เมื่อวันที่ 13-18 กันยายน พ.ศ. 2565 ที่โถงชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้จัดนิทรรศกร ชุด ‘งานอนุรักษ์บนแผนที่’ บอกเล่าเรื่องราวการทำงานขององค์กร โดยมีแผนที่เป็นสื่อในการเล่าเรื่อง
แผนที่สำคัญกับงานอนุรักษ์ผืนป่าอย่างไร เนื้อเรื่องนี้ จะนำเสนอที่มาและงานที่ถูกบันทึกไว้แผนที่แผ่นต่างๆ ที่ได้จัดแสดงไว้

แผนที่ป่าตะวันตก
แผนที่แผ่นนี้ เป็นหนึ่งในแผนที่ทำขึ้นในช่วงแรกๆ ของงานป่าตะวันตก ข้อมูลที่ปรากฎมีเพียงที่ทำการพื้นที่อนุรักษ์กับหน่วยพิทักษ์ป่าเท่านั้น โดยทั่วไปมักใช้แสดงพื้นที่อนุรักษ์ของกลุ่มป่าตะวันตก และประกอบในเอกสารหรือหนังสือที่ว่าด้วยเรื่องราวการทำงานของมูลนิธิสืบนาคะเสถียรในอดีต โดยเฉพาะในช่วงดำเนินโครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วม ระยะที่ 1

แผนที่เพื่อการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วมในผืนป่าตะวันตก
แผนที่แผ่นนี้ถูกจัดทำขึ้นพร้อมกับคู่มือการมีส่วนร่วมและการจัดการความขัดแย้งในผืนป่าตะวันตก ซึ่งเป็นคู่มือที่รวบรวมข้อมูล วิธีทำงาน และผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม ในการทำงานร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่พื้นที่คุ้มครอง กรมอุทยานแห่งชาติฯ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ชุมชนที่ตั้งถิ่นฐานภายในและประชิดผืนป่าตะวันตก และหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง
สำหรับตัวของแผนที่จะแสดงให้เห็นลักษณะความสำคัญของพื้นที่อนุรักษ์ในรูปแบบต่างๆ ทั้งความเป็นป่าต้นน้ำตลอดจนลุ่มน้ำที่สำคัญในผืนป่าตะวันตก แสดงพื้นที่ดำเนินกิจกรรมสำคัญในโครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วม ตลอดจนรูปแบบการจัดการพื้นที่ทำกินในป่าและประชิดขอบป่า ซึ่งลักษณะที่แตกต่างนี้หมายถึงกระบวนการจัดการงานที่แตกต่างกัน

แผนที่แสดงแนวเขตชุมชนและพื้นที่ใช้ประโยชน์ชุมชนคลิตี้ล่าง
ในโครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วม ภารกิจสำคัญ คือการสำรวจพื้นที่ใช้ประโยชน์ชุมชน เป็นการดำเนินงานเพื่อให้ได้ข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ถูกต้องเป็นปัจจุบัน เพื่อนำมาหารือร่วมกันกับภาคีที่เกี่ยวข้อง โดยยจำเป็นต้องให้ชุมชนสำรวจข้อมูลที่เป็นปัจจุบันของชุมชนก่อน และร่วมพิจารณาหลักการร่วมกับฝ่ายรัฐ เพื่อนำไปสู่การร่วมเดินหมายแนวเขตที่ได้รับการยอมรับจริง และให้เจ้าหน้าที่มีข้อมูลไปกำหนดมาตรการที่เหมาะสมในการบริหารจัดการพื้นที่คุ้มครองตามแต่สถานภาพและสถานการณ์ที่เป็นไปได้ในแต่ละพื้นที่ การสำรวจข้อมูลแนวเขตที่ครอบครอง ยึดหลักว่าจะรักษาบริเวณป่าผืนใหญ่ให้ได้ทันเสียก่อน มิเช่นนั้นจะทำให้เกิดการล่าช้าและกระทบต่อทรัพยากรป่าผืนใหญ่อย่างไม่ทันกาล

แผนที่ติดตามการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินจากฐานข้อมูลจอมป่า โครงการพัฒนาระบบงานอนุรักษ์ในผืนป่าตะวันตก
จากการทำฐานข้อมูลพื้นที่การใช้ประโยชน์ชุมชน และข้อตกลงภายใต้โครงการจอมป่า รับรองโดยอธิบดีดำรง พิเดษฐ์ อธิบดีกรมอุทยานในขณะนั้น เกิดการพัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อเป็นแบบอย่าง และเครื่องมือให้กับกรมอุทยานฯ ในการติดตามการบุกรุกพื้นที่ป่าผ่านฐานข้อมูล โดยการใช้ระบบดาวเทียม Google Earth เพื่อความสะดวกของหัวหน้าพื้นที่ในการบริหารจัดการพื้นที่ ประหยัดงบประมาณในการเดินทาง และบางพื้นที่เข้าถึงยากลำบาก ปัจจุบันดาวเทียม Google Earth มีการอัพเดตอยู่ตลอด ทำให้การทำงานป้องกันรักษาป่าของพื้นที่ และกรมอุทยานฯ เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

แผนที่เครือข่ายภูมินิเวศผืนป่าตะวันตก
เครือข่ายภูมินิเวศผืนป่าตะวันตก เป็นงานที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียร พยายามรวมเอาชุมชนจากที่ต่างๆ มาสานต่องานเป็นเครือข่าย จากเดิมที่ทำงานแยกส่วนกัน ระหว่าง พี่น้องชาติพันธุ์ในผืนป่า ภายใต้โครงการจอมป่า 129 ชุมชน กับเครือข่ายป่าชุมชน 135 ชุมชน ซึ่งระหว่างทำงานกลับพบว่าชุมชนส่วนใหญ่ทั้งในและนอกป่าเป็นกลุ่มญาติพี่น้องกัน มีวิถีวัฒนธรรมเหมือนกัน และที่สำคัญ คือ มีระบบนิเวศของพื้นที่เชื่อมต่อกัน และแม้แต่ลักษณะปัญหาของชุมชนในแต่ละกลุ่มก็คล้ายคลึงกัน
เครือข่ายภูมินิเวศป่าตะวันตก จึงเป็นการสร้างร้อยเครือข่ายเกี่ยวโยงชุมชนทั้งหมด ด้วยกระบวนการเวทีเรียนรู้ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อการอยู่ร่วมกับป่าอย่างยั่งยืน ซึ่งเวลานั้นมีชุมชนที่ร่วมเครือข่ายทั้งสิ้น 264 ชุมชน

แผนที่อุ้มผาง ป่ารักษาเมือง เมืองรักษาป่า
อำเภออุ้มผางเป็นเมืองที่ล้อมรอบไปด้วยผืนป่า และร้อยละ 96 ของพื้นที่ก็ยังคงสภาพป่าสมบูรณ์ทั้งของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผางและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก
เหตุที่อำเภออุ้มผางยังคงรักษาความอุดมสมบูรณ์เอาไว้ได้นั้น มาจากความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ทั้งหน่วยงานรัฐ องค์กรสิ่งแวดล้อม ตลอดจนภาคประชาชน ผ่านกิจกรรมจัดการพื้นที่มากมายหลายรูปแบบ ทั้งพื้นที่ในป่าอนุรักษ์ ตลอดจนพื้นที่ขอบป่าโดยรอบ ซึ่งการจัดการทั้งหมดได้อธิบายรวมไว้ในแผนที่อุ้มผาง ป่ารักษาเมือง เมืองรักษาป่าแผ่นนี้

แผนที่แสดงหน่วยสงวนและป้องกันรักษาป่า 15 แห่ง
ในปี พ.ศ. 2559 มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้ขยายขอบเขตการทำงานออกมานอกผืนป่าอนุรักษ์ โดยจัดทำฐานข้อมูลการจัดการกลุ่มป่าสงวนแห่งชาติที่อยู่รอบๆ ผืนป่าตะวันตก เพื่อสนับสนุนการดูแลรักษาพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติผืนป่าตะวันตก ผ่านงานลาดตระเวนร่วมกับคณะกรรมการชุมชนในพื้นที่ป่าชุมชนในโครงการ และร่วมกับพื้นที่คุ้มครองในพื้นที่เป้าหมายหลักเพื่อการอนุรักษ์ระบบนิเวศที่มีความสำคัญของผืนป่าตะวันตก เป็นแนวป่ากันชนของพื้นที่คุ้มครอง และการเชื่อมระบบนิเวศทางธรรมชาติ และจัดทำข้อมูลประกอบการพิจารณาของกรมป่าไม้ในการบริหารจัดการพื้นที่ ที่จะรักษาคุณค่าความสำคัญของระบบนิเวศในผืนป่าตะวันตกให้คงอยู่อย่างยั่งยืน

แผนที่แสดงป่าที่เหลืออยู่ของประเทศไทย
มูลนิธิสืบนาคะเสถียร จัดทำแผนที่แสดงป่าที่เหลืออยู่ของประเทศไทย ขึ้นในปี พ.ศ. 2555 เพื่อประกอบรายงานสาธารณะ “สถานการณ์ป่าไม้ไทย” โดย ศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร (ตำแหน่งเวลานั้น) ก่อนจะเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ฝ่ายวิชาการมูลนิธิสืบฯ จะรายงานสถานการณ์ป่าไม้ของประเทศถึงจำนวนพื้นที่ป่าที่เหลืออยู่ เพิ่มขึ้นหรือลดลงจากปีก่อนๆ อย่างไร พื้นที่ใดป่าลดลงมากที่สุด พร้อมรายงานสถานการณ์ภัยคุกคามที่เกิดขึ้นกับผืนป่าเป็นประจำทุกปี
สำหรับแผนที่ป่าที่เหลืออยู่ในปี พ.ศ. 2555 นี้ แสดงให้เห็นถึงพื้นที่ป่า ขอบเขตของพื้นที่คุ้มครองทั้งอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และแนวเขตจังหวัดที่พื้นที่ป่าลดลงอย่างรุนแรงในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2549-2552 อันได้แก่ จ.นครพนม จ.น่าน จ.แพร่ จ.ตาก จ.ตราด จ.ประจวบคีรีขันธ์ และจ.สตูล

แผนที่เดินดินป่าชุมชนบ้านเขาเขียว
แผนที่เดินดินเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียร นำมาใช้ในกิจกรรมงานอนุรักษ์ ผ่านการสำรวจและเก็บข้อมูลของเจ้าหน้าที่ภาคสนาม เพื่อให้ ‘รู้จักผู้คน’ และ ‘เครือข่ายทางสังคม’ รวมถึงการใช้ทรัพยากรในเบื้องต้นในชุมชนเป้าหมายที่จะเข้าไปทำงาน โดยข้อมูลที่ได้จะนำไปต่อยอดในการวางแผนการจัดการงานในลำดับต่อไป
แผนที่ที่จัดแสดงนี้ เป็นตัวอย่างแผนที่เดินดินป่าชุมชนบ้านเขาเขียว อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี ที่ต่อมาชุมชนได้พัฒนาต่อยอดการดูแลรักษาป่าชุมชนอย่างเป็นระบบ มีการตั้งคณะกรรมการป่าชุมชน มีการวางกฎกติกาและบังคับใช้อย่างเข้มงวด ป่าชุมชนแห่งนี้จึงมีทรัพยากรพอใช้ตลอดทั้งปี รวมถึงยังพบร่องรอยการใช้ประโยชน์จากสัตว์ป่าอีกด้วย

แผนที่ป่าชุมชน บ้านไร่พิจิตร
ช่วงปี พ.ศ. 2549 เป็นต้นมา องค์กรพัฒนาเอกชน (พอช.) รัฐบาลประเทศเดนมาร์ค โดยองค์กร DANIDA สนับสนุนงบประมาณให้ประชาชนที่ตั้งถิ่นฐานในขอบป่า นอกผืนป่าตะวันตก ด้านตะวันออก จัดตั้งป่าชุมชน ไล่ลงมาจากจังหวัดกำแพงเพชร นครสวรรค์ อุทัยธานี สุพรรณบุรี และกาญจนบุรี รวมทั้งสิ้น 135 ชุมชน และตั้งเป็นเครือข่ายป่าชุมชนรอบผืนป่าตะวันตก โดยมูลนิธิสืบนาคะเสถียรทำหน้าที่เป็นเพื่อนของชุมชน ในการการผลักดัน จัดตั้ง หนุนเสริมความแข็งแรงให้กับกลุ่ม รวมถึงทำแผนที่แสดงแนวเขตของป่าชุมชนแต่ละแห่ง

แผนที่ป่าชุมชน บ้านเรียนรู้ ศูนย์เรียนรู้
ภารกิจหนึ่งที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ดำเนินการมาตลอดกว่า 15 ปี คือ การส่งเสริมให้ชุมชนประกอบอาชีพที่เป็นมิตรกับผืนป่า โดยในระหว่างทำงานพบว่ามีหลายครอบครัวประสบความสำเร็จ อีกทั้งยังนำมาเป็นต้นแบบให้ผู้สนใจได้เข้าไปเรียนรู้ศึกษาถึงวิถีชีวิตที่เป็นมิตรกับผืนป่า มูลนิธิสืบนาคะเสถียรจึงผลักดันให้เกิดเป็นบ้านเรียนรู้และศูนย์เรียนรู้ ซึ่งทั่วทั้งผืนป่าตะวันตกมีมากถึง 34 แห่ง จากชุมชนทั้งด้านในและที่ตั้งอยู่ประชิดขอบป่า แต่ละบ้านหรือสูนย์เรียนรู้นอกจากจะให้ความรู้เรื่องอาชีพเป็นมิตรกับผืนป่าแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงต้นแบบการจัดการอาชีพที่แตกต่างกันบนบริบทของการใช้ที่ดินที่แตกต่างกันอีกด้วย

แผนที่การจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วม อำเภอศรีสวัสดิ์
อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี ถือเป็นพื้นที่ที่มีความสนใจเป็นพิเศษ เพราะมีรูปแบบการทำงานที่หลากหลายตามชาติพันธุ์และการใช้ที่ดินที่ดินของชุมชนทั้งภายในและบริเวณโดยรอบ
โดยในอำเภอศรีสวัสดิ์ ประกอบด้วยพื้นที่อุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์ อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ และยังอยู่ติดกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระและอุทยานแห่งชาติพุเตย ขณะที่การใช้ที่ดินมีความหลากหลายทำให้เกิดปัญหาแนวเขตพื้นที่อนุรักษ์ซ้อนทับกับที่ว่าการอำเภอ การซ้อนทับของพื้นที่ผนวกเพิ่มของอุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์กับชุมชน การซ้อนทับพื้นที่การใช้ประโยชน์ของกรมธนารักษ์และพื้นที่ป่าสงวนซึ่งทหารขอใช้ประโยชน์ ทำให้การแก้ไขปัญหามีความซับซ้อนและต้องแก้ไขไปทีละขั้นตอนและต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน แผนที่นี้ถูกจัดทำขึ้นเพื่อให้เห็นองค์ประกอบของความซับซ้อนเหล่านั้น

แผนที่เพื่อการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วม ห้วยขาแข้ง
แผนที่เพื่อการจัดการพื้นที่คุ้มครองห้วยขาแข้งนี้ แสดงให้เห็นถึงพิกัดต่างๆ อาทิ หน่วยพิทักษ์ป่า ชุมชนใกล้เคียง ไปจนถึงพื้นที่จัดตั้งป่าชุมชนนอกผืนป่า จะเห็นว่า ป่าห้วยขาแข้งเป็นพื้นที่อนุรักษ์ที่ไม่มีชุมชนตั้งถิ่นฐานอยู่ภายในเลย แต่ถึงอย่างนั้น ก็จำเป็นทำข้อมูลชุมชนที่อยู่ประชิดขอบป่า และทำงานร่วมกับชุมชนภายนอกด้วย เพื่อสร้างความเข้าใจต่องานอนุรักษ์ และลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น
นอกจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งแล้ว มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ยังจัดทำแบบที่ในลักษณะเดียวกันนี้กับป่าอนุรักษ์อื่นๆ ในกลุ่มป่าตะวันตกทั้งหมด

แผนที่ลาดตระเวนยุทธศาสตร์การจัดการป่าตะวันตก 20 ล้านไร่
แผนที่นี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบงานอนุรักษ์ในผืนป่าตะวันตก เพื่อสนับสนุนและเสริมศักยภาพงานอนุรักษ์ให้กับพื้นที่คุ้มครองในผืนป่าตะวันตกทั้ง 17 แห่ง อย่างมีส่วนร่วม รวมถึงเชื่อมประสานการทำงานร่วมกับกรมป่าไม้ในการบริหารจัดการพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ผืนป่าตะวันตกให้เกิดกระบวนการทำงานร่วมกับทั้งผืนป่าตะวันตกไป
โดยมีกิจกรรมสำคัญคือ สนับสนุนการเดินลาดตระเวนเชิงคุณภาพแบบมาส่วนร่วมในกลุ่มพื้นที่เป้าหมายเพื่อการรักษาคุณค่าความสำคัญของระบบนิเวศในผืนป่าตะวันตกและการทำงานร่วมกับชุมชนที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในผืนป่าตะวันตก 131 ชุมชน ร่วมสนับสนุนพื้นที่คุ้มครองในการบริหารจัดการชุมชน ไม่ให้มีการขยายพื้นที่ออกจากฐานข้อมูลชุมชนที่ดำเนินการไว้ภายใต้โครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วมในผืนป่าตะวันตก ระยะที่ 2 และสนับสนุนชุมชนบริเวณแนวขอบพื้นที่คุ้มครอง 154 ชุมชน ในการบริหารจัดการพื้นที่ป่าชุมชนพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ เพื่อเป็นแนวป่ากันชนของพื้นที่คุ้มครอง และการเชื่อมระบบนิเวศทางธรรมชาติ

แผนที่โซนลาดตระเวนโปตาน่า เพื่อการอนุรักษ์นกเงือก โครงการพัฒนาระบบงานอนุรักษ์ในผืนป่าตะวันตก ป่าโปตาน่า
แนวเชื่อมต่อระหว่าง 3 พื้นที่อนุรักษ์ ได้แก่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันตก อุทยานแห่งชาติลำคลองงู และอุทยานแห่งชาติเขาแหลม โดยได้กำหนดโซนพื้นที่นี้เพื่อทำการลาดตระเวนร่วมสามฝ่าย เพราะเป็นพื้นที่เชื่อมต่อของพื้นที่อนุรักษ์ที่มีความสำคัญ โดยเป็นป่ายาง ไม้วงศ์ยาง (Dipterocarpaceae) ซึ่งเป็นไม้ป่าขนาดใหญ่ สูงชัน หากมีอายุเยอะจะแตกออกเป็นโพรงซึ่งเป็นพื้นที่เหมาะสมต่อการอาศัย ทำรัง วางไข่เพื่อขยายพันธุ์ของนกเงือก พบนกเงือก (Hornbill) กว่า 5 สายพันธุ์ ได้แก่ นกกก นกแก็ก นกเงือกสีน้ำตาล กรามช้างปากเรียบ และนกเงือกคอแดง จึงเป็นพื้นที่สำคัญที่ต้องรักษาลาดตระเวนเพื่อลดภัยคุกคาม และรักษาพื้นที่สำคัญนี้ไว้

แผนที่พื้นที่ลาดตระเวนครอบคลุมพื้นที่โปตานา
แผนที่นี้แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการลาดตระเวนซึ่งเป็นข้อมูลเชิงปริมาณที่คณะกรรมการติดตามการลาดตระเวนเชิงคุณภาพของกรมอุทยานฯ ใช้เป็นเกณฑ์ชี้วัดการลาดตระเวนของพื้นที่ตามมาตรฐานสากล เมื่อการเดินครอบคลุมพื้นที่สูง ยิ่งส่งผลให้ข้อมูลที่ได้กระจายทั่วพื้นที่ มีข้อมูลเชิงคุณภาพที่ได้มีความคลอบคลุม หลากหลาย สามารถนำมาวางแผนเพื่อลดภัยคุกคามที่เกิดขึ้นกับพื้นที่ได้อย่างแม่นยำ เหมาะสม และยังเป็นการลดภัยคุกคามที่เกิดขึ้นในพื้นที่ได้อีกทางหนึ่งเนื่องจากมีความสม่ำเสมอในการลาดตระเวน ทำให้ผู้กระทำผิดไม่มีช่องในการเข้ามาก่อเหตุในพื้นที่ได้

แผนที่เพื่อการจัดการกลุ่มป่าตะวันตกและกลุ่มป่าแก่งกระจาน
ปัจจุบัน มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และองค์กรภาคีเครือข่าย ยกระดับงานด้านการมีส่วนร่วมพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน ดำเนินกิจกรรมต่างๆ อาทิ จัดประชุมพัฒนาแนวทางการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและดำเนินการเพื่อสนับสนุนการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน จัดตั้ง ‘คณะกรรมการมรดกโลก’ กลุ่มป่าแก่งกระจาน หวังสร้างกลไกในการมีส่วนร่วมด้านการอนุรักษ์จากทุกภาคส่วน นำไปสู่ “การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติกลุ่มป่าแก่งกระจานให้เกิดความสมดุลและยั่งยืนควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนในท้องถิ่น”

แผนที่ตั้งขอบเขตเสนอป่าตะวันตกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก และขอบเขตพื้นที่กันชน
แผนที่นี้ถูกผลิตขึ้นภายใต้แนวคิดที่ว่า นอกจากพื้นที่อนุรักษ์ทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง แล้วยังมีพื้นที่อนุรักษ์อื่นที่มีความหลากหลายทางระบบ นิเวศและเป็นถิ่นอาศัยของสัตว์ที่มีความสําคัญของระบบนิเวศเช่นกัน การขยายพื้นที่มรดกโลกเพิ่ม ซึ่งสิ่งนี้เป็นเหมือนเครื่องมือที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพงานป้องกันและดูแลรักษาทรัพยากรของเจ้าหน้าที่ รวมไปถึงความก้าวหน้า ทางเทคโนโลยีที่จะช่วยงานป้องกันมีประสิทธิภาพสูงสุด
มูลนิธิสืบนาคะเสถียร เล็งเห็นว่าพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์-คลองลาน มีศักยภาพการฟื้นฟูประชากรสัตว์ป่า และเข้าเกณฑ์การ พิจารณาหลายเงื่อนไขเช่นเดียวกับพื้นที่ทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ที่เป็นมรดกโลกมาก่อน

แผนที่การดำเนินการในผืนป่าตะวันตกมูลนิธิสืบนาคะเสถียร
ปัจจุบัน มูลนิธิสืบนาคะเสถียร กำลังดำเนินโครงการในพื้นที่อนุรักษ์และพื้นที่ขอบป่าของกลุ่มป่าตะวันตกอยู่ทั้งสิ้น 4 โครงการใหญ่ ประกอบด้วย โครงการจัดการระบบนิเวศในพื้นที่ป่าสงวนเพื่อแนวเชื่อมต่อป่าตะวันตกสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน โครงการเสริมศักยภาพชุมชนในการมีส่วนร่วมอนุรักษ์ธรรมชาติอย่างยั่งยืน โครงการพัฒนาศักยภาพชุมชนในการมีส่วนร่วมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน โครงการธรรมชาติปลอดภัยในผืนป่าตะวันตก โดยแต่ละโครงการก็จะมีกิจกรรมย่อยที่ต้องดำเนินการอีกนับร้อยกิจกรรม นอกจากนี้ยังมีโครงการที่กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาให้เกิดเป็นโครงการ อย่างโครงการฟื้นฟูแนวเชื่อมต่อของสัตว์ป่าและสร้างความพร้อมต่อการรับมือสภาพอากาศในพื้นที่แนวกันชนของผืนป่าตะวันตก ซึ่งแผนที่การดำเนินการในป่าตะวันตกนี้จะแสดงถึงพื้นที่ดำเนินโครงการทั้งหมดตามที่กล่าวมา

แผนที่ความยั่งยืนในผืนป่าตะวันตก
แผนที่ความยั่งยืนในผืนป่าตะวันตก เป็นแผนที่ฉบับใหม่ที่มูลนิธิสืบนาคเสถียร เพิ่งออกแบบ สำหรับใช้ในงานสัมมนาวิชาการ รำลึก 32 ปี สืบ นาคะเสถียร
แผนที่แผ่นนี้ได้รับการต่อยอดเนื้อหาต่อยอดจากแผนที่การดำเนินการในผืนป่าตะวันตกมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ซึ่งโครงการที่มูลนิธิสืบฯ ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน และแผนที่แสดงกลุ่มอาชีพชุมชนเป็นมิตรกับผืนป่า นำมารวมไว้ในแผนที่เดียวกัน ผลลัพธ์ที่เกิดและไม่ได้มีเพียงเรื่องของกลุ่มอาชีพเท่านั้น แต่ยังเรื่องการจัดการในพื้นที่ต่างๆ เข้าไปด้วย และยังมีเรื่องราวผลลัพธ์ทางด้านระบบนิเวศประกอบ ทั้งหมดทั้งมวลก็มาจากเป้าหมายสำคัญที่มูลนิธิสืบฯ ยึดมั่นมาโดยตลอด คือ “คนอยู่ได้ ป่าอยู่ได้ เสืออยู่ได้”
