กำหนดการ รำลึก 32 ปี สืบ นาคะเสถียร
ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
วันเสาร์ 17 กันยายน 2565
13:00 – 13:30 : บริพัตร ศิริอรุณรัตน์ – สิ่งแวดล้อมเมือง (บันทึกวีดีโอ)
13:30 – 14:00 : สมโภชน์ ดวงจันทราศิริ – 12 ปี การอนุรักษ์เสือโคร่ง หลังปฏิญาณหัวหิน
14:00 – 14:30 : ไชยยันต์ เกษรดอกบัว – การฟื้นฟูประชากรสัตว์ป่าสูญพันธุ์
14:30 – 15:00 : ชนัญญา กาญจนสาขา – สัตวแพทย์กับเส้นทางการอนุรักษ์
15:00 – 15:30 : ประชา คุณธรรมดี – หลักเศรษฐศาสตร์บนฐานสิ่งแวดล้อม
15:30 – 16:00 : ส.รัตนมณี พลกล้า – การปกป้องทรัพยากรไร้พรหมแดน
16:00 – 16:30 : ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ – ทรัพยากรทางทะเลจะรอดได้อย่างไร
16:30 – 17:00 : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล – สื่อมวลชน กระบอกเสียงปัญหาสิ่งแวดล้อม
17:00 – 17:30 : นันทิชา โอเจริญชัย – บทบาทคนรุ่นใหม่กับการปกป้องโลก
17:30 – 18:00 : แนะนำหนังสือการสูญพันธุ์ครั้งที่ 6
SET UP 30 นาที
18:30 – 19:30 : ดนตรี วงเดอะ แลมป์ (มาโนช พุฒตาล)
วันอาทิตย์ 18 กันยายน 2565
12.30 – 14.20 : ละครโทรทัศน์ชุดค่าของแผ่นดิน เรื่อง ‘เสียงเต้นของ…หัวใจในป่าใหญ่’
14.20 – 15.00 : ภาพยนตร์ ‘ฝนตกที่ห้วยขาแข้ง’
15.00 – 16.00 : ทางออกสำหรับอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนดอยู่ตรงไหน?
- ธรรมนูญ เต็มชัย กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช
- ไพฑูรย์ เก่งการช่าง ผอ.สทนช. ภาค2
- มานะ ชนะสิทธิ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
- อรยุพา สังขะมาน มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
16:30 – 17:00 : ชฎาภรณ์ ศรีใส – รายงานสถานการณ์ป่าไม้ไทย
17:00 – 17:30 : ศศิน เฉลิมลาภ – บรรยายพิเศษแผนที่กับงานอนุรักษ์
SET UP 30 นาที
18:00 – 19:00 : ดนตรี พยัคฆ์ไพรใจดี
19:00 – 20:00 : ดนตรี คณะขวัญใจ
2 ปีที่ผ่านมา ด้วยสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทำให้สภาพสังคม และกิจกรรมต่างๆ ทั้งโลกได้หยุดชะงักลง เพื่อควบคุมการระบาดของโรคติดต่อ ซึ่งล่าสุดวารสาร Science ได้ตีพิมพ์วิจัยสองชิ้นที่ยืนยันว่า ต้นตอโควิดมาจากตลาดค้าสัตว์อู่ฮั่น ไม่ใช่ห้องแล็บ
เรื่องนี้ ถือเป็นภาพสะท้อนความสัมพันธ์ของคนและธรรมชาติเป็นอย่างดี
เมื่อเราคุกคามธรรมชาติ ย่อมก่อให้เกิดผลกระทบตามมาอย่างไม่อาจคาดเดาได้ ไม่ว่าจะทางตรงและทางอ้อม และไม่ได้ส่งผลต่อสุขภาพของผู้คนเท่านั้น แต่ยังสะเทือนไปถึงสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างรุนแรง
มากไปกว่านั้น ยังกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
แม้ในบางมิติ การหยุดชงักของสภาพเศรษฐกิจและสังคม จะทำให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ลดลง การเดินทางที่น้อยลงทำให้สภาพอากาศในเมืองใหญ่ไม่ขุ่นมัว สรรพสัตว์ได้ใช้ชีวิตอย่างเสรี โดยปราศจากการรบกวนของผู้คน แต่ในอีกด้าน ใช่ว่าการล้างผลาญทรัพยากรจะชะงักตาม ซ้ำในบางแห่งกลับยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น เช่น ในมาดากัสการ์ ผู้คนต่างฆ่าความหิวด้วยการตักตวงทรัพยากรจากสัตว์ป่า ไม่ว่าจะเป็นการล่าค่าง หรือการทำประมงนอกฤดูในป่าแอมะซอน จนทำให้สัตว์หลายสายพันธุ์มีโอกาสเสี่ยงสูญพันธุ์ ขณะเดียวกันยังพบว่าหน่วยงานหรือองค์กรที่ทำงานอนุรักษ์กลับไม่สามารถดำเนินงานได้ตามเป้าหมาย เพราะขาดเงินสนับสนุนในทุกๆ ระดับ
มากไปกว่านั้น เมื่อสถานการณ์โรคระบาดทุเลาลง ปล่อยปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกก็เพิ่มขึ้นอย่างมาก ตามรายงานองค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency, IEA) พบว่าในปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2564) การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกี่ยวข้องกับพลังงานทั่วโลกเพิ่มขึ้น 6% ในปี 2564 เป็น 36.3 พันล้านตัน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเท่าที่เคยมีมา เนื่องจากความพยายามฟื้นตัวของประเทศต่างๆ ที่ดูจะสวนทางกับมติการประชุม COP26 เมื่อปลายปีที่ผ่านมา
ในประเทศไทย แม้ในช่วงเวลาดังกล่าวจะไม่มีเหตุการณ์ทำลายป่าครั้งใหญ่เกิดขึ้น หรือไม่มีเหตุการณ์ล่าสัตว์ขนาดใหญ่จนทำให้คนทั้งประเทศเกิดความรู้สึกสะเทือนใจ แต่ในเบื้องหลังพบว่ามีการผลักดันโครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อผืนป่า ตลอดจนที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าเกิดขึ้นหลายแห่ง นับเฉพาะโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่อนุรักษ์ก็มีถึงเกือบร้อยโครงการ แม้โครงการเหล่านี้จะยังอยู่ในขั้นตอนการขออนุมัติ จัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือขั้นตอนการประชุมหารือต่างๆ แต่สิ่งนี้ก็สะท้อนถึงทิศทางการพัฒนาที่ไม่เป็นมิตรกับอนาคตของผืนป่า และสถานการณ์สิ่งแวดล้อมโลกเสียเลย
ณ เวลาที่อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นแล้ว 1.1 องศา อันนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างสุดขั้ว และเป็นเวลาที่นักวิทยาศาสตร์เตือนว่าเรากำลังอยู่ในยุค ‘สัญญาณเตือนสีแดง’ จึงเป็นช่วงที่เราควรให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมมาเป็นอันดับแรก เพราะนี่คือรากฐานสำคัญของสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม
มูนิธิสืบนาคะเสถียร ในฐานะที่เป็นองค์กรทางสิ่งแวดล้อม ที่ให้ความสำคัญกับการปกป้องป่าผืนใหญ่และแหล่งธรรมชาติ ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของสัตว์ป่า และความหลากหลายทางชีวภาพเป็นอันดับแรก ผ่านวิสัยทัศน์การเป็นองค์กรสาธารณะของไทยที่ขับเคลื่อนงานอนุรักษ์ผืนป่าและสัตว์ป่าที่สำคัญ โดยการจัดการฐานความรู้ ข้อมูลทางวิชาการ ประกอบการตัดสินใจ พร้อมเผยแพร่สู่สาธารณะด้วยงานสื่อสารที่ทันสมัย และสร้างเครือข่ายความร่วมมือ เพื่อผลักดันเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย ในวิกฤตการณ์การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ของสิ่งมีชีวิต และการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของโลก รวมถึงการทำงานเพื่อยกระดับมาตรฐานผู้พิทักษ์ป่า และพัฒนาการจัดการผืนป่าตะวันตกสู่การเสนอเป็นมรดกโลก
จึงขอใช้โอกาสนี้ สะท้อนถึงสถานการณ์ทางสิ่งแวดล้อมที่พวกเราทั้งหมดกำลังจะเผชิญ ผ่านการจัดงานรำลึก 32 ปี สืบ นาคะเสถียร ขึ้นระหว่างวันที่ 17-18 กันยายน พ.ศ. 2565 ณ ห้องอเนกประสงค์ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร