เสือดำต้องไม่ตายฟรี! เสือดำต้องไม่ตายฟรี! เสือดำต้องไม่ตายฟรี!
เสียงตะโกนก้องหน้าลานกิจกรรมด้านหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร บอกเล่าความหมายของการมารวมตัวกันในครั้งนี้ได้เป็นอย่างดี ว่าเรามากันทำไม เพื่ออะไร หรือเพื่อใคร
วันนี้การดำเนินคดีต่อกลุ่มที่ถูกจับได้ในพื้นที่ห้ามพักแรมของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตกนั้นกำลังดำเนินการเข้าสู่ชั้นศาล ผลจะเป็นอย่างไร ใช้เวลานานเท่าไหร่ เป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันตามกระบวนการยุติธรรม
แต่ภาพปรากฏเมื่อวันเสาร์ที่ 5 พฤษภาคม 2561 นั้น บอกให้เรารู้ว่ายังคงมีสาธารณชนจำนวนไม่น้อยติดตามความเคลื่อนไหวของเรื่องนี้ ทั้งที่ออกมาแสดงตัว และติดตามเรื่องราวผ่านไลฟ์เฟสบุ๊ค
และคำรามร่วมกัน เสือดำต้องไม่ตายฟรี!
เสาร์ห้า ตามความหมายของดวงหรือโชคลาง โหราศาสตร์ ตำนานและอดีตกาล บอกว่าเป็นวันดี วันแรง เป็นภูมิปัญญาแห่งความเชื่อในการให้กำลังใจแก่ผู้คนในสังคมอย่างดี
ไม่บังเอิญและไม่เห็นพ้อง แต่นับเป็นช่วงเวลาที่ดีสำหรับการจัดกิจกรรม ‘ตลาดนัดฅนรักษ์ป่า’ ขึ้น เพื่อแสดงออกถึงการติดตามคดีล่าสัตว์ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งใหญ่ของไทย เป็นช่วงเวลาที่คดีความเสร็จสิ้นในชั้นสอบสวน และกำลังดำเนินไปถึงชั้นศาล เสมือนหนึ่งเป็นงานส่งตัวผู้กระทำความผิดไปรับการพิพากษา
งานนี้ นอกจากมูลนิธิสืบนาคะเสถียร แล้วยังมีองค์กรสิ่งแวดล้อมหลายองค์กรร่วมขึ้นเวทีแสดงพลังและความคิดเห็นต่อคดีเสือดำ อาทิ กลุ่มใบไม้ กลุ่มรักษ์เขาใหญ่ กลุ่มฅ.ฅนทำทาง A CALL for Animal Rights Thailand สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย กลุ่มเพื่อนทับลาน WildAid Thailand TRAFFIC นักศึกษาชมรมอนุรักษ์จากหลายสถาบัน ฯลฯ ตลอดจนนักวิชาการหลายคนที่ผลัดเปลี่ยนขึ้นมาให้ความรู้เกี่ยวกับผืนป่า สัตว์ป่า ระบบนิเวศผืนป่า โดย คุณโดม ประทุมทอง และนายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หรือหมอล็อต
และแน่นอนไม่พลาดที่จะต้องมีเรื่อง ‘เสือดำ’ พระเอกของงาน อันเป็นที่มาของการจัดงาน และการจุดประกายให้สังคมให้คุณค่าความสำคัญของสัตว์ป่า เรื่อยยาวไปจนถึงความสถิตย์ยุติธรรมของสังคม ไม่ว่าจนหรือรวย ทำผิดต้องรับโทษ
ฟากบันเทิงก็มีการแสดงดนตรีสลับ ศิลปินที่มาร่วมงานเกือบทั้งหมด คือ นักดนตรีที่มีเพลงพิเศษเกี่ยวกับ ‘เสือดำ’ อาทิ คุณสุเมธ องอาจ คุณใหม่ วงสิบล้อ คุณเดช อัสดง คุณตะวันฉาย หงษ์วิไล วงพนาไรห์ม วง 25 hours
และความเป็นตลาดนัดจะไม่สมบูรณ์เลยถ้าขาดร้านค้าของเหล่าอาสาสมัครทางสิ่งแวดล้อมที่มาร่วมกันออกร้าน จำหน่ายสินค้าพิเศษที่มีเสือดำเป็นสัญลักษณ์ แถมรายได้จากการจำหน่ายสินค้าภายในงานของหลายๆ ร้านยังได้นำไปบริจาคให้องค์กรสิ่งแวดล้อมเพื่อใช้ในกิจกรรมรักษาผืนป่าสัตว์ป่า
เล่าไปอาจนึกไม่ออกว่าบรรยากาศเป็นอย่างไร จึงอยากชวนชมภาพชุดของงานในครั้งนี้กัน
ส่วนเนื้อหาต่างๆ ในแต่ละช่วงนั้น สามารถติดตามได้ทางลิงค์ ตลาดนัดฅนรักษ์ป่า