ทีมวิจัยโครงการฟื้นฟูประชากรกวางผาในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว สามารถติดปลอกคอให้กวางผาในธรรมชาติได้ 3 ตัว หลังทำการติดตามจากกวางผาที่ถูกปล่อยจากกรงเพาะเลี้ยง จากสัญญาณ GPS ต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลา 1 ปีเต็ม
.
ทีมวิจัยคาดหวังว่าการศึกษาชิ้นนี้จะสามารถเป็นต้นแบบในการจัดการสัตว์ป่าหรือปล่อยสัตว์ป่าคืนสู่ธรรมชาติในอนาคต
ในปี 2562 ทีมวิจัยจากสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเชียงดาว ได้ทำการปล่อยกวางผาจากกรงเพาะเลี้ยง สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อย มาฝึกปรับสภาพในกรงฝึกชั่วคราว พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว เพื่อให้กวางผาสามารถปรับตัวในพื้นที่ป่าธรรมชาติเป็นระยะเวลา 7 เดือน ก่อนปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ (Soft Release)
ปัญหาของกวางผาในพื้นที่คือการเกิดเลือดชิด ทำให้กวางผาที่เกิดใหม่มีสุขภาพไม่สมบูรณ์และอ่อนแอ ฉะนั้นจึงต้องนำกวางผาจากที่อื่นที่มีสายเลือดแตกต่างกันมาปล่อยในเชียงดาว เพื่อเพิ่มความหลากหลายทางพันธุกรรม
ทีมวิจัยพบว่ากวางผาจากการเพาะเลี้ยงสามารถปรับตัวให้เข้ากับถิ่นที่อยู่อาศัยในพื้นที่ธรรมชาติได้เป็นอย่างดี
.
ข้อมูลที่ได้จากกวางผาที่ทางทีมวิจัยได้ทำการปล่อยไปก่อนหน้านี้นับว่ายังไม่สมบูรณ์มากนัก เนื่องจากเป็นข้อมูลด้านของกวางผาจากการเพาะเลี้ยง ทางทีมวิจัยจึงได้มีการดักจับกวางผาในธรรมชาติ มาใส่ปลอกคอสัญญาณดาวเทียม เพื่อที่จะได้นำข้อมูลของกวางผาในธรรมชาติมาเปรียบเทียบอีกทางหนึ่ง
ในช่วงเดือนมกราคม 2564 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ได้ทำการขนย้ายอุปกรณ์ในการทำกรงดักจับกวางผา เข้าไปยังจุดที่คัดเลือกไว้ ซึ่งลึกเข้าไปประมาณ 5 กิโลเมตร ปีนี้สามารถติดปลอกคอสัญญาณดาวเทียมได้ 3 ตัว ซึ่งทั้งหมดเป็นกวางผาเพศเมีย ประกอบด้วย ตัวที่ 1 ผักกาด collar id 43037 ตัวที่ 2 บุญรอด collar id 43038 และตัวที่ 3 ดงน้อย collar id 43039
ปลอกคอนี้สามารถส่งสัญญาณผ่านดาวเทียมทุก ๆ 1 ชั่วโมง ทำให้ทีมวิจัยทราบด้วยว่า ในหนึ่งวันกวางผาแต่ละตัวมีพฤติกรรมอย่างไรในถิ่นที่อยู่อาศัย นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังสามารถเก็บข้อมูลพื้นที่หากินของกวางผาได้ด้วย
จากการติดตามที่ผ่านมาได้เก็บข้อมูลพื้นที่หากิน พื้นที่ใช้ประโยชน์ และได้ทำการส่งเจ้าหน้าที่เพื่อเข้าไปสำรวจพืชและอาหารสัตว์ รวมไปถึงบริเวณขับถ่าย รอยคุ้ย รอยลับเขาของกวางผา ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีการวิจัยในกวางผาหรือในสัตว์กีบอย่างจริงจังเหมือนคราวนี้มาก่อน ทีมวิจัยหวังว่างานนี้จะเป็นงานวิจัยชิ้นแรก ๆ และเป็นต้นแบบในการจัดการสัตว์ป่าหรือปล่อยสัตว์ป่าสู่ธรรมชาติ ทั้งกวางผาและสัตว์กีบต่อไปในอนาคต