‘งานอนุรักษ์บนแผนที่’ – แผนที่ถือเป็นเครื่องมือสำคัญชิ้นหนึ่งที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ใช้ในการทำงานอนุรักษ์ โดยมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้นำแผนที่มาใช้ตั้งแต่แรกเริ่มก่อตั้งองค์กร เพื่อใช้ในการประกอบกิจกรรมงานอนุรักษ์
ในระยะเริ่มต้น เพื่อใช้ประกอบกิจกรรมการคัดค้านโครงการพัฒนาต่างๆ ที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อผืนป่าและสัตว์ป่า เพื่อแสดงถึงที่ตั้งของโครงการ สำหรับการสื่อสารให้สื่อมวลชนและสาธารณชนได้เห็นภาพร่วมกันว่าจะเกิดอะไรขึ้นในบริเวณไหน
ตัวอย่างในการเดินคัดค้านรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของโครงการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ ในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ ก็จะเห็น ศศิน เฉลิมลาภ หยิบแผนที่ขึ้นมาบรรยายอย่างสม่ำเสมอ
มูลนิธิสืบนาคะเสถียร เริ่มพัฒนาและออกแบบแผนที่เป็นของตัวเองเมื่อปี พ.ศ. 2542 โดยมีการพัฒนารูปแบบการใช้งานมากขึ้นเมื่อครั้งทำโครงการจัดการผืนป่าตะวันตกเชิงระบบนิเวศ WEFCOM Ecosystem Management Project และมีเจ้าหน้าที่ GIS (เจ้าหน้าที่ภูมิศาสตร์ สารสนเทศ) เข้ามาออกแบบและจัดทำแผนที่ ในช่วงดำเนินโครงการดังกล่าว
ช่วงที่มีการใช้และจัดทำแผนที่มากๆ เกิดขึ้นในช่วงทำโครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วม (Joint Management of Protected Areas) พ.ศ.2547-2557 และต่อเนื่องมาถึงการดำเนินการโครงการในระยะที่ 2 พ.ศ. 2553-2557 ซึ่งมีการจัดทำแผนที่ทั้งในระดับกลุ่มป่าตะวันตก ระดับชุมชน และในระดับพื้นที่คุ้มครอง เพื่อใช้ประกอบการทำงานในพื้นที่ร่วมกับชุมชน หน่วยงานภาครัฐ ทั้งใช้ทำความเข้าใจ ไปจนถึงงานผลักดันในเชิงนโยบาย และเป็นโมเดลตัวอย่างการจัดการอย่างมีส่วนร่วมในพื้นที่อนุรักษ์
นอกจากมีการทำแผนที่ในพื้นที่อนุรักษ์แล้ว มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ยังได้จัดทำแผนที่ป่าชุมชนรอบพื้นป่าตะวันตก ผ่านแนวความคิดเรื่องป่าชุมชน และการใช้ประโยชน์ทรัพยากรของชุมชนในพื้นที่ป่าชุมชน เพื่อลดการพึ่งพิงทรัพยากรในป่าอนุรักษ์
หรือโครงการที่ทำร่วมกับภาครัฐ อาทิ โครงการพัฒนาการบริหารจัดการพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติในผืนป่าตะวันตก มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ก็ได้ผลิตแผนที่ขึ้นเพื่อให้หน่วยพิทักษ์ป่าของกรมป่าไม้ได้ใช้ประโยชน์ในการทำงาน
การจัดทำแผนที่ของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ยังคงถูกพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ และใช้ในกิจกรรมที่แตกต่างออกไป เช่น ใช้ในงานวิชาการ ในการจัดทำแผนที่สถานการณ์ป่าไม้ของประเทศไทย (เริ่มจัดทำรายงานมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554) เพื่อสื่อความหมายเรื่องพื้นที่ป่าที่เหลืออยู่ หรือแผนที่เพื่อการสื่อสารที่ถึงคุณค่าความสำคัญและระบบนิเวศของผืนป่า
ตลอดระยะเวลาการทำงานอนุรักษ์ผืนป่าและสัตว์ป่า มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ออกแบบ ผลิตแผนที่เพื่อการจัดการผืนป่า แก้ไขปัญหาการใช้ทรัพยากร และงานอนุรักษ์ผืนป่า โดยเฉพาะในกลุ่มป่าตะวันตก ไม่ต่ำกว่า 1,000 รายการ
นิทรรศการ ‘งานอนุรักษ์บนแผนที่’ ได้นำเสนอแผนที่การทำงานของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เพื่อนำเสนอบทบาทการทำงานอนุรักษ์ขององค์กร โดยเฉพาะในพื้นที่กลุ่มป่าตะวันตกซึ่งดำเนินการมานานกว่าสองทศวรรษ เป็นแบบอย่างของคำว่า “คนอยู่ได้ ป่าอยู่ได้ สัตว์ป่าอยู่ได้”
นิทรรศการงานอนุรักษ์บนแผนที่ จัดแสดงระหว่างวันที่ 13-18 กันยายน พ.ศ. 2565 ณ โถงชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
ผู้เขียน
ทำงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ การเขียน เรื่องสิ่งแวดล้อมและดนตรีนอกกระแส - เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตใช้ไปกับการนั่งมองความเคลื่อนไหวของใบไม้และสายลม