ผืนป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ก่อนจะได้ชื่อเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ในอดีตเคยผ่านเหตุการณ์มามากมาย เป็นจุดศูนย์รวมประวัติศาสตร์ใหญ่ของประเทศไทยอยู่ไม่น้อย ในบางแง่มุมของเรื่องราวที่เกิดขึ้นก็เกือบจะทำให้ผืนป่าแห่งนี้เหลือแต่เพียงตำนานสำหรับเล่าขาน
ในแต่ละเหตุการณ์ที่ผ่านมา เรื่องที่ถือได้ว่าเป็นประเด็นใหญ่ มีสาธารณชนให้ความสนใจครึ่งค่อนประเทศคงจะหนีไม่พ้นการคัดค้านการโครงการเขื่อนน้ำโจนที่กินเวลาหลายช่วง และมีตัวละครเกี่ยวข้องกับเรื่องราวหลากหลายกลุ่มสาขา ที่มา อาชีพ
การคัดค้านโครงการเขื่อนน้ำโจนเริ่มต้นตั้งแต่วันที่โครงการได้รับการอนุมัติตามหลักการและถูกบรรจุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและพัฒนาสังคมแห่งชาติฉบับที่ 5 ในปี 2525 จากเดิมที่เกิดจากนักวิชาการก็ค่อยๆ ขยายออกในวงกว้าง กินเวลาหลายช่วง และกลายเป็นเรื่องราวที่คนหลายฝ่ายให้ความสนใจและออกมาร่วมกันคัดค้านจนเกิดเป็นกระแสใหญ่ทางด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย
เหตุการณ์นั้น ถือได้ว่าเป็นเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ เป็นบทเรียนแห่งความสำเร็จจากการต่อสู้ที่เกิดขึ้นจากพละกำลังของหลายฝ่ายที่ร่วมกันออกมาแสดงเจตจำนงค์ บอกเล่าเรื่องราว และใช้กลวิธีตามแต่ที่ตนถนัดเพื่อยับยั้งโครงการที่เกือบจะทำลายมรดกทางธรรมชาติของโลกลงไป
ในงานจากป่าสู่เมือง บันทึกหยุดเขื่อนน้ำโจน (รำลึก 27 ปี สืบ นาคะเสถียร) มูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้เชิญตัวแทนแห่งยุคสมัยการขับเคลื่อนมาด้วยกัน 4 ท่าน เพื่อมาบอกเล่าเรื่องราว บรรยากาศการขับเคลื่อน และสื่อสารเพื่อสืบทอดเจตนารมณ์ในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้ขยายวงกว้างต่อไป
เริ่มที่ คุณภินันทน์ โชติรสเศรณี สมาชิกกลุ่มสตรีกาญจนบุรี เป็นหนึ่งในประชาชนธรรมดาที่เข้าร่วมคัดค้าน
เธอเป็นคนในพื้นที่ซึ่งมองเห็นความเคลื่อนไหวของการขบวนการต่อสู้ในครั้งนี้มาโดยตลอด และจากการเฝ้ามองก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการออกมาร่วมต่อสู้เพื่อปกป้องสิ่งสำคัญ นั่นก็คือ ถิ่นฐานบ้านเกิดและทรัพยากรที่ตนเองก็มีส่วนเป็นเจ้าของ และเป็นสิ่งจุดประกายให้เธอหันมาทำงานเพื่อสิ่งแวดล้อมจนมาถึงปัจจุบัน
คุณภินันทน์สะท้อนเรื่องราวจากภาพที่เห็นเอาไว้ว่า ขณะที่กระแสการคัดค้านเขื่อนน้ำโจนดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง เกิดการรณรงค์ในภาคประชาสังคม มีการจัดงานรณรงค์ปั่นจักรยานรณรงค์ของนิสิตนักศึกษา เริ่มปั่นจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไปยังจุดมุ่งหมายปลายทางจังหวัดกาญจนบุรี นำไปสู่การพบปะกันระหว่างกลุ่มต่างๆ
“ยุคเขื่อนน้ำโจนมันเป็นบุญของประเทศที่มีหลายภาคส่วนออกมาต่อสู้เนื่องจากไม่เห็นด้วย ทั้งนักศึกษา นักข่าว กลุ่มสตรีเนื่องจากมีแม่ค้าเยอะ บ้างก็เป็นแม่ค้าขายผัก หลายคนมีฝีมือในการทำอาหาร ก็ช่วยกันระดมทำอาหารได้อย่างสบาย เวลาประท้วงหน้าศาลหลักเมือง ทั้งกระทะใบบัวเรายกขึ้นยกลงกันเป็นว่าเล่น ทำอาหารเลี้ยง และกลายเป็นความผูกพัน พอไปต่อสู้และมีข้อมูลก็มีความรู้สึกว่า หากเราไม่สู้เราก็ต้องทนร้อนอย่างนี้”
คุณภินันทน์เล่าย้อนไปถึงเหตุการณ์เมื่อ 30 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการก้าวเข้าไปสู่การทำงานเพื่อสิ่งแวดล้อม ที่นำไปสู่การต่อสู้ในภายหลังทั้งการต่อสู้เรื่องผลกระทบการปนเปื้อนสารพิษที่คลิตี้กระทั่งชาวบ้านได้รับเงินค่าชดเชย การวางท่อแก๊ส และสารพิษที่ทหารนำไปฝังที่จังหวัดกาญจนบุรี เป็นต้น
อาจารย์ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งขณะนั้นยังมีสถานะเป็นนักศึกษา เล่าว่า เหตุการคัดค้านเขื่อนน้ำโจนนั้นคือการกลับมารวมตัวกันของเครือข่ายนักศึกษาอีกครั้งหนึ่ง
ภายหลังขบวนการนักศึกษาล่มสลายลงในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ได้รับการฟื้นฟูและเคลื่อนไหวอีกครั้งในสถานการณ์เขื่อนน้ำโจน โดยอาจารย์ไชยณรงค์ได้เป็นหนึ่งในนิสิตนักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหวทั้งการรวบรวมข้อมูล ประสานงาน ประชาสัมพันธ์ และแสดงจุดยืนของนักศึกษาที่มีต่อโครงการเขื่อนน้ำโจน และได้รับข้อมูลบทเรียนการอพยพสัตว์ป่าจากกรณีเขื่อนเชี่ยวหลาน ผ่านถ่ายทอดจากคุณสืบ นาคะเสถียร ที่จังหวัดกาญจนบุรี
สิ่งที่ปรากฏคือความหายนะที่เกิดขึ้นต่อป่าไม้และสัตว์ป่า และเป็นเรื่องน่าเศร้าเพราะแม้จะมีการทำงานช่วยเหลือการอพยพสัตว์ป่าอย่างเข้มแข็ง แต่มันสามารถช่วยเหลือสัตว์ได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยสัตว์ป่าส่วนหนึ่งถูกนำไปไว้ที่ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาท่าเพชร จังหวัดสุราษฎร์ธานี ก่อนนำไปปล่อยป่าเพื่อคืนสู่ธรรมชาติ แต่สิ่งแวดล้อมที่เสียหายไปแล้วไม่สามารถทำให้มีระบบนิเวศที่สัตว์ป่าเหล่านั้นกลับไปใช้ชีวิตเหมือนเดิมได้
การทำงานของสื่อมวลชนเป็นอีกหนึ่งบทบาทสิ่งที่สำคัญ ซึ่งให้ความสนใจในกรณีโครงการเขื่อนน้ำโจน และถูกเผยแพร่ผ่านสื่อช่องทางต่างๆ จำนวนมากทั้งสื่อโทรทัศน์ และสื่อสิ่งพิมพ์ นำเสนอข้อมูลจากบุคคลต่างๆ ทั้งข้อดีข้อเสีย ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์ ป่าไม้ สัตว์ป่า และต่อปราชน ซึ่งผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ คุณสุประดิษฐ์ กัณห์วานิช เป็นนักข่าวที่มีโอกาสได้ร่วมทำข่าวในเหตุการณ์เขื่อนน้ำโจนและได้เห็นภาพความสมบูรณ์ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร กระทั่งเกิดเป็นกระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในวงกว้าง
อดีตผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ยอมรับว่าเวลานั้น สื่อเองก็มีทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายคัดค้าน แต่ที่ตนเลือกยืนอยู่ข้างฝ่ายคัดค้านเพราะมีโอกาสได้เห็นความสมบูรณ์ของผืนป่านี้ และชื่อถือในหลักฐานทางวิชาการที่บรรดานักวิชาการทั้งจากกรมป่าไม้และภาคส่วนอื่นๆ ร่วมกันผลิตออกมาอย่างถูกต้อง อ้างอิงข้อมูลจากสิ่งที่เป็นความจริง
ความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ได้รับการศึกษาและยอมรับจากศาสตร์หลายแขนง โดยคุณค่าทางระบบนิเวศนั้น รศ.ดร.อุทิศ กุฎอินทร์ คือหนึ่งในบุคลากรที่ร่วมบุกป่าผ่าดงเข้าไปสำรวจความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าทุ่งใหญ่ที่มากด้วยมูลค่าทางนิเวศวิทยาจนยากจะประเมินค่าได้ และได้ผลิตรายงานสำคัญออกมาเพื่อใช้ต่อสู้สำหรับการคัดค้านในครั้งนั้น
จากการสำรวจผืนป่า รศ.ดร.อุทิศ ให้ความเห็นว่าพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่มีความอุดมสมบูรณ์ เนื่องจากเป็นรอยเชื่อมต่อระหว่างเขตภูมิอากาศทั้งเขตร้อนแท้ (True Tropical) และเขตกึ่งร้อน (Sub-Tropical) ทำให้อุดมไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพเป็นอย่างมาก
อีกทั้งยังเป็นรอยเชื่อมต่อทางนิเวศวิทยา (Ecological Zone) ถึง 3 เขตของพรรณพืชและสัตว์ (Biotic Provinces) คือ (1) เขตหิมาลัย (Himalayan Realm) (2) เขตอินโดจีน (Indochina Realm) และ (3) เขตมาเลีเซีย (Malaysian Realm) จึงมีพรรณพืชและพันธุ์ที่รวมกันจากสามแหล่งของโลก
จึงมิใช่เรื่องแปลกที่สามารถพบพืชพรรณและสัตว์ป่า อาทิ สมเสร็จ ช้าป่า เสือโคร่ง วัวแดงพันธุ์ไทย กระทิง เสือลายเมฆ ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรและห้วยขาแข้ง นำไปสู่การได้รับการยอมรับในระดับสากล และจารึกผืนป่าทุ่งใหญ่และห้วยขาแข้งให้เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งแรกของไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2534 ซึ่งจะเป็นหนึ่งในปราการในการปกป้องผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์แห่งหนึ่งในประเทศไทย
นั่นคือภาพความสมบูรณ์เชิงประจักษ์ที่เป็นความจริง และเป็นต้นธารแห่งความสมบูรณ์ที่ต่อยอดมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งความสำเร็จจากการคัดค้าน ป่าทุ่งใหญ่จึงยังคงสภาพไว้สมดังชื่อ และได้รับการดูแลต่อมาจนมากความสมบูรณ์อย่างยากจะหาป่าผืนใดเสมอเหมือน