มูลนิธิสืบนาคะเสถียรร่วมกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก และคณะกรรมการร่วมอนุรักษ์ชุมชน 7 ชุมชน ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก ดำเนินกิจกรรมการสำรวจข้อมูลการใช้ประโยชน์ของสัตว์ป่าและชุมชน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก ปีที่ 2 (ฤดูเตรียมการเพาะปลูก) ในช่วงเดือน มีนาคม – พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา
โดยการใช้ขอบเขตเส้นการใช้ประโยชน์ชุมชนทั้ง 7 กลุ่มบ้านเป็นเส้นเขตในการกำหนดพื้นที่ในการสำรวจข้อมูล และเก็บข้อมูลโดยแบ่งออกเป็นข้อมูล 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ 1) กิจกรรมมนุษย์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 2) ร่องรอย และจำนวนประชากรสัตว์กินพืช ที่พบในบริเวณแนวขอบของเส้นการใช้ประโยชน์ชุมชน เป็นพื้นที่กันชนออกไปนอกขอบพื้นที่การใช้ประโยชน์ชุมชนระยะทาง 5 กิโลเมตร
ทั้งนี้ เพื่อศึกษาจำนวนประชากรสัตว์กินพืช อันเป็นเหยื่อของเสือโคร่ง จึงเป็นตัวชี้วัดสำคัญของจำนวนประชากรเสือโคร่ง หากประชากรสัตว์กินพืชมีมาก จำนวนประชากรเสือโคร่งก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นไปด้วย
ในขณะที่กิจกรรมมนุษย์ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อจำนวนประชากรสัตว์กินพืช อย่างไรก็ตามรูปแบบในแต่ละกิจกรรมของมนุษย์ที่มีการจัดการแตกต่างกัน ก็อาจส่งผลต่อจำนวนประชากรสัตว์กินพืชเช่นกัน เช่น การทำไร่หมุนเวียน ร่องรอยปศุสัตว์ เป็นต้น
ดังนั้น เพื่อศึกษาความสอดคล้องของกิจกรรมมนุษย์ กับจำนวนประชากรสัตว์กินพืช และความสัมพันธ์ของช่วงเวลา จึงดำเนินการเก็บข้อมูลในช่วงเวลาเตรียมการเพาะปลูก และศึกษาความสัมพันธ์ระหว่าง 3 ปัจจัย ได้แก่ กิจกรรมมนุษย์ สัตว์ป่า และช่วงเวลา เพื่อเป็นข้อมูลในการวางแผนจัดการในพื้นที่และระดับนโยบายอย่างเหมาะสมและเป็นธรรมต่อไป
โดยทำการสำรวจ บ้านจะแก (20เส้น) บ้านทิไล่ป้า (8 เส้น) บ้านเกาะสะเดิ่ง ( 3 เส้น) บ้านสะลาวะ ( 6 เส้น) บ้านไล่โว่ (6 เส้น) และบ้านสะเนพ่อง (7 เส้น)
รวมเส้นทางที่ทำการสำรวจในฤดูการเตรียมการเพาะปลูกทั้งสิ้น 50 เส้นสำรวจ
เพื่อศึกษาผลกระทบจากกิจกรรมมนุษย์กับจำนวนประชากรสัตว์กินพืช ความสัมพันธ์ระหว่างจำนวนประชากรสัตว์กินพืชกับจำนวนประชากรเสือโคร่งความแตกต่างระหว่างห้วงเวลา (ฤดูเตรียมการเพาะปลูก – ฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิต) กับกิจกรรมมนุษย์และจำนวนประชากรสัตว์ป่า
ซึ่งผลที่ได้จะนำไปสู่วางแผนการจัดการสัตว์ป่ารอบพื้นที่การใช้ประโยชน์ชุมชน การกำหนดมาตรการ ข้อตกลง ในการใช้ประโยชน์พื้นที่เพื่อลดผลกระทบต่อสัตว์ป่า
และการขยายผลในระดับนโยบายนำไปสู่โมเดลการจัดการพื้นที่ในระดับประเทศต่อไป