแคล่วให้แก่ผู้ร่วมกิจกรรมการทอครั้งนี้อีกด้วย” คุณพัชราภรณ์เล่าด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น “โดยชาวบ้านจะผลัดเปลี่ยนคนมาทอเครื่องมือกี่กระตุกที่ศูนย์เรียนรู้เยาวชนต้นทะเลบ้านหม่องกั๊วะ”

จะเห็นแล้วว่า “ผ้าทอจอมป่า” มิได้ปล่อยให้เวลาหยุดเดินที่การทอแบบดั้งเดิมเท่านั้น แต่ยังพยายามพัฒนามุมมองต่างๆ ทั้งการดึงเอากระบวนการผลิตแบบอื่นที่จะช่วยลดเวลาการผลิต เพิ่มปริมาณผ้าทอ ขยายผืนผ้าทอจอมป่าให้มีขนาดใหญ่ยิ่งขึ้น นำไปสู่ตลาดที่หลากหลายมากขึ้นไปนั่นเอง

 

อบรมเพื่อพัฒนาแบรนด์ “ผ้าทอจอมป่า”

นอกจะพัฒนาการผลิตภัณฑ์แล้ว “ผ้าทอจอมป่า” ยังใส่ใจในด้านอื่นๆ ที่หนนี้ เจ้าหน้าที่ส่งเสริมงานผ้าทอ ได้มีโอกาสเข้าร่วมอบรมเพื่อพัฒนาบรรจุภัณฑ์สิ้นค้าภายใต้โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผู้ประกอบการ OTOP รุ่นใหม่ สู่ตลาด 4.0 ระหว่างวันที่ 5-7 เมษายน ที่จัดที่จังหวัดนนทบุรี และวันที่ 16-17 พฤษภาคม ที่จัดที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งสนับสนุนโดยกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับมหาวิทยาลัยศิลปากร

ซึ่งจากการอบรมทางโครงการได้สนับสนุนการออกแบบห่อบรรจุภัณฑ์ โบรชัวร์สินค้า โดยครั้งนี้คุณพัชราภรณ์ขอให้นักออกแบบช่วยออกแบบโบร์ชัว์สินค้าให้ผ้าทอจอมป่า และจะทำการส่งตัวอย่างพร้อมไฟล์โบร์ชัวร์ให้โอกาสหน้า เพื่อให้แบรนด์สามารถนำไปผลิตได้ตามความต้องการ

โดยการอบรมนั้นได้ทำการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างเจ้าหน้าที่ส่งเสริมงานผ้าทอกับนักออกแบบ รวมถึงเจ้าของแบรนด์ต่างๆ ที่มาร่วมงานในโอกาสนี้ นำไปสู่แนวคิดการเพิ่มช่องทางการติดต่อสื่อสารของผ้อจอมป่าไปสู่โลกโซเซียลมีเดียที่กว้างขวางมากยิ่งขึ้น

 

“ผ้าทอจอมป่า” ออนไลน์

เมื่อยังมีอีกโลกที่หมุนเวียนอยู่รอบตัวเราอย่างไม่หยุดนิ่ง และเป็นอีกโลกที่เคลื่อนไหวผ่านไปมาอย่างรวดเร็วไม่ต่างจากกระแสน้ำที่ไหลเอื่อยเฉือยบ้างเชี่ยวกราดบ้าง เป็นโลกที่ไม่เคยหลับไหล โลกที่ออนไลน์ตลอด ขอเพียงแค่คุณมีอุปกรณ์และอินเตอร์เน็ต นี่คืออีกหนึ่งสถานที่ที่ผ้าทอจอมป่าอาศัยอยู่ ณ ห้วงเวลานี้

ที่ผ่านมานั้น ผ้าทอจอมป่า นอกจากออกบูธหรือฝากขายตามร้านต่างๆ แล้ว พื้นที่หลักที่สามารถเชื่อมให้เราได้รู้จักกันและกัน หรอพบปะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ส่งเสริมงานผ้าทอกับผู้สนใจแวดวงการทอผ้า ย้อมด้าย รวมถึงลูกค้าที่หมุนเวียนผลัดกันมาอุดหนุนผลิตภัณฑ์ของชาวปกาเกอะญอเรื่อยมา ผ่านทางเพจเฟสบุ๊ค ผ้าทอ จอมป่า – ผลิตภัณฑ์ชุมชนในผืนป่าตะวันตก

โดยคุณพัชราภรณ์เล่าถึงแผนงานครี่งปีต่อจากนี้ว่า เดือนพฤศจิกายนจะเริ่มทอกี่กระตุก เดือนธันวาคมมีนัดกับสมาชิกกลุ่มผ้าทอจอมป่าเพื่อย้อมด้ายสีธรรมชาติ และระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคมเธอจะเดินทางไปอบรมให้ความรู้แก่ชาวบ้านกลุ่มผ้าทอที่หมู่บ้านจะแก ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก ซึ่งจากการประชุมพูดคุยกันเมื่อครั้นแวะเวียนไปเยี่ยมชาวบ้านให้ความสนใจการทอผ้ากี่เอวเช่นกัน สำหรับแฟนๆ ที่ติดตามเธอสามารถดูความเคลื่อนไหวต่างๆ เหล่านี้ได้ผ่านทางเพจ

“ที่ผ่านมาเนื่องจากตัวเองมีภาระหน้าที่เยอะทำให้ไม่สามารถบริหารจัดการเพจและโพสต์เรื่องราวหรือผลิตภัณฑ์ผ้าทอจอมป่าได้ต่อเนื่อง แต่ก็ขอบคุณที่ยังมีผู้คนสนใจทักทายเข้ามาทางแชทเพจอยู่เนืองๆ” น้ำเสียงของเจ้าหน้าที่ส่งเสริมงานผ้าทอคล้ายรู้สึกผิดไม่น้อยที่มีเวลาไม่เพียงพอในการบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ผ่านเพจให้แฟนๆ ได้รับชมได้ดีพอ “หวังว่าครึ่งปีต่อจากนี้จะได้มีโอกาสบริหารจัดการเพจตามตารางที่ตั้งใจไว้ รวมถึงการใช้ลูกเล่นอย่างการ Live สด ผ่านเพจเพื่อขายสินค้าและพูดคุยกับลูกเพจได้มากยิ่งขึ้น”

และนอกจากทางแฟนเพจนี้แล้ว ยังเพิ่มช่องทางในการติดต่อสื่อสารอืกทางหนึ่งก็คือ Line@ ที่จะกำลังอยู่ในช่วงเรียนรู้และพัฒนาการระบบการทำงานของแอพลิเคชั่น เพื่อใช้ในการปฏิสัมพันธ์กับผู้ติดตามเรื่องราวการทำงานของผ้าทอจอมป่า การอนุรักษ์ผืนป่าด้วยด้ายฝ้ายสีธรรมชาติในสื่อใหม่ต่อไป ให้ผ้าทอจอมป่าได้โลดแล่นบนโลกออนไลน์สร้างชีวิตและสีสันที่สวยงามต่อไป

 

ร่วมรักษาผืนป่าใหญ่กับมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ผ่านแอพพลิเคชั่น SCB EASY

 


รายงาน พัชราภรณ์ ต๊ะกู่ เจ้าหน้าที่ส่งเสริมงานผ้าทอ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
เรียบเรียง ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร