“คนอยู่ได้ ป่าอยู่ได้ เสือก็อยู่ได้”
“กู้ป่า รักษาชุมชน”
“ปรับทุกข์ ผูกมิตร ปักหลัก ชักชวน จัดตั้ง”
ประโยคเหล่านี้ คือ ภารกิจที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียร เริ่มดำเนินการในช่วงย่างก้าวสู่ทศวรรษที่ 3 อันมีแผนที่ที่คุณสืบ นาคะเสถียร ได้ลากเส้นเขตแดนกลุ่มป่าขนาดใหญ่ ที่เรียกว่าป่าตะวันตกเอาไว้ สู่การจัดการผืนป่าตะวันตกอย่างมีส่วนร่วม การเปลี่ยนบทบาทครั้งสำคัญของมูลนิธิสืบฯ จากองค์กรสื่อสารด้านการอนุรักษ์ สู่การทำงานเชิงปฏิบัติการกับ 129 ชุมชน หลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ในผืนป่าตะวันตก ภายใต้โครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วมในผืนป่าตะวันตก Join Management of Protected Area (Jompa)
ขณะเดียวกันภายหลังจากสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ ปี 2554 “เขื่อนแม่วงก์” ถูกนำมาปัดฝุ่นอีกครั้ง ภายใต้โครงการ 3.5 แสนล้าน ของรัฐบาลยุคนั้น ความไม่ชอบธรรมของกระบวนการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EHIA)” นำมาซึ่งการเดินเท้า 13 วัน ระยะทางกว่า 300 กิโลเมตร เพื่อคัดค้าน EHIA โครงการเขื่อนแม่วงก์ ที่ปลุกกระแสการอนุรักษ์คนรุ่นใหม่ในสังคมไทย
ก้าวย่างสู่ทศวรรษที่ 3 ของมูลนิธิสืบฯ บทบาทองค์กรอนุรักษ์ของประเทศไทย ได้ถูกถ่ายทอดผ่านการสนทนา โดยภาณุเดช เกิดมะลิ เลขาธิการมูลนิธิสืบฯ และ อรยุพา สังขมาน รองเลขาธิการมูลนิธิสืบฯ ใน SEUB TALK SPECIAL “สามทศวรรษมูลนิธิสืบนาคะเสถียร” ตอนที่ 3
แนวคิดในการคัดค้านโครงการที่จะก่อให้เกิดผลกระทบกับผืนป่า มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ดำเนินการบนฐานข้อมูลเป็นสำคัญ เพื่ออธิบายว่า มีเหตุอะไรที่ทำให้เรามีข้อคัดค้านไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้าง แล้วเรามีทางเลือกอย่างไรในการแก้ปัญหาตรงนั้น ที่น่าจะถูกจุด และถูกต้องมากกว่า รวมถึงประหยัดงบประมาณมากกว่า
ขอขอบคุณ ธนาคารไทยพานิชย์ จำกัด (มหาชน) บริษัท เท็กซ์ไทล์ แกลลอรี่ จำกัด บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)