เมื่อวาน (7 เมษายน 2565) ได้รับเกียรติจากชมรมผู้สูงอายุการเคหะแห่งชาติให้ไปขึ้นเวทีเพื่อกล่าวมุทิตาจิตต่ออาจารย์รตยา จันทรเทียร ซึ่งเป็นอดีตผู้ว่าการเคหะหญิงคนแรกเมื่อสามสิบสองปีที่แล้ว ในส่วนของผลงานด้านสิ่งแวดล้อมที่ท่านได้ทำงานในด้านนี้ต่อจากงานหลังเกษียณอายุจากการเคหะแห่งชาติมาอีกสามสิบปี
.
ผมเดินขึ้นเวทีไปยังโพเดียม โดยบนเวทีนั่งเรียงรายไปด้วยอดีตผู้ว่าการเคหะแห่งชาติหลายท่านที่อายุลดหลั่นลงมาจากอาจารย์ไม่มากนัก
ผมสรุปทบทวนช่วงเวลาที่อาจารย์มาเป็นประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียรให้ผู้ร่วมงานฟังว่า
อาจารย์รับเป็นประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร แทบจะพร้อมกับการขึ้นดำรงตำแหน่งผู้ว่าการเคหะแห่งชาติเมื่อปี 2533 และปี 2534 ผืนป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้งก็ได้รับการประกาศเป็น ‘มรดกโลก’ มูลนิธิสืบนาคะเสถียรจัดตั้งขึ้นเพื่อสืบทอดเจตนาคุณสืบและมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมอนุรักษ์ป่าผืนนี้ไว้ให้ได้
หลังจากเกษียณอายุจากการเคหะแห่งชาติ อาจารย์รตยาได้รับเลือกจากคณะกรรมการให้ทำหน้าที่ประธานมูลนิธิสองช่วงเวลา คือ ระหว่าง พ.ศ. 2533-2543 เป็นเวลาสิบปี หลังจากนั้นเปลี่ยนเป็นอาจารย์สุรพล (สุดารา) ในช่วงสั้นๆ สองปีกว่า เมื่ออาจารย์สุรพลเสียชีวิตโดยโรคมะเร็ง คณะกรรมการมีมติขอให้อาจารย์กลับมาเป็นประธานอีกสามวาระ พ.ศ. 2546-2558 เป็นเวลาในช่วงที่สองอีก 12 ปี
อาจารย์รตยาทำหน้าที่ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร 22 ปี มากกว่าสองในสามของการทำงานมูลนิธิสืบนาคะเสถียรจนถึงปัจจุบัน แต่ในความเป็นจริงแล้วอาจารย์ทำงานต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันในฐานะประธานที่ปรึกษา
ผมกล่าวถึงผลงานที่สำคัญของอาจารย์ให้ผู้ร่วมงานได้รับรู้ โดยเลือกที่จะแบ่งช่วงเวลาเป็นสามช่วงในสามทศวรรษ
ทศวรรษที่หนึ่ง ผมเลือกที่จะบอกผู้ฟังว่าผลงานสำคัญในเชิงสัญลักษณ์ของสถาปนิกหญิงคนนี้คือการออกแบบฐานรองรับรูปปั้นของคุณสืบ ซึ่งเป็นฐานปูนเรียบๆ ที่หลังจากนั้นไม่นานก็มีกิจกรรมที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าระดมขนหินมากองปิดฐานนี้ไว้และปลูกต้นจันทร์ผาแทรกไว้จนไม่มีใครเห็นฐานนี้ ที่ยังทำหน้าที่หนักแน่นมั่นคงแม้จะไม่มีใครได้เห็นตัวฐานนั้นอีกต่อไปแล้วก็ตาม ผมเล่าว่า อาจารย์รตยาคือผู้ประสานงานระดมทุน และดูแลการก่อสร้าง ให้เกิดการก่อสร้างอนุสรณ์สถานสืบนาคะเสถียรจนสำเร็จ
.
.
(อนุสรณ์สถานสืบนาคะเสถียร ประกอบไปด้วยการอนุรักษ์บ้านพักไม้หลังเก่า รูปปั้นสืบ นาคะเสถียร (ออกแบบโดยอาจารย์เสวต เทศน์ธรรม) และอาคารประชุมหลังใหญ่ (ออกแบบโดยคุณครองศักดิ์ จุฬามรกต และบริษัทแปลนฯ) ที่ทั้งหมดเชื่อมกันด้วยทางเดินสัญลักษณ์กลีบกุหลาบและบันได 8 ขั้น)
ผมเลือกเล่าเพิ่มเติมว่างานสำคัญของมูลนิธิสืบภายใต้การทำงานของอาจารย์อีกเรื่องคือการสนับสนุนระบบส่งสัญญาณสื่อสารด้วยคลื่นวิทยุบนยอดเขายู่ยี่ ที่หวังว่าเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าห้วยขาแข้งและทุ่งใหญ่นเรศวรจะติดต่อสื่อสารกันได้ทั่วถึง แต่ที่คาดไม่ถึงคือหลังจากทำเสร็จ สถานีรับและทวนสัญญาณนี้กลับสามารถส่งคลื่นวิทยุไปได้เกือบทั่วประเทศ ทำให้การสื่อสารในการอนุรักษ์ป่าของผืนป่าอื่นๆ ได้รับประโยชน์ไปด้วยอย่างมหัศจรรย์เกินคาด
และนี่อาจจะสะท้อนความเป็นพลังความตั้งใจที่ยิ่งใหญ่ของอาจารย์ที่มุ่งหมายทำงานให้เกิดงานอนุรักษ์ป่าขึ้นจริงจังในประเทศไทย
นอกจากนี้ในทศวรรษแรกงานสำคัญ ได้แก่ งานจัดตั้งกองทุนเพื่อผู้พิทักษ์ป่าขึ้นมาสำเร็จ และพัฒนาระบบการดูแลสวัสดิภาพ ขวัญกำลังใจของเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยห้วยขาแข้งและทุ่งใหญ่ได้พอสมควร
.
.
ทศวรรษที่สอง อาจารย์รตยาเป็นกำลังสำคัญที่มุ่งมั่นสนับสนุนการทำงานให้เกิดการขยายผลการอนุรักษ์ป่าอย่างเข้มข้นจากป่าห้วยขาแข้ง-ทุ่งใหญ่ฯ ไปสู่การอนุรักษ์ผืนป่าตะวันตก ตามขอบเขตที่สืบ นาคะเสถียร เคยขีดขอบเขตด้วยปากการอตติ้งไว้บนแผนที่ ที่อาจารย์ใส่กรอบติดไว้ที่ห้องทำงานตลอดมา
ผลงานสำคัญคือการร่วมทำงานกับเครือข่ายพันธมิตรทำให้เกิดการสำรวจเก็บข้อมูลด้านระบบนิเวศและสัตว์ป่าอย่างเป็นระบบทั่วผืนป่าเป็นพื้นที่แรกๆ ของประเทศ ซึ่งอาจารย์บอกเสมอว่ามีขนาด 11.7 ล้านไร่ จากนั้นก็มีส่วนอย่างยิ่งในการสนับสนุนงานวิจัยเสือโคร่งที่เป็นเสมือนดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า
จัดทำโครงการจัดการพื้นที่อนุรักษ์อย่างมีส่วนร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาชุมชนกลางป่าที่ไม่มีขอบเขตทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ตลอดมาในราวๆ หนึ่งร้อยชุมชน จนได้แนวเขตที่ตกลงร่วมกันได้สำเร็จ ผมวิเคราะห์ให้ผู้ฟังฟังว่านี่จะเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจากที่เป็นพื้นฐานจากประสบการณ์การทำงานกับชาวบ้านในพื้นที่ชุมชนแออัดของอดีตผู้ว่าการการเคหะฯท่านนี้แท้ๆ เลย ซึ่งอาจารย์มองปัญหาบนความเป็นเป็นจริง เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย และมีเป้าหมายที่จะพอเป็นไปได้ในการทำงานให้ได้ผลตามเหตุตามปัจจัยในปัจจุบันนั้น
ระหว่างนั้นก็มีผลงานทักท้วงโครงการพัฒนาต่างๆทั้ง เขื่อน ถนน เหมืองแร่ การท่องเที่ยวที่มากเกินไป รวมถึงการเปลี่ยนแปลงกฎหมายที่จะให้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรเกินพอดี และยังสนับสนุนให้เกิดการระบบงานลาดตระเวนขึ้นร่วมกับองค์กรพันธมิตรอย่างต่อเนื่อง
ผลงานสำคัญคือมีแผนที่ข้อตกลงแนวเขตชุมชนทั้งผืนป่า และยังสนับสนุนให้เกิดป่าชุมชนในแนวกันชนรอบผืนป่านับร้อยๆ แห่ง นี่นับเป็นการจัดการพื้นที่รูปธรรมที่ใหญ่โตที่สุดและมีความเป็นไปได้ในการแก้ไขปัญหาการอนุรักษ์อย่างเป็นรูปธรรมที่แท้จริง
ผมไม่ลืมที่จะเล่าว่าคำสอนสำคัญในการทำงานเข้มข้นในช่วงนี้ของอาจารย์ คือ ขอให้เจ้าหน้าที่มูลนิธิสืบทำงานอย่างนอบน้อมถ่อมตน
ซึ่งนี่คือสิ่งที่ทำให้เราทำงานสำเร็จผลและรอดปลอดภัยท่ามกลางความขัดแย้งใหญ่มาได้
.
.
ทศวรรษที่สาม ผมเล่าให้ผู้ฟังเห็นภาพประทับใจของผมในวันที่พวกเรานำแผนที่แนวเขตชุมชนทั่วผืนป่าแผ่นมหึมาไปปรึกษากับอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช คนดังที่ชื่อดำรงค์ พิเดช ฟังในห้องทำงานของอธิบดีคนดุ ที่มีภาพจำในการปราบปรามดุดันคนนั้น ถึงแนวทางการประนีประนอมให้คนอยู่กับป่าได้ในผืนป่าตะวันตก
เรากางแผนที่ดาวเทียมกระดาษมันแผ่นใหญ่ที่มีข้อมูลแนวเขตชุมชนบนพื้นห้อง โดยที่ผมก็ไม่คาดคิด อาจารย์รตยาลงนั่งพับเพียบลงและชวนอธิบดีหน้าดุคนนั้นมาดูและคุยกัน จนอธิบดีต้องลงมานั่งที่พื้นและในเวลาไม่นานก็ยอมแพ้อาจารย์และบอกว่า ท่านก็เห็นด้วยและมอบนโยบายให้เกิดการควบคุมดูแลตามแนวเขตชุมชนโดยไม่ให้ขยายแต่ก็ให้อยู่กับชาวบ้านอย่างปกติสุขร่วมกัน นั่นเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ผู้บริหารรุ่นต่อมาต่างก็รับมาใช้เป็นแนวทางการดูแลอย่างมีส่วนร่วม
และในเวลาอีกไม่นาน ผู้บริหารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมต.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์) และอธิบดีคนที่ผ่านมา (ธัญญา เนติธรรมกุล) ก็ได้นำแนวทางนี้พัฒนาการแก้ไขกฏหมายให้มีมาตราสำคัญใหม่ให้คนอยู่ในป่าอนุรักษ์ได้อย่างมีขอบเขตและมีกติกาถูกต้องจริงๆ
และในช่วงเวลานี้แนวทางการลาดตระเวนที่ทุ่งใหญ่นเรศวรและห้วยขาแข้งก็ได้ขยายผลใช้เป็นรูปแบบไปทั่วประเทศ
ผมเล่าเหตุการณ์ประทับใจเพิ่มเติม เมื่อสมัยที่อาจารย์เป็นประธานเมื่อปี 2556 อาจารย์อายุ 82 ปี หลังน้ำท่วมใหญ่ปี 54 รัฐบาลมุ่งมาดอย่างยิ่งที่จะสร้างเขื่อนแม่วงก์และเขื่อนๆอื่นๆในป่าให้จงได้ อาจารย์รตยาวิตกและเศร้าหมองมาก อาจารย์ปรึกษากับอาจารย์ธงชัย พรรณสวัสดิ์ (นักวิชาการสิ่งแวดล้อมอาวุโส และอดีตประธานผู้ก่อตั้งสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย) ว่าจะหยุดเขื่อนแม่วงก์ได้อย่างไร เมื่อได้รับคำแนะนำให้ไปกางเตนท์ประท้วงการพิจารณา รายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ที่หน้าสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อาจารย์ก็ตกลงใจอย่างมุ่งมั่นว่าจะทำ โดยอาจารย์สั่งให้เราจัดการให้ได้กางเตนท์เพื่อนอนปักหลักประท้วง โดยอาจารย์บอกว่าจะไม่พูดอะไรทั้งนั้นเก็บแรงไว้อดทนสู้ ส่วนงานอธิบายความให้เราเป็นคนสื่อสาร
นั้นนำมาซึ่งการขอเปลี่ยนยุทธวิธีของอาจารย์มาเป็นการเดินประท้วงครั้งใหญ่จากแม่วงก์มากรุงเทพฯ ในปีนั้นของเรา
สาเหตุสำคัญคือผมเชื่อว่าหากปล่อยให้อาจารย์สู้แบบนั้นในวัยแปดสิบสองเราคงมีงานฌาปนกิจในวันนั้นแทนงานมุทิตาจิตในวันนี้แน่นอน
ผมเล่าเพิ่มเติมว่าอาจารย์รตยาในวัยแปดสิบสองมาร่วมเดินหลายช่วง ช่วงสำคัญคือระหว่างผ่านทางแยกใหญ่ช่วงบางปะอินซึ่งต้องข้ามถนนสายเอเชียที่กว้างแปดเลนมาขึ้นสะพานข้ามแยก ช่วงนั้นฝนก็ตก อาจารย์พยายามเดินกับเราจนผ่านแยกลงมาได้ด้วยความเป็นห่วงอย่างยิ่งของผู้ร่วมขบวนแต่ไม่มีใครอยากขัดความตั้งใจของผู้นำหญิงเหล็กในวันนั้น และเชื่อว่าพลังภายในของอาจารย์จะช่วยนำภารกิจของเราให้สำเร็จ ซึ่งนั่นก็เป็นจริงในที่สุด
.
.
ผมสรุปสามทศวรรษนี้เป็นมุทิตาจิตว่าอาจารย์ทำงานจากพื้นที่ห้วยขาแข้ง ค่อยขยายผลมาผืนป่าตะวันตกและส่งผลครอบคลุมออกไปทั่วประเทศอย่างมหัศจรรย์ในช่วงสามทศวรรษที่ได้เล่ามา
จากจุดเริ่มที่เป็นเสมือนสัญลักษณ์ที่อาจารย์สร้างฐานรองรับรูปปั้นคุณสืบที่โดนหินวางกลบปิดมิดแต่ยังทำหน้าที่อย่างมั่นคงฐานนั้น และคลื่นพลังงานมหัศจรรย์จากยอดเขาสูงยู่ยี่ที่ส่งพลังไปทั่วประเทศในครั้งนั้น ทั้งสองเรื่องเป็นสิ่งที่ล้วนมองไม่เห็นด้วยตา แต่ทรงพลังยิ่งใหญ่
ส่วนเสี้ยวของการทำงานของอาจารย์นี้คือคำมุทิตาจิตที่ผมกล่าวเมื่อวานในงานครับ
ผู้เขียน
ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร (18 กันยายน 2558 - 2566)