1
เสรีภาพ ยิ้มเฟือง เข้ามาเป็นเจ้าหน้าที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ในเดือนพฤศจิกายน 2561
นับเวลามาถึงวันนี้ เขามีอายุการทำงานประมาณหนึ่งปีครึ่ง
มองที่ชั่วโมงบินอาจนับว่าพอมีประสบการณ์อยู่บ้าง แต่ก็ยังถือเป็น ‘มือใหม่’ เรื่องงานอนุรักษ์
โดยเฉพาะเมื่อมองไปที่วัยวุฒิเทียบกับสถานการณ์งานภาคสนามที่ต้องเผชิญ – ท่ามกลางพายุพลวัตที่หอบเอาความสมดุลในระบบนิเวศปลิดปลิวไปทุกวินาที – งานที่เขาทำในฐานะผู้ถ่วงดุล
บางครั้งดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่ใหญ่เกินตัวเสียเหลือเกิน
.
.
2
“ผมเพิ่งมารู้จักงานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจริง ๆ จัง ๆ ตอนเห็นอาจารย์ศศินเดินคัดค้านเขื่อนแม่วงก์”
ในความหลังเมื่อปี 2556 – เสรีภาพ แอบเดินตาม ศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร (ตำแหน่งเวลานั้น) อยู่ห่าง ๆ
ผ่านวันด้วยการเฝ้าติดตามผลงานอย่างเงียบ ๆ และปวารณาจิตวิญญาณเป็นแฟนคลับ ด้วยสนใจในพลังความทุ่มเทของศศิน แบบเดียวกับเรื่องเล่าแต่หนก่อน ถึงการเสียสละที่แลกได้กระทั่งชีวิตของ สืบ นาคะเสถียร
ภาพจำเหล่านั้นฝังแน่นอยู่ในใจ บันดาลกระตุ้นให้เจ้าตัววางเป้าหมายของชีวิตไว้ที่บทบาทนักอนุรักษ์เช่นบุคคลทั้งสอง
.
.
3
จนฤดูฝน 2561 มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ประกาศรับสมัครเจ้าหน้าที่ฝ่ายระดมทุน
บัณฑิตหนุ่ม ดีกรีปริญญาวิชาภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์เชิงท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม ตัดสินใจสมัครมาทำงานให้พี่สืบโดยไม่ลังเล
แม้จะเคยผ่านกิจกรรมออกค่ายเชิงสิ่งแวดล้อมในรั้วมหาวิทยาลัยมาก่อน และพอมีประสบการณ์ทำงานที่อื่นมาบ้างพอสมควร แต่เมื่อเทียบกับการมาเป็นนักอนุรักษ์มืออาชีพ เขายอมรับว่าตัวเองประเมินงานสายนี้ต่ำเกินไป
เสรีภาพ ไม่ประสบความสำเร็จในฐานะเจ้าหน้าที่ฝ่ายระดมทุน – ผลงานไม่เป็นไปตามเป้ายุทธศาสตร์องค์กร
เขาเกือบท้อ แต่ยังไม่คิดถอย
ในสายตาที่เบิกกว้างอยู่ตลอดเวลา เสรีภาพได้เรียนรู้ว่างานอนุรักษ์มีมากหลายมิติ ใช่เพียงแต่คอยเฝ้าระวังขับไล่ภัยพาลผืนป่า หรือออกไปวิ่งหางบมาใช้บริหารจัดการกิจกรรม ในด้านที่ไม่เคยรู้จักมาก่อนยังมีเรื่องที่ต้องทำในส่วนอื่น ๆ อีกมาก เช่น การสนับสนุนภาคประชาชนให้มีวิถีชีวิตเป็นมิตรกับผืนป่า ที่ต่อมาได้กลายเป็นภารกิจประจำตัวไปในที่สุด
.
.
4
“งานของผมตอนนี้ คือ เป็นผู้ประสานงานโครงการสมุนไพรอินทรีย์ในผืนป่าตะวันตก”
โครงการสมุนไพรอินทรีย์ในผืนป่าตะวันตก เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาวิสาหกิจชุมชน ที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียรเข้าไปช่วยส่งเสริมและพัฒนาอาชีพให้กับชุมชนที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในผืนป่าอนุรักษ์และที่อาศัยอยู่ประชิดขอบป่าได้หาเลี้ยงชีพโดยไม่เข้าไปเบียดเบียนผืนป่าอย่างเช่นที่เคยเป็นในอดีต
กิจกรรมหลักมีด้วยกันทั้งหมด 3 ด้าน คือ งานปลูกกาแฟรักษาป่า การทอผ้าตามวิถีภูมิปัญญาท้องถิ่น และงานส่งเสริมการปลูกสมุนไพรอินทรีย์ มูลนิธิสืบนาคะเสถียรมีบทบาทเป็นผู้สร้างองค์ความรู้ สร้างกระบวนการกลุ่มและการทำงานเป็นทีมให้เกิดขึ้นในชุมชน ตลอดจนเป็นตัวกลางจัดหาตลาดจำหน่ายสินค้าที่เหมาะสม และเดิมทีภารกิจเหล่านี้มีผู้รับผิดชอบเพียงคนเดียว
จากความพยายามศึกษาและเรียนรู้ภารกิจขององค์กรที่มีมากกว่าที่เคยรู้ และได้ทราบถึงปัญหาการบริหารจัดการงานบางอย่างที่ยังไม่สำเร็จ เจ้าตัวจึงอาสามาเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้ายในภารกิจผู้ประสานงานโครงการสมุนไพรอินทรีย์ในผืนป่าตะวันตก สร้างโอกาสใหม่ให้ตัวเอง และขอแก้ตัวในภารกิจที่ต่างออกไป
“ถึงผมจะทำงานได้ไม่นาน แต่ก็รู้สึกผูกพันกับมูลนิธิสืบนาคะเสถียรและอยากทำงานต่อ แต่ผมทำงานระดมทุนไม่ได้เลยขอเปลี่ยนภารกิจกับฝ่ายบริหาร พอดีกับงานสมุนไพรอินทรีย์กำลังต้องการกำลังเสริม ผมเลยได้เข้ามาทำงานในส่วนนี้แทน”
.
.
5
ในภารกิจที่สองของการทำงานให้พี่สืบ – ทุกเดือน เสรีภาพ ต้องเปลี่ยนจากงานนั่งโต๊ะหรือเดินเข้าห้องประชุมแอร์เย็นฉ่ำเป็นการเดินทางฝ่าสายฝนและแสงแดดแรงร้อน วิ่งวนในพื้นที่ภาคสนามอย่างน้อยเดือนละ 10 วัน เทียวไล้เทียวขื่อตั้งแต่อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก เรื่อยมาถึงจังหวัดกาญจนบุรี และจังหวัดอุทัยธานี เข้าป่าทุ่งใหญ่นเรศวร เดินลัดเลาะเรือกสวนไร่นา แปลงปลูกสมุนไพรอินทรีย์ของชุมชนหลายสิบไร่ ทำหน้าที่จัดประชุมกลุ่มสมุนไพรเป็นประจำทุกเดือน นำเสนอข้อมูลผลผลิต และรายได้การขายสมุนไพรให้แต่ละกลุ่มฟัง ประสานงานกับผู้รับซื้อ (มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร) ตรวจสอบปริมาณผลผลิต บางครั้งอาจรวมไปถึงการเป็นคนขับรถส่งของ และลงตรวจสุขภาพแปลงสมุนไพรอินทรีย์ของชุมชนร่วมกับนักวิทยาศาสตร์
เขายอมรับว่าไม่เคยรู้จักเรื่องสมุนไพรมาก่อน คนในครอบครัวทั้งหมดประกอบอาชีพรับราชการ จะมีบ้างบางวันที่เคยเดินตามพ่อไปปลูกต้นไม้รอบบ้าน แต่ก็ไม่ได้ทำเป็นเรื่องเป็นราวมากนัก
บทเรียนเรื่องพืชสีเขียวในชีวิตที่ผ่านมา จึงเป็นเพียงงานอดิเรกของเศษส่วนเวลาเสียมากกว่า
แต่ความลำบากของงานไม่ใช่เรื่องความรู้ในตำรา
การทำให้ชุมชนยอมรับคนทำงานหนุ่มต่างหาก ที่เป็นความยากบนทางท้าทายที่ต้องก้าวเดิน
ในช่วงแรกของการเปลี่ยนงาน เสรีภาพติดสอยผู้จัดการโครงการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนในผืนป่าตะวันตก (คุณยุทธนา เพชรนิล) ดูการทำงาน ก่อนได้รับมอบหมายให้ลงพื้นที่ทำงานด้วยตัวเอง
“ครั้งแรกที่ต้องจัดประชุมชาวบ้านคนเดียว ผมตื่นเต้นมาก ไม่รู้ว่าควรวางท่าทีหรือพูดจาอย่างไรให้ชาวบ้านฟัง รู้สึกเกร็งและประหม่าเอามาก ๆ เพราะเราเป็นแค่เด็กคนหนึ่ง มาจากไหนก็ไม่รู้ แต่ต้องพูดต้องบอกและสั่งงานผู้ใหญ่ เลยรู้สึกกลัวว่าเขาจะไม่เชื่อที่เราพูด ยิ่งเห็นชาวบ้านมากันน้อย แถมบางคนยังลุกกลับไปก่อนที่เราจะประชุมจบ ก็ยิ่งรู้สึกใจคอไม่ดี”
ในบทบาทใหม่ที่ยังไม่โรยด้วยกลีบกุหลาบ เสรีภาพ พยายามทำใจดีสู้เสือ และปลอบใจตัวเองในแง่บวก
“ตอนที่เห็นพี่น้องชาวบ้านเดินออกจากวงประชุม ผมรู้สึกเสียใจ ลึก ๆ ก็นึกโกรธอยู่บ้าง แต่ก็พยายามคิดว่า ต่างคนต่างมีเหตุผลของตัวเอง เขาอาจมีความจำเป็นอื่น ๆ ต้องไปทำ อาจไม่สะดวกมานั่งฟังเราพูด”
.
.
6
บางครั้งงานอนุรักษ์ก็เป็นเรื่องที่ต้องเสี่ยง
“ผมคิดว่าการทำงาน มันไม่ได้มีสูตรสำเร็จที่ตายตัว เมื่อลองวิธีนี้ไม่ได้ ก็ต้องมองหาวิธีใหม่ แก้ไขกันไปเรื่อย ๆ บ้างก็อาศัยลอกเลียนวิธีการจากรุ่นพี่ บ้างก็คิดเองบ้าง”
แต่คนทำงานเหมือนกันบางครั้งผลลัพธ์อาจไม่เหมือนกัน
บางวิธีอาจสำเร็จกับคนหนึ่ง แต่อาจไม่สำเร็จกับอีกคนหนึ่ง
เสรีภาพ พบว่าในวงประชุมที่เต็มไปด้วยการเล่ารายละเอียดงานขึงขัง มักมีกำแพงที่มองไม่เห็นปรากฎขึ้นกลางความรู้สึกของทั้งผู้พูดและผู้ฟัง แต่พอเปลี่ยนเป็นการคุยสัพเพเหระบรรยากาศตึงเครียดก็ลดทอนลง
“ผมต้องใช้เวลาสักพักใหญ่ กว่าจะพาชาวบ้านมาประชุมได้ครบทุกคน และอยู่ฟังผมพูดจนจบ ลองผิดลองถูกเปลี่ยนเรื่องเปลี่ยนวาระไปเรื่อย ๆ”
“ผมพยายามเอาความจริงใจเข้าสู้ เรามาด้วยประสงค์ดี ไม่หวังในผลประโยชน์อื่น นอกจากให้ชาวบ้านได้ประกอบอาชีพมีรายได้พอใช้โดยไม่เบียดเบียนผืนป่า”
“แต่สิ่งสำคัญ คือ เราต้องทำให้เห็นว่า ‘เราทำได้’ ชาวบ้านอาจไว้เนื้อเชื่อใจคนที่ทำงานมาก่อน เป็นผู้อาวุโสมากกว่าเด็กอย่างเรา เราก็ต้องพิสูจน์ ถ้าเราบอกชาวบ้านว่าเราจะทำอะไร เราก็ต้องทำให้ได้อย่างที่พูด เราต้องไม่เป็นเด็กเลี้ยงแกะ”
.
.
7
แม้จะผ่านเวลาการทำงานมาแล้วหนึ่งปีครึ่ง เป็นที่ยอมรับและไว้วางไว้ในหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ แต่ เสรีภาพ ถ่อมตัวว่าเขาเป็นเพียงน้องใหม่ที่ต้องเรียนรู้งานอีกแยะ
โดยส่วนตัวเขาวางความหมายในหน้าที่การงานว่าเป็นเพียงจิ๊กซอว์ชิ้นเล็ก ๆ เพียงชิ้นหนึ่ง
“พี่เหล็ก ยุทธนา เพชรนิล วางรากฐานงานนี้มาแน่นแล้ว แต่เมื่อก่อนพี่เขาทำคนเดียวมันย่อมเกิดช่องโหว่ขึ้นบ้าง ผมก็เป็นเหมือนซ่างซ่อมตัวเล็ก ๆ ที่ลงไปอุดรูรั่วต่าง ๆ แต่ถึงจะเป็นหน้าที่เล็ก ๆ ผมก็ดีใจที่ได้ทำ ได้คอยช่วยเติมเต็มงานอนุรักษ์ของมูลนิธิให้มันครบร้อยเปอร์เซ็นต์”
“อย่างการต้องขับรถส่งของ ผมคิดว่ามันก็เป็นหน้าที่ที่สำคัญนะ ถ้าไม่มีคนทำหน้าที่นี้ ชาวบ้านก็อาจขาดรายได้ ต้องไปหาจ้างคนมาทำ แล้วไว้ใจให้เขารับผิดชอบของได้ไหม ถ้าส่งของไม่ตรงตามเวลา หรือทำของเสียหาย มันก็กลายเป็นปัญหาอื่น ๆ ตามมา”
“ผมคิดว่าการที่ผมมาทำงานอยู่ตรงนี้มันเป็นการเสียสละที่ไม่ได้มากเกินไป ลองคิดดู ชาวบ้านอยู่ในป่าในดงจะมีสักกี่คนที่สนใจเขา จะมีสักกี่คนที่เอาความหวังดีไปหยิบยื่นให้โดยไม่หวังผลอะไร มันมีไม่กี่คนหรอก คนที่จะทำแบบนี้ มันก็ต้องเป็นคนที่มีจิตใจที่เสียสละจริง ๆ เพราะทำไปก็ไม่ได้อะไร”
“วันนี้ผมได้ทำในสิ่งที่ผมชอบ ได้ทำในสิ่งที่ผมติดตามมา ผมเชื่อว่า การมาทำงานเพื่อธรรมชาติ เราต้องเป็นคนที่ต้องยอมเสียสละบ้าง ไม่อย่างนั้นงานจะไม่มีทางสำเร็จ”
“ผมยอมเป็นคนเสียสละในส่วนนี้เอง”
ผู้เขียน
ทำงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ การเขียน เรื่องสิ่งแวดล้อมและดนตรีนอกกระแส - เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตใช้ไปกับการนั่งมองความเคลื่อนไหวของใบไม้และสายลม