จากอดีตถึงปัจจุบัน สู่วันร้อยภาพฝันงานอนุรักษ์กวางผา

จากอดีตถึงปัจจุบัน สู่วันร้อยภาพฝันงานอนุรักษ์กวางผา

‘กวางผา’ เป็นสัตว์ที่ปรากฎอยู่ตราสัญลักษณ์ของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และเป็นสัตว์ป่าสงวนของไทย ถูกจัดอยู่ในกลุ่มสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ มีถิ่นอาศัยอยู่แถบภูเขาสูงทางภาคเหนือ ทว่า ปัจจุบันถิ่นที่อยู่อาศัยของพวกมันลดน้อยลงไปเรื่อย ๆ เพื่อที่จะปกป้องสายพันธุ์นี้เอาไว้ งานอนุรักษ์กวางผา ถึงถือเป็นหมุดหมายสำคัญในภารกิจปัจจุบันของมูลนิธิสืบฯ

เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2565 มูลนิธิสืบฯ ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมจัดงานเสวนา ‘ร้อยภาพฝันงานอนุรักษ์กวางผา’ ณ ห้องประชุมเวียงเจ็ดลิน ชั้น 5 อาคารสำนักงานสวนสัตว์เชียงใหม่ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 

จุดประสงค์การจัดงานเสวนามีขึ้นเพื่อบอกเล่าเรื่องราวด้านการศึกษาและงานอนุรักษ์กวางผาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันผ่าน ข้อมูลด้านวิชาการ ตลอดจนการสร้างเครือข่ายแนวร่วมงานอนุรักษ์กวางผา โดยภายในงานมีทั้งนักวิชาการ อาจารย์ และบุคลากร ด้านป่าไม้ สัตว์ป่า ระบบนิเวศ ร่วมเผยแพร่ข้อมูลผลการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับกวางผา รวมถึงบทบาทการอนุรักษ์กวางผาในมิติที่แต่ละหน่วยงานรับผิดชอบ 

เนื้อหาสำคัญของงานเสวนาแบ่งออกเป็น 3 ช่วง ประกอบด้วย ยุคแรก : ภาพอดีต จุดเริ่มต้นกวางผาในยุคสืบนาคะเสถียร ยุคสอง : สู่การเปลี่ยนแปลงการริเริ่มเพาะขยายพันธุ์กวางผา และยุคสาม : การขับเคลื่อนงานอนุรักษ์กวางผา

ยุคแรก : ภาพอดีต จุดเริ่มต้นกวางผาในยุคสืบนาคะเสถียร

มี น.สพ.ดร.บริพัตร ศิริอรุณรัตน์ ประธานมูลนิธิโลกสีเขียว เป็นผู้ดำเนินรายการ ร่วมกับ รศ.ดร.รัตนวัฒน์ ไชยรัตน์ จากคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ ดร.กฤษณ์ เจริญทอง อดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย มาเป็นวิทยากรในการพูดถึงเรื่องราวเริ่มต้นของการทำงานด้านการอนุรักษ์กวางผาตั้งแต่ยุคสมัยที่ สืบ นาคะเสถียร ยังมีชีวิตอยู่  

ดร.กฤษณ์ ได้เล่าถึงครั้งที่ สืบ นาคะเสถียร เดินทางมาที่ดอยม่อนจอง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย เพื่อตามหากวางผา และศึกษาวิจัย ดร.กฤษณ์ ซึ่งเวลานั้น ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าหน่วยพิทักษ์ป่าม่อนจอง ได้ร่วมเดินทางขึ้นดอยม่อนจองพร้อมกับสืบด้วยเช่นกัน และยังมี ดร.ชุมพล งามผ่องใส จากคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดร.แซนโดร โลวารี ผู้เชี่ยวชาญเรื่องกวางผาฮามัวร์ของอิตาลี และ คำนึง ณ สงขลา หัวหน้าหน่วยพิทักษ์ป่ามูเซอร์ ท้ายที่สุดพวกเขาทั้งหมดก็ได้พบกับกวางผาที่ออกมาหากินในบริเวณดอยม่อนจอง 

ถัดมาทาง รศ.ดร.รัตนวัฒน์ ได้กล่าวต่อถึง การทำวิจัยเรื่องกวางผาในยุคแรก ๆ โดยได้รับทุนจากมูลนิธิสืบฯ มาวิจัยกวางผาที่ดอยม่อนจอง ที่ยังไม่ได้มีงานวิจัยหรืองานศึกษาเกี่ยวกับกวางผามากนักทำให้การศึกษาเต็มไปด้วยความยากลำบาก และต้องขึ้นไปใช้ชีวิตบนดอยม่อนจองนานหลายเดือน หลังจากงานวิจัยประสบความสำเร็จและได้ตีพิมพ์ ผลงานของ รศ.ดร.รัตนวัฒน์ ก็ถูกนำไปพัฒนาต่อยอดจนมีงานวิจัยเกี่ยวกับกวางผาตามออกมาหลายชิ้นในปัจจุบัน จนอาจกล่าวได้ว่างานของ รศ.ดร.รัตนวัฒน์ เป็นจุดเริ่มต้นในการศึกษากวางผาของประเทศไทยเลยก็ว่าได้ 

ยุคสอง: สู่การเปลี่ยนแปลงการริเริ่มเพาะขยายพันธุ์กวางผา

คุณอดิสรณ์ กองเพิ่มพูล อดีตหัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อย ได้อธิบายข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับถิ่นที่อยู่อาศัย แหล่งอาหาร และการจำแนกชนิดพันธุ์ของกวางผา และเล่าถึงการเพาะขยายพันธุ์กวางผาในศูนย์เพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อย ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มประชากรกวางผา ตลอดจนการปล่อยคืนธรรมชาติเพื่อลดปัญหาการเกิดเลือดชิดนั่นเอง 

ถัดมา ผศ.น.สพ.ดร.นิธิดล บูรณพิมพ์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายศิษย์เก่าและนักศึกษาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มาพูดหัวข้อ “ยุคการเปลี่ยนแปลงจากการเพาะขยายพันธุ์สู่การปล่อยกวางผาคืนสู่ธรรมชาติ” สืบเนืองต่อจากคุณอดิสรณ์ที่ได้เกริ่นถึงการเพาะขยายพันธ์กวางผา ทาง ผศ.น.สพ.ดร.นิธิดล ได้กล่าวต่อถึงการจัดการดูแลกวางผาในช่วงหลังการปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ กล่าวคือ ได้มีการตรวจสุขภาพ ให้ความรู้เกี่ยวกับกวางผาแก่คนในพื้นที่โดยรอบถิ่นที่อยู่อาศัยของกวางผาเพื่อสร้างการตระหนักต่อเรื่องกวางผาในชุมชน โดยทั้งหมดนี้ล้วนเป็นกระบวนการภายหลังจากการปล่อยกวางผาที่เพาะพันธ์คืนสู่ธรรมชาติ เพื่อให้กวางผาสามารถอาศัยอยู่ได้ในธรรมชาติอย่างปลอดภัย 

ต่อมา ผศ.ดร.ครศร ศรีกุลนาถ จาก ภาควิชาพันธุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ได้ขึ้นมาพูดถึง “ความสำเร็จในการป้องกันการเลือดชิด: เครื่องมือการประเมินความหลากหลายพันธุกรรมและวางแผนจับคู่ผสมพันธุ์ของกวางผา เพื่อวางแผนอนุรักษ์และปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ” ผ่านงานวิจัยของผศ.ดร.ครศรเอง ที่ได้วิจัยเกี่ยวกับภาวะเลือดชิดที่อาจเกิดขึ้นจากการผสมพันธุ์กวางผา ที่อาจกระทบต่อสุขภาพและสรีระของกวางผาในรุ่นต่อ ๆ ไป หลังจากปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ดังนั้น การศึกษาของ ผศ.ดร.ครศร จึงได้มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาการศึกษากวางผา เพื่อต่อยอดสู่การช่วยให้กวางผาที่จะเกิดขึ้นมาในรุ่นถัด ๆ ไปนั้นมีความสมบูรณ์แบบมากที่สุด 

หัวข้อสุดท้ายของช่วงที่สองคือ “การสำรวจประชากรกวางผาอย่างเข้มข้นจนนำไปสู่การวางแผนอนุรักษ์กวางผาอย่างเป็นรูปธรรม”โ ดยคุณมงคล สาฟูวงศ์ หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าดอยเชียงดาว จ.เชียงใหม่ ที่ได้มานำเสนอการประเมินประชากรกวางผาและผลงานวิจัยกวางผาทั้งที่ปล่อยคืนธรรมชาติและที่มีอยู่ในธรรมชาติ ซึ่งการปล่อยกวางผาคืนสู่ธรรมชาตินี้ถือว่าประสบความสำเร็จ ชี้วัดได้จากตัวเลขแสดงจำนวนกวางผาที่ปล่อยคืนสู่ธรรมชาติของสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อย โดยตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา มีการปล่อยกวางผาสู่ธรรมชาติไปแล้ว 84 ตัว และปล่อยมากขึ้นในปีถัด ๆ ไป นอกจากนี้คุณมงคลยังได้กล่าวต่อถึงการดำเนินการสำรวจการกระจายตัวของกวางผาที่นำมาใช้ในงานวิจัยต่อไปด้วย

ยุคสาม: การขับเคลื่อนงานอนุรักษ์กวางผา

โดยมี รศ.ดร.ประทีป ด้วงแค เป็นผู้ดำเนินรายการ และมี ดร.สมหญิง ทัฬหิกรณ์ นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช คุณธิษณะ สมใจดี เจ้าหน้าที่โครงการ ส่วนงานจิตสำนึก มูลนิธิไทยรักษ์ป่า คุณรุ่งลาวัลย์ แสงสิริย์ หัวหน้างานอนุรักษ์ ฝ่ายอนุรักษ์ วิจัย และสุขภาพสัตว์ สวนสัตว์เชียงใหม่ มาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องการอนุรักษ์กวางผาในด้านต่าง ๆ 

คุณธิษณะ ได้ถึงแผนการอนุรักษ์กวางผาผ่านการทำเส้นทางศึกษาธรรมชาติ การมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติช่วยให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าถึงธรรมชาติได้ง่ายขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงช่วยส่งเสริมให้าธารณชนเกิดความรู้สึกตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมและกวางผาได้ง่ายและเร็วขึ้น ที่สำคัญไปกว่านั้นเส้นทางศึกษาธรรมชาติยังก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจต่อท้องถิ่นด้วย 

อย่างไรก็ดี คุณธิษณะ ตั้งข้อสังเกตุว่า หากนักท่องเที่ยวขาดความรับผิดชอบไม่ปฏิบัติตามกฎกติกา ก็อาจทำให้เส้นทางศึกษาธรรมชาติและระบบนิเวศโดยรอบได้รับความเสียหายและเกิดความเปลี่ยนแปลงต่อสภาพแวดล้อมได้ เช่น การย่ำออกนอกเส้นทาง 

ถัดมาคุณรุ่งราวัลย์ ได้เล่าถึงการอนุรักษ์และเพาะพันธุ์กวางผาผ่านองค์กรสวนสัตว์ เพื่อใช้เป็นกรณีศึกษาแก่บุคคลทั่วไป โดยคุณรุ่งราวัลย์ได้เสนอวิธีที่จะเชื่อมโยงคนและสิ่งแวดล้อมเข้าด้วยกัน ผ่านการสร้างความตระหนักต่อสิ่งแวดล้อมหรือแม้แต่เรื่องการอนุรักษ์กวางผา ทำอย่างไรก็ได้ให้ทุกคนรับรู้ว่ากวางผาคือสัตว์ที่มีความสำคัญต่อประเทศไทยมากแค่ไหน 

สุดท้าย ดร.สมหญิง ได้เล่าถึงภาพรวมของกรมอุทยานฯ ในการเข้ามาดำเนินการอนุรักษ์กวางผา โดยกรมอุทยานฯจะใช้ข้อมูลทางวิชาการ ควบคู่กับการดูแลพื้นที่ที่อยู่อาศัยของกวางผาผ่านระบบ SMART Patrol ซึ่งได้เข้ามามีบทบาทอย่างยิ่งต่อการจัดการดูแลถิ่นที่อยู่อาศัยของกวางผา ตลอดจนมีส่วนช่วยในการอนุรักษ์กวางผาต่อไป 

ที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นเนื้อโดยสรุปของงาน ร้อยภาพฝันงานอนุรักษ์กวางผา ที่เชื่อมร้อยเรื่องราวการอนุรักษ์สัตว์ใกล้สูญพันธุ์ตัวนี้ตามช่วงเวลาต่าง ๆ ตั้งแต่ยุคของคุณสืบ จนยุคถึงปัจจุบัน 

ถึงแม้ว่ากาลเวลาจะผันเปลี่ยน แต่เจตนารมณ์ด้านการอนุรักษ์จะยังคงสืบต่อไป

ติดตามบันทึกเสวนาฉบับเต็มได้เร็วๆ นี้ ทาง SEUB CHANNEL

ผู้เขียน

+ posts

หนุ่มน้อยผู้หลงรักความไม่สมบูรณ์แบบ ออกเดินทางเพื่อเก็บภาพความงดงามของธรรมชาติ และชอบอ่านวรรณกรรมเป็นชีวิตจิตใจ

+ posts

ถ่ายภาพเพื่อบันทึกเรื่องราว และบางคราวก็เอาภาพมาเล่าเรื่อง มีความสุขกับการดริปกาแฟ และชื่นชมแคตตัส