1
รักแรกพบของ ทราย – ชฎาภรณ์ ศรีใส เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เกิดขึ้นในวันที่เธอยังเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 1
ท่ามกลางร่มไม้ใหญ่ และแดดอ่อนตอนเช้า เป็นเวลาเดียวกับที่เหล่าสัตว์มีปีกเริ่มออกหากิน พวกมันส่งเสียงเจื้อยแจ้วกังวานสะท้อนก้องไปทั่วโสตของนักเดินทางแปลกหน้าที่ย่างเข้ามาในอาณาเขต
ในสายตาของผู้มาเยือน บ้างเห็นเพียงหลังไวไวยามพวกมันกำลังโผย้ายจากกิ่งหนึ่งไปยังอีกกิ่งหนึ่ง บ้างก็ไม่รู้ว่าเจ้าของเสียงร้องนั้นแอบซ่อนอยู่ตรงไหน
แต่พลันได้จับภาพเข้ากับ ‘นกเขียวก้านตองหน้าผากสีทอง’ ห้วงอารมณ์ในชั่วขณะได้โยนความประทับใจเข้าใส่ มันเหมือนถูกตรึงไว้ด้วยพรหมลิขิต ที่มัดไว้ด้วยเส้นด้ายสีแดงขมวดเป็นปมแน่นไว้อีกชั้น
นับแต่นั้น เธอ – ชฎาภรณ์ ศรีใส – ไม่เคยหยุดดูนก
แม้ในบางนาทีสายตาของเธออาจไม่ได้จ้องไปยังเหล่าวิหคเลยก็ตาม
2
ทราย เป็น ‘เด็กเมือง’ เช่นสามัญทั่วไป ก่อนวันมีสถานะเป็นนักศึกษา เพื่อจบมาเป็นบัณฑิตสาขาชีววิทยาเชิงอนุรักษ์ เธอไม่รู้จักนกมากกว่าที่เคยพบพวกมันทำรังอยู่ตรงระเบียง หลังคา และที่เกาะอยู่บนสายไฟระเกะระกะของเมือง
เธอสารภาพว่าในห้องสมุดของสมองส่วนหน้า มีเพียงชื่อ นกเขา นกพิราบ นกเอี้ยง นกกระจอก อีกา และนกที่พอเห็นในเมืองใหญ่บ้าง – ไม่มากเกินกว่านั้น
ไม่รู้จักชื่อวิทยาศาสตร์ และชนิดพันธุ์ย่อย ไม่รู้ถึงพฤติกรรม และอาหารการกิน ไม่รู้ว่าพวกเขาเหล่านั้นมีความสำคัญอย่างไรต่อระบบนิเวศ
จากกิจกรรมดูนกในยามเช้า ที่ ‘บังคับ’ เด็กใหม่ให้ออกมาเรียนรู้ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติ จนมาพบกับ นกเขียวก้านตองหน้าผากสีทอง – กลางแดดอ่อนยามสายที่ส่องต้องมาตรงปลายไม้ราวแสงสปอตไลท์สาดจับนักแสดงนำบนเวทีละครโอเปร่า – เธอบอกว่าสีของมันเขียวเป็นประกายราวมรกต ส่วนหน้าผากเป็นสีทองเหมือนพรมกำมะหยี่
ต่อภาพจำอันเป็นความงามนั้น ประกายแรงเร้าให้เธอเริ่มออกควานหาสิ่งที่คล้ายกัน รู้สึกอยากเห็นมากกว่าที่เห็น อยากพาตัวเองไปรู้จักมากกว่าที่เคยรู้จัก
ในช่วงชั้นปีที่ 2 ที่มีเรื่องดูนกเป็นวิชาหลัก ทราย รู้จักมิตรต่างสายพันธุ์มากขึ้น และเริ่มดูเป็นประจำทุกวันหลังเลิกชั้นเรียนด้วยความสมัครใจ
จากความเป็นไปที่ดำรงเรื่อยทุกเมื่อเชื่อวัน เธอตอบคำถามได้ไม่ชัดเจนนักว่าทำไมถึงชอบกิจกรรมนี้
รู้เพียงว่าสบายใจทุกครั้งที่ได้เห็น
อาจเพราะรูปทรง สีสัน เสียงร้อง และพฤติกรรม
แบบเดียวกับที่ศิลปินคนหนึ่งเคยเขียนเป็นเพลง ร้องฮิตกันไปทั่วบ้านทั่วเมืองในทำนองป็อปร็อก “…ดูรวม ๆ แล้วมีเสน่ห์เหลือเกิน…” อย่างไรอย่างนั้น
“การเคลื่อนไหวของนกแต่ละชนิดมันไม่เหมือนกัน มีพฤติกรรม อุปนิสัย ที่ไม่เหมือนกัน ทั้งปัจจัยทางด้านสรีระ สภาพของป่า พอได้เห็นก็รู้สึกเพลิดเพลิน”
ขณะที่โปรเจ็คท์จบการศึกษา ก็เลือกเอาเรื่องของนกมาทำรายงาน – หัวข้อ ความชุกการติดเชื้อปรสิตกลุ่ม Haematozoan ในเลือดของนกที่พบในมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี
3
นักดูนกบางคนอาจมีเป้าหมายอยากตามเก็บรายชื่อนกที่พบเห็น เช็คลิสต์สิ่งที่สายตาสัมผัสให้ได้มากที่สุด
แต่สำหรับ ทราย เธอเล่าว่าความสุขไม่ได้อยู่ที่ปริมาณ
ในคำถามที่ว่า เคยเห็นนกมากแค่ไหน ? เธอตอบ – น่าจะครึ่งหนึ่งที่ประเทศไทยมี นับรวมถึงกลุ่มนกอพยพที่บินผ่านมาและจากไป
และในคำถามต่อมา อยากเห็นให้ครบทั้งหมดไหม ?
คำตอบ คือ ไม่!
ความพอใจมีเพียง ‘ได้เห็น’ ไม่มากไปกว่านั้น
แต่หากจะมีเป้าหมายใดในมโนสำนึก เธออยากชวนเพื่อนฝูงเข้ามาสัมผัสในสิ่งเดียวกัน
ครั้งหนึ่ง เป็นโชคดีบนความบังเอิญ – ในวิชาเรียนมีกิจกรรมให้ต้องออกแรงปีนต้นไม้ใหญ่ อันเป็นทักษะหนึ่งที่นักสำรวจพึงฝึกฝน และมันจำเป็นอย่างยิ่งต่อการเป็นนักวิทยาศาสตร์ด้านชีววิทยา
บนต้นไทรความสูงเกือบ 30 เมตร ทราย ป่ายปีนไปเกือบถึงยอด
ในที่ไกลออกไป ณ เรือนยอดที่สูงลิบอีกแห่ง เหล่านกเงือกกรามช้าง สัตว์สายพันธุ์โบราณที่เป็นอัมเบลล่าสปีชีส์กำลังเกาะเก็บเกี่ยวกินอาหารร่วมกันเป็นฝูงใหญ่
ใช่! มันเป็นเรื่องโชคดีบนความบังเอิญที่ไม่อาจพบเห็นภาพเช่นนั้นได้ง่าย
และไม่อาจสาธยายได้ถูกว่าภาพนั้นงดงาม ตราตรึง และสร้างความประทับใจได้อย่างไร
เว้นเสียแต่ คนคนนั้นจะมีประสบการณ์เช่นเดียวกับเธอ
และเธออยากชวนให้มิตรสหายได้พบเห็นด้วยตาตัวเอง
กับความพอใจอีกเรื่อง เธออยากบอกให้ทุกคนรู้ว่า นกนั้นสำคัญอย่างไรต่อโลกของเรา
“นกแต่ละตัวมีความสำคัญในตัวของมันเอง อย่างนกเงือกเราก็จะรู้ว่าเป็นนกที่มีความสวยงามและเป็นนักปลูกป่า แต่นกอื่น ๆ อย่างพวกตัวเล็ก ๆ ที่ทำหน้าที่กินแมลง นกพวกนี้ก็มีความสำคัญต่อระบบนิเวศเหมือนกัน แต่ว่าเราอาจไม่รู้จัก ก็อยากสื่อสารเรื่องพวกนี้ให้คนอื่น ๆ ได้รู้ด้วย”
หากมีโอกาส เธอมักเชื้อเชิญให้เพื่อนได้เห็นเหมือนที่เธอเห็น
“ถ้านกหายไป ก็เหมือนจิ๊กซอว์ที่ต่อไม่เสร็จ เมื่อไม่มีความสวยงาม ไม่มีเสียงดนตรีจากธรรมชาติ โลกก็ไม่สมบูรณ์แบบ”
สิ่งนี้ คือ บทบาทในฐานะนักอนุรักษ์ ที่เติบโตขึ้นมาพร้อมวันแหงนหน้ามองฟ้าและยอดไพรสีเขียว
4
ทุกการเดินทาง หากไม่เหลือบ่ากว่าแรง เธอจะมีกล้องสองตาติดกระเป๋าอยู่เสมอ
สมบัติชิ้นนี้ไม่ได้ถูกใส่ไว้ในเป้สะพายหลังร่วมกับสิ่งอื่น ๆ แต่จะอยู่รวมในฐานะข้าวของที่ขีดเส้นใต้ไว้ว่าต้องใช้เป็นประจำ หรือไม่อย่างนั้นก็จะคล้องคอไว้ไม่ห่างตัว ราวกับมันเป็นอวัยวะชิ้นที่ 33
ยามใดไม่ได้พกกล้องติดตัว เธอก็สังเกตด้วยตาเปล่า – มองเท่าที่ความสามารถทางสายตาของมนุษย์จะอำนวย
หรือบางเวลาที่มีงานติดพัน อันไม่อาจละสายตาไปจากหน้าที่เฉพาะกิจได้ ก็ขอเงี่ยหูฟังไว้ก่อนก็ยังดี
เกือบ 10 ปีที่ดูนก เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้รับทักษะบางอย่างมาโดยไม่รู้ตัว
“การดูนกเราจะต้องใช้ความไวของสายตา เพื่อนชอบบอกว่าเราเป็นนักจับผิด นักติ เราคิดว่าตรงนี้ได้มาจากการดูนก หรือตอนที่เราได้ยินเสียงนก ก็ได้ฝึกทักษะการจำแนกแยกแยะ ว่าเสียงนี้เป็นนกชนิดไหน”
ซึ่งนั่นเป็นทักษะสำคัญของการทำหน้าที่ “หมาเฝ้าบ้าน” ที่ฝ่ายวิชาการมูลนิธิสืบนาคะเสถียรพึงมี
ผู้เขียน
ทำงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ การเขียน เรื่องสิ่งแวดล้อมและดนตรีนอกกระแส - เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตใช้ไปกับการนั่งมองความเคลื่อนไหวของใบไม้และสายลม