มูลนิธิสืบฯ ร่วมกับ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี กรมอุทยานฯ ประชุมเตรียมความพร้อมเพื่อจัดตั้ง ‘คณะกรรมการมรดกโลก’ กลุ่มป่าแก่งกระจาน หวังสร้างกลไกในการมีส่วนร่วมด้านการอนุรักษ์จากทุกภาคส่วน โดยมีนายพิชัย วัชรวงษ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรีทำหน้าที่ประธานที่ประชุม
เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2565 เวลา 10.00 น. ณ. ห้องประชุมสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี. ผู้อำนวยการส่วนอุทยานฯ, หัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี และผู้แทนจากอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ได้จัดประชุมหารือแนวทางการดำเนินโครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการจัดการพื้นที่คุ้มครองกลุ่มป่าแก่งกระจาน (Co-Management of Protected Area of Kaeng Krachan Forest Complex) โดยนายธนากร ไชยยศ ผู้แทนจากมูลนิธิสืบนาคะเสถียรและผู้ประสานงานโครงการฯ ได้ชี้แจงกรอบแนวทางการดำเนินโครงการฯ แก่ที่ประชุมซึ่งประกอบด้วย 6 ด้าน ได้แก่
ด้านที่ 1 การอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุล และยั่งยืนบนฐานการจัดการร่วม (Co-Management)
ด้านที่ 2 การปรับปรุงรูปแบบการใช้ประโยชน์ที่ดิน และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตภาคการเกษตรที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ด้านที่ 3 การพัฒนาและส่งเสริมอาชีพให้มีความหลากหลายและเพิ่มมูลค่าผลผลิตของท้องถิ่น
ด้านที่ 4 การส่งเสริมการจัดการภูมิปัญญาท้องถิ่นและองค์ความรู้ของชุมชนท้องถิ่นที่เกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพ
ด้านที่ 5 การส่งเสริมการรวมกลุ่มและการจัดระบบภายในชุมชนให้มีความเข้มแข็ง
ด้านที่ 6 การพัฒนากลไกที่ปรึกษาหารือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อการบริหารจัดการอย่างเป็นธรรมและสันติ
โดยกรอบการดำเนินโครงการฯ ทั้ง 6 ด้าน ดังกล่าว จำเป็นต้องอาศัยกลไกในการขับเคลื่อนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายบนพื้นฐานการมีส่วนร่วมทั้งในระดับพื้นที่ และระดับนโยบาย ซึ่งที่ประชุมได้เสนอแนวทางการจัดตั้ง ‘คณะกรรมการมรดกโลกกลุ่มป่าแก่งกระจาน’ ขี้น โดยคัดเลือกตัวแทนจากคณะกรรมการที่ปรึกษาพื้นที่อนุรักษ์ (Pac) ในพื้นที่กลุ่มป่ามรดกโลกกลุ่มป่าแก่งกระจาน จำนวน 4 พื้นที่ ประกอบด้วย ตัวแทนคณะกรรมการที่ปรึกษาฯ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี อุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และอุทยานแห่งชาติกุยบุรี
โดยแต่ละพื้นที่จะมีสัดส่วนตัวแทนจากพื้นที่ๆ ละ 7 ท่าน พร้อมพิจารณาแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญด้านด่างๆ ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิจากองค์กรพัฒนาเอกชน คณาจารย์จากมหาวิทยาลัย ผู้แทนจากฝ่ายปกครอง ฯลฯ
ซึ่งในขั้นตอนต่อไปแต่ละพื้นที่จะเสนอรายชื่อเพื่อพิจารณา และแต่งตั้งจากกรมอุทยานฯ เพื่อขับเคลื่อนงานตามกรอบการดำเนินโครงการฯ ต่อไป
กลุ่มป่ามรดกโลกแก่งกระจาน เป็นผืนป่าขนาดใหญ่ที่ต่อเนื่องไปกับเทือกเขาตะนาวศรี มีเนื้อที่ประมาณ 2.5 ล้านไร่ (4,089 ตารางกิโลเมตร) มีความยาวตั้งแต่เหนือสุดถึงใต้สุดของพื้นที่มากกว่า 200 กิโลเมตร อยู่ในเขตพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ประกอบด้วยพื้นที่อนุรักษ์จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี อุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ด้วยความโดดเด่นและความหลากหลายทางชีวภาพเป็นโดยได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2563 นับเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติลำดับที่ 3 ของประเทศไทย ต่อจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร–ห้วยขาแข้ง และกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่