31 ปี ที่ไม่มีสืบ แต่ภาพของเขายังคงชัดเจนอยู่ในความทรงจำ

31 ปี ที่ไม่มีสืบ แต่ภาพของเขายังคงชัดเจนอยู่ในความทรงจำ

31 ปีที่ผ่านมา มีเรื่องราวมากมายเกิดขึ้นในทุก ๆ วัน บางคนอาจจะเพิ่งลืมตาบนโลกใบนี้ บางคนก็ได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ และบางคนก็ได้จางหายไปจากชีวิตของใครสักคน แต่ที่แน่ ๆ เมื่อ 31 ปีที่แล้ว มีบางคนได้สละชีวิตตัวเองเพื่อปกป้องสิ่งที่เขาหวงแหนมากที่สุด เขาผู้นั้นคือสืบ นาคะเสถียร ผู้อุทิศชีวิตให้กับป่าไม้และสัตว์ป่า

โบราณเคยกล่าวไว้ว่าความตายมักเป็นยารักษาโรคให้กับความเจ็บปวดของร่างกาย แล้วธรรมชาติก็จะเอาความตายมาเยียวยา ถ้าบอกว่าพี่สืบมีความเจ็บปวดมาก แล้วเลือกที่จะใช้การเยียวยาด้วยความตาย ก็เข้าใจได้ แม้ว่าทางพุทธอาจจะบอกว่าการฆ่าตัวตายเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ นักเขียนสารคดี นักวิจารณ์สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม 

ประโยคดังกล่าวยังคงก้องอยู่ในหัวของผู้เขียนหลังฟังการบรรยายเวที “เพื่อนสืบ สืบในความความทรงจำ” ที่จัดขึ้นเนื่องในวาระครบรอบการจากไป 31 ปี สืบ นาคะเสถียร โดยมีคุณวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ นักเขียนสารคดี นักวิจารณ์สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม และคุณชัชวาลย์  พิศดำขำ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้ร่วมเสวนา

เวทีเสวนา “เพื่อนสืบ สืบในความความทรงจำ” ที่จัดขึ้นเนื่องในวาระครบรอบการจากไป 31 ปี สืบ นาคะเสถียร ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2564

การพบเจอกันครั้งแรกของเพื่อนสืบ

โครงการอพยพสัตว์ป่าเขื่อนเชี่ยวหลานคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ทั้งสองคนได้มาร่วมงานกับคุณสืบ ย้อนไปในช่วงปี 2528 สืบได้รับหน้าที่เป็นหัวหน้าโครงการอพยพสัตว์ป่าเขื่อนเชี่ยวหลาน ถือเป็นโครงการที่สร้างความท้าทายให้กับสืบ เพราะมันไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยมาก่อน องค์ความรู้ต่าง ๆ ในการอพยพสัตว์ป่าจึงเท่ากับศูนย์

คุณวันชัยเล่าว่าการเดินทางไปเขื่อนเชี่ยวหลานครั้งแรกของของเขาเมื่อ 31 ปีที่แล้ว ในฐานะนักเขียนนิตยสารสารคดี ทำให้เขาได้รู้จักกับชายที่ชื่อว่า สืบ นาคะเสถียร และเขาเป็นสื่อมวลชนรายแรก ๆ ที่เผยแพร่เรื่องของ สืบ นาคะเสถียร ออกสู่สาธารณะ 

การนัดหมายเมื่อสามสิบปีที่แล้วค่อนข้างลำบาก ไม่ได้สะดวกสบายเหมือนสมัยนี้ คุณวันชัยเล่าว่าได้ติดต่อผ่านกรมป่าไม้และโทรไปที่ทำการกลางอ่างเก็บน้ำที่ใช้เป็นออฟฟิศชั่วคราว ซึ่งทุลักทุเลพอสมควรกว่าทั้งสองได้เจอกัน เมื่อเดินทางไปถึงสถานีรถไฟสุราษฎ์ธานีก็ต้องนั่งรถยนต์ต่อเพื่อไปที่เขื่อนเชี่ยวหลานใช้เวลาประมาณ 5-6 ชั่วโมง และต่อเรืออีกประมาณ 3 ชั่วโมง รวม ๆ แล้ว 8-9 ชั่วโมงกว่าจะถึงที่ทำการชั่วคราว

“ไปถึงแกก็นั่งประชุม คืนนั้นก็เอาเรือออกเลย ภารกิจประจำวันก็คือนั่งเรือส่องสัตว์ หัวเรือจะมีหมาหนึ่งตัวชื่อว่าไอ้แดง หน้าที่ของเราคือเคาะไม้เสียงดัง ๆ เพื่อให้สัตว์มันตื่น จากนั้นสัตว์ก็จะว่ายน้ำหนีออกมา แล้วเราก็เข้าไปช่วยเหลือมัน ตอนนั้นมีเจ้าหน้าที่ประมาณ 3 คน คือ สัตวบาล และเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า 2 คน ที่เหลือก็เป็นลูกจ้าง” วันชัยกล่าว

สิ่งหนึ่งที่คุณวันชัยสังเกตเห็นคือ สืบมักจะนั่งดูสารคดีซิงเกอร์ ซึ่งเป็นสารคดีเกี่ยวกับสัตว์ป่าในต่างประเทศ คุณวันชัยถามสืบว่าทำไมต้องดูอะไรพวกนี้ สืบตอบกลับมาว่าเพราะมีเคสในเมืองนอกเยอะในการอพยพสัตว์ป่า แต่สำหรับเมืองไทยก็แทบไม่มีองค์ความรู้เรื่องนี้เลย บางอย่างใช้ได้ แต่บางอย่างก็ใช้ไม่ได้เพราะสภาพแวดล้อมแตกต่างกัน

สัตว์บางส่วนที่จับได้จะถูกส่งไปที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า จังหวัดนราธิวาส โดยคุณชัชวาลย์  พิศดำขำ เป็นหัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงในสมัยนั้น

“ครั้งแรกที่พี่สืบมา พี่สืบจะมีกล้องวีดิโอตัวหนึ่ง แล้วเขาก็กวักมือเรียกผมพร้อมบรรยายให้ฟังว่าสัตว์ตัวนี้ชื่ออะไร มีที่มายังไง และบอบช้ำมากน้อยแค่ไหน ผมเดาเจตนาว่าพี่สืบคงไม่ได้มุ่งเรื่องของการบันทึกเสียงในวีดิโอเทปนั่นอย่างเดียว แต่ต้องการให้ความรู้ผม”

สถานีเพาะเลี้ยงมีพื้นที่ไม่ใหญ่มาก ที่นั่นมีกรงขนาด 15 ไร่เท่านั้น สัตว์บางตัวที่ไปถึงสิ่งแรกที่เขาทำคือวิ่งไปชนกรง เขาเคยวิ่งอยู่ในป่าและไม่รู้ว่านี่คือกรง เปอร์เซนต์รอดตายของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ ปรากฎว่าตายลงร้อยเปอร์เซนต์

“พี่สืบไปสถานีเพาะเลี้ยงที่ผมอยู่ 2-3 เที่ยว มีสัตว์ป่าหลายตัวส่งไปให้ที่ผม จนกระทั่งสุดท้ายเราก็รายงานพี่สืบว่ามันไม่น่าจะเรียกว่าความสำเร็จเพราะปริมาณของสัตว์ที่ไปถึงแล้วเหลือรอดอยู่ในกรงน้อยมากจริง ๆ ความพยายามของเรา สัตวบาล แล้วก็สัตวแพทย์ของจังหวัด ได้ให้การช่วยเหลือดูแลอย่างเต็มที่ ถึงขนาดกางเตนท์นอนในกรงบางตัวก็ตายไปต่อหน้า

ระหว่างที่เตรียมเดินทางกลับ ผมยังจำได้ติดตา ใต้ต้นเสม็ดที่นราธิวาสพี่สืบก็มานั่งข้าง ๆ แล้วแกก็พูดว่า ล้มเหลวว่ะ จำไว้เลยนะ การทำลักษณะนี้มันเป็นเพียงข้อแก้ตัวของคนที่อยากทำลายป่าอย่างถูกกฎหมาย ถ้าเราคิดว่าเราจะรักษาป่า รักษาสัตว์ป่าไว้ เรื่องการอพยพสัตว์ป่าเป็นประเด็นท้าย ๆ ที่เราจะต้องทำ

พี่สืบบอกผมเองว่าพี่สืบจะรายงานการดำเนินการว่ามันล้มเหลว ไม่มีการปิดบัง เพราะถ้าเราใส่เครื่องหมายคำถามทิ้งเอาไว้ให้สังคมก็จะมีการทำซ้ำไปเรื่อย ๆ ไม่มีประโยชน์อะไร เพราะฉะนั้นพี่สืบบอกว่าผมจะรีพอร์ต” คุณชัชวาลย์กล่าว

จากรายงานของสืบระบุว่า ในระยะ 2 ปี 4 เดือนของดำเนินโครงการอพยพสัตว์ป่าเขื่อนเชี่ยวหลาน ผลปรากฏว่าสามารถช่วยเหลือสัตว์ป่าได้จำนวน 116 ชนิด 1,364 ตัว แบ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 37 ชนิด 586 ตัว นก 30 ชนิด 58 ตัว สัตว์เลื้อยคลาน 49 ชนิด 720 ตัว โดยสัตว์เหล่านี้มีอัตราการตายในระหว่างการช่วยเหลือร้อยละ 3

จากแผนการแก้ไขผลกระทบต่อสัตว์ป่าอันเนื่องมาจากการก่อสร้างเขื่อนเชี่ยวหลาน ยังไม่ได้มีการติดตามผลที่จะเกิดขึ้นกับสัตว์ป่าที่ได้รับการช่วยเหลือนำไปปล่อยนอกเขตอ่างเก็บน้ำจึงมิอาจกล่าวได้ว่าสัตว์ป่าที่ได้รับการช่วยเหลือเหล่านี้จะสามารถปรับตัวให้มีชีวิตอยู่รอดต่อไปได้หรือไม่ ดังนั้นการแก้ไขผลกระทบดังที่ได้ปฏิบัติมาแล้ว จึงเป็นเพียงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าให้ลุล่วงไปในระยะเวลาอันสั้นเท่านั้น ทั้งยังไม่อาจนำมาประเมินผลได้ผลเสียกับสิ่งที่สูญเสียไปจากการสร้างเขื่อนด้วย

สืบในความทรงจำ

“สิ่งหนึ่งที่ผมจำได้ไม่ลืมคือตอนนั้นเราพักกินข้าวเที่ยงแล้วก็กำลังจะผูกเรือไว้กับต้นไม้ที่ยืนตายกลางน้ำ แต่ปรากฎว่ามีงูจงอางเกือบ 3 เมตรพุ่งออกมา จำได้ยาวกว่าเรืออีก แต่มันก็พุ่งลงน้ำนะ ถ้ามันลงเรือแล้วกัดใครก็ตายแน่นอนเพราะกว่าจะถึงโรงพยาบาลมันไม่ทันหรอก พวกเราก็โล่งอกเพราะมันไปแล้ว แต่พี่สืบบอกว่า “ไปช่วยมัน เพราะมันคงว่ายไปไม่ถึงฝั่ง” 

เราขับเรือไปช่วย แล้วก็เอาสลึงตักขึ้นมาไว้ในเรือ ทุกคนก็มองหน้ากันว่า ใครจะจับงูใส่ถุงกระสอบ ไม่ทันไรพี่สืบก็เดินเข้าไปเอาสลึงออกแล้วคว้าคองู เอาปากงูกดไว้ที่กาบเรือเพื่อรีดพิษงูออกมา

ผมก็เดินไปตบไหล่คุณสืบ “พี่สืบเซียนจับงูเลยว่ะ จับมากี่ตัวแล้ว” สืบก็หันมาบอกผมว่า  “พี่ก็เพิ่งจับเป็นครั้งแรกในชีวิตเหมือนกัน”

เรารู้สึกว่าเขาเป็นหัวหน้าแบบไหนกัน มีลูกน้องเต็มเรือแต่ไม่เรียก อะไรที่เป็นงานเสี่ยงเขาจะเป็นคนทำ จริง ๆ มันก็ตรงข้ามกับผู้นำในประเทศตอนนี้ที่โดยธรรมชาติ ถ้ามีอะไรเสี่ยง ๆ ก็ให้ลูกน้องไปก่อน แต่เขาจะตรงกันข้าม เขามีโอกาสที่จะเสียชีวิตได้ตลอดเวลา ผู้ชายคนนี้เป็นข้าราชการที่ไม่ธรรมดาเลย เรารู้สึกเลยว่าเขารับผิดชอบกับงานที่เขาทำมาก ๆ” เสียงจากคุณวันชัยที่ได้พูดถึงสืบสมัยที่เคยร่วมงานกัน

ความกดดันของสืบสมัยเป็นหัวหน้าที่ห้วยขาแข้ง

สืบสัมผัสกับชีวิตสัตว์ป่าและชีวิตชาวบ้าน สืบทำงานวิจัยแบบติดดิน เขาจึงเข้าใจว่าป่าห้วยขาแข้งและทุ่งใหญ่นเรศวรฯ มันสำคัญยังไง สืบรู้ว่าถ้าจะรักษาพื้นที่ตรงนี้ได้มันต้องมีพื้นที่กันชนขนาดใหญ่นั่นคือป่าตะวันตก เพราะทั้งผืนเป็นป่าที่ต่อเนื่องกัน

คุณวันชัยเล่าถึงช่วงนี้ให้ฟังว่า

“ป่าห้วยขาแข้งมีพื้นที่ใหญ่กว่ากรุงเทพมหานคร มีเนื้อที่ตอนนั้นประมาณ 1.5 ล้านไร่ แต่ได้งบประมาณเฉลี่ยแล้วไร่ละบาท สืบบอกกับผมว่า “แล้วจะให้ผมไปทำอะไร แค่ค่าน้ำมันมันก็หมดแล้ว” ตอนนั้นเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าคนหนึ่งดูแลพื้นที่เฉลี่ยสองแสนไร่ เพราะฉะนั้นสืบไปห้วยขาแข้งพร้อมกับความกดดัน

หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งคือโหดที่สุดในบรรดาหัวหน้าเขตทั้งหลาย เพราะว่าอุดมสมบูรณ์ไปด้วยการตัดไม้ทำลายป่า ล่าสัตว์ โดยที่แบ็คอัพคือคนมีอิทธิพล คนมีสีทั้งนั้น เพราะฉะนั้นถ้าอยู่แบบตงฉินนะ “อยู่ยาก” เขาเลยแบกรับความเครียด แบกรับความคาดหวังของผู้ใหญ่ในกรมป่าไม้ ที่คิดว่าเขาเป็นเด็กรุ่นใหม่ไฟแรงเลยส่งเข้าไปปราบ 

สืบเล่าให้ฟังว่าเคยจับคนตัดไม้ทำลายป่า จับเสร็จก็โดนปล่อยออกมาตลอด สืบเลยเกิดความเครียด เพราะช่วงเวลานั้นเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าก็ได้รับบาดเจ็บ เสียงปืนในห้วยขาแข้งสมัยนั้นดังทุกคืน ไม่ได้เงียบเหมือนสมัยนี้ แต่ก็ทำอะไรมากไม่ได้ เพราะอุปกรณ์น้อย คนก็ไม่เยอะ การที่สืบเป็นคนที่จริงจังกับหน้าที่การงาน ในขณะเดียวกันก็ต้องรับผิดชอบกับชีวิตผู้คน เขาเลยสะสมความเครียด ความกดดันเยอะ 

ถ้าให้เลือกระหว่างไปเรียนต่อที่ University of London กับมาเป็นหัวหน้าเขตรักษาพันธ์ุสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง คุณจะเลือกอะไร คนส่วนใหญ่อาจเลือกอนาคตให้กับตัวเองโดยการไปเรียนต่อ แต่สืบเลือกที่จะไปเป็นหัวหน้าหน่วย

สิ่งนี้เป็นความฝันของสืบที่อยากรักษาป่าห้วยขาแข้ง สืบทิ้งทุนการศึกษาปีละเป็นล้านมาเป็นหัวหน้าเขตที่นี่ 

เคยคิดนะว่าถ้าสืบยังอยู่ ถ้าเขาไม่ฆ่าตัวตาย เขาจะเป็นอะไร 

สืบเคยบอกว่า โอกาสที่จะรับราชการมันไปต่อยาก เขาอาจจะเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย หรือเป็นนักวิจัย ในวันนี้ก็คงเกษียณอายุไปตามระบบ แต่เมื่อ 31 ปีที่แล้วที่สืบยิงตัวตายมันกลายเป็นตำนานไปแล้ว ทำให้คนจำนวนมากตื่นขึ้นมา

คำพูดที่เป็นอมตะของพี่สืบเขาบอกว่า ผมทำหน้าที่ของผมได้ดีที่สุดแล้ว แล้วผมก็ทำมันพอแล้ว อยากจะบอกว่าชีวิตของแกแม้ว่าจะใช้ชีวติบนโลกนี้แค่ 40 กว่าปี แต่ว่ามันคุ้มมาก ๆ กับการที่ผู้ชายคนหนึ่งเกิดมาแล้วจากไป แล้วก็ทิ้งอะไรให้กับคนบนโลกไปอีกชั่วลูกชั่วหลาน”

เมื่อเพื่อนคนหนึ่งเดินทางไปในที่ที่แสนไกล แต่ภาพของเขายังคงชัดเจนอยู่ในห้วงของความทรงจำ แม้เวลาจะผ่านไปแล้ว 31 ปี แต่เรายังคิดถึงเขาเสมอ

คลิ้กที่นี่เพื่อรับชมเสวนาย้อนหลัง “เพื่อนสืบ สืบในความทรงจำ”

#31stSeub #รำลึกสืบนาคะเสถียร

 


เรียบเรียง นูรซาลบียะห์ เซ็ง เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร