มูลนิธิสืบฯ จัดกิจกรรมส่งเสริมให้ชุมชนเลี้ยงปลาแบบบ่อดิน เพื่ออนุรักษ์ถิ่นอาศัยเสือปลา

มูลนิธิสืบฯ จัดกิจกรรมส่งเสริมให้ชุมชนเลี้ยงปลาแบบบ่อดิน เพื่ออนุรักษ์ถิ่นอาศัยเสือปลา

ปัจจุบันถิ่นอาศัยแหล่งสำคัญที่ใหญ่ที่สุดของเสือปลา คือ พื้นที่ชุ่มน้ำสามร้อยยอด ซึ่งตั้งอยู่ในและโดยรอบอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ด้วยความหลากหลายของระบบนิเวศมากถึง 10 ประเภท (สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม, 2542) จึงเป็นบ้านของชนิดพันธุ์หายากอีกหลายชนิด อย่างไรก็ตาม ปัจจัยคุกคามสำคัญต่อเสือปลา คือ การขยายตัวของชุมชน ส่งผลให้พื้นที่ชุ่มน้ำซึ่งเป็นถิ่นอาศัยของเสือปลาลดลง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน ที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เอกชน ชาวบ้านจึงมีสิทธิในที่ดิน และสามารถปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินได้ตาม ความต้องการ

เดิมการเลี้ยงปลา เลี้ยงกุ้งแบบดั้งเดิม (บ่อดิน) เสือปลาสามารถใช้ประโยชน์ และหากินในบริเวณชุมชนได้ แต่หากมีการปรับเปลี่ยนไปเลี้ยงปลา เลี้ยงกุ้งแบบ Intensive แบบเข้มข้น คือใช้โครงสร้างคอนกรีต ทำให้เสือปลา ไม่สามารถใช้ประโยชน์พื้นที่ได้ ส่งผลให้ถิ่นอาศัยของเสือปลาลดลง ประกอบกับปัจจุบันภาษีที่ดินรกร้างว่างเปล่า จากการออกกฎหมายภาษีใหม่ทำให้เจ้าของพื้นที่รีบปรับพื้นที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้พื้นที่ที่เสือปลาเคยใช้ประโยชน์ ได้ลดลงอย่างกระทันหัน ส่งผลโดยตรงกับพื้นที่หากิน พื้นที่ใช้ประโยชน์ที่ลดลง อัตราการขยายพันธุ์ของเสือปลาก็ย่อมลดลง ตามไปด้วย 

จากปัญหาดังกล่าวข้างต้น เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2565 มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ร่วมกับอุทยานฯ เขาสามร้อยยอด ได้ดำเนินกิจกรรมนิเทศโครงการ โดยการส่งเสริมวิถีชีวิตดั้งเดิมที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตของเสือปลา ภายใต้โครงการส่งเสริมการอนุรักษ์เสือปลา โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน รอบพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด

กิจกรรมมีการแจกพันธุ์ปลากะพงขาว เพื่อส่งเสริมวิถีการเลี้ยงปลาแบบธรรมชาติ (บ่อดิน) และเพื่อลดการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน พื้นที่ยังคงสภาพเป็น พุ่มไม้ ป่าละเมาะ เพื่อให้เสือปลายังคงสามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่ธรรมชาติร่วมกับคนในชุมชนนั้นได้ โดยมีครัวเรือนที่ได้รับพันธุ์ปลาจำนวน 40 ครัวเรือน จำนวน 7 ชุมชน ได้แก่ บ้านเขาแดง บ้านดอนยายหนู บ้านดอนบ่อกุ่ม บ้านดอนมะขาม และบ้านหนองจอก ต.เขาแดง อ.กุยบุรี บ้านเกาะไผ่-เกาะมอญ และบ้านสามร้อยยอด ต.สามร้อยยอด อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบครีขันธ์ ซึ่งเป็นชุมชนที่อยู่รอบพื้นที่อุทยานฯ เขาสามร้อยยอด และเป็นแหล่งพื้นที่อยู่อาศัยของเสือปลา 

กิจกรรมดังกล่าว เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อป้องกันและชะลอการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ถิ่นอาศัยของเสือปลา ภายใต้โครงการส่งเสริมการอนุรักษ์เสือปลา โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน รอบพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการดำเนินกิจกรรมดังกล่าวจะเป็นการสร้างแรงจูงใจให้กับชุมชนในการที่อนุรักษ์วิถีการเลี้ยงปลาแบบบ่อดินดั้งเดิม เพื่อคงระบบนิเวศให้เอื้อต่อพื้นที่อยู่อาศัยของเสือปลาต่อไป

“เสือปลา (Fishing cat) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Prionailurus viverrinus เป็น 1 ใน 9 สัตว์ตระกูลแมวป่าในประเทศไทย ได้แก่ เสือโคร่ง เสือดาว/เสือดำ  เสือปลา เสือกระต่าย เสือไฟ เสือลายเมฆ แมวดาว แมวป่าหัวแบน และ แมวลายหินอ่อน โดยเสือปลาเป็นแมวป่าขนาดเล็ก ลักษณะคล้ายกับแมวดาว ทำให้บ่อยครั้งมักเกิดความสับสนระหว่างสองชนิดนี้ ปัจจุบันเสือปลามีสถานภาพเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ (Vulnerable) ตาม IUCN Red List ในขณะที่ประเทศไทยเสือปลาได้รับการปรับสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ (Endangered) แสดงให้เห็นว่า สถานภาพของประชากรเสือปลากำลังน่าเป็นห่วง”

ผู้เขียน

+ posts

กองบรรณาธิการ ฝ่ายสื่อสารองค์กรมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และโปรดิวเซอร์รายการ Seub Talk