28 ปีที่โลกเปลี่ยนไป (ปาฐกถา 28 ปี สืบ นาคะเสถียร)

28 ปีที่โลกเปลี่ยนไป (ปาฐกถา 28 ปี สืบ นาคะเสถียร)

28 ปีที่โลกเปลี่ยนไป ปาฐกถา 28 ปีสืบ นาคะเสถียร 9 กันยายน 2561 ห้องอเนกประสงค์ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

ถึงมิตรผู้ร่วมเส้นทางอนุรักษ์ ขอพวกเราร่วมกันย้อนเวลากลับไปสู่ค่ำคืนคืนหนึ่งร่วมกันสักครู่ จากเรื่องราวที่ผมเคยบันทึกเก็บไว้ว่า

แสงสุดท้ายของวันลับไปจากเงื้อมผาเขาหินแดง ความมืดเข้าปกคลุมฝั่งตะวันตกของลำห้วยทับเสลาอันเป็นที่ตั้งของที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ข้ามฝั่งไปคือหมู่บ้านและโรงเรียนเขาหินแดง ชุมชนในป่าที่ต้องใช้ทางดินหินโผล่ สัญจรเข้ามาจากถนนนอก

ก่อนนี้หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหนุ่มใหญ่สะสางการงานประจำวัน สั่งลูกน้องวิทยุไปบอกยกเลิกนัดหมายที่จะบรรยายวิชาการที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่อีกครั้ง หลังจากเปลี่ยนใจจะไปเองอยู่รอบหนึ่ง ก่อนนั้นเขาเคยตั้งใจจะส่งม้วนวีดีโอไปเปิดแทน การยกเลิกนัดหมายครั้งนี้

เขาตัดสินใจแน่วแน่ที่จะอยู่ “ที่นี่”

ผ่านหัวค่ำ เหล้านอกเลิศรสที่มีผู้กำนัลมา ถูกหัวหน้าเขตยกมาดื่มกับลูกน้องที่เป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ป่าคนสนิท ชื่อ “หม่อม” หลังอาคารพักห้องพักของหม่อมที่ใช้เป็นโรงครัว ที่โต๊ะอาหารเล็กๆ หม่อมจำได้ว่าดื่มกันสามคน เหล้าตราดำเพียวๆ ถูกรินแจกจ่ายไม่มีโซดา น้ำแข็ง นี่เป็นเรื่องธรรมดาในป่าที่ วงเหล้าคุยงานการสัพเพเหระ พร่องค่อนขวดหม่อมจึงขอตัวไปตรวจเวรยามตามหน้าที่ ปล่อยหัวหน้ารักษาพงไพรจังหวัดอุทัย ห้วยขาแข้ง คนนั้น นั่งต่อในความมืด

ก่อนเที่ยงคืน หม่อมเดินกลับมาที่โรงอาหารชื่อแปลก “ติเตะ” ไม่ไกลจากห้องครัวที่นั่งดื่มกับหัวหน้า หม่อมมาพบกับหัวหน้าของเขาอีกครั้ง หัวหน้าขอยาเส้นจากเจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่ยามเฝ้าสำนักงานที่เจอที่ติเตะ มวนพ่นไฟวาบ ถามไถ่สารทุกข์สุกดิบ ถามคำถามที่หม่อมคิดว่าไม่น่าถามว่าเจ้าหน้าที่คนนั้นเป็นอยู่อย่างไร อยู่ได้ไหม ที่บ้านเป็นไง เพราะก็เจ้าหน้าที่คนนั้นเป็นคนที่หัวหน้าเคยคุ้น แต่หม่อมก็ไม่ได้เฉลียวใจว่านั่นเป็นคำถาม ความห่วงใยต่อลูกน้องครั้งสุดท้าย

หม่อมเดินออกมาส่งหัวหน้าสืบที่ซุ้มเฟื่องฟ้าที่ทางเดินผ่านห้องพักของเขา ลงเนินเดินไปยังบ้านพักหัวหน้าเขต ที่ปลูกโดดค่อนไปทางตลิ่งริมห้วยทับเสลา ที่ข้ามไปก็เป็นตีนเขาหินแดง ลำน้ำที่ไหลจากป่าผ่านหน้าบ้านพักหัวหน้าเขตก่อนอ้อมวกไปทางหมู่บ้านด้านตะวันออก

หัวหน้าสืบใช้แววตาสดใส มีความสุข โบกมือลาหม่อมบอกว่า

“พี่ไปนะหม่อม”

หม่อมจำได้ว่าเป็นสีหน้าแววตาของคนที่ปลอดโปร่ง แววตามีความสุขไร้ความกังวลใดๆ หม่อมจำสีหน้าและแววตานั้นได้ตลอดมาแม้ผ่านเวลานั้นมายี่สิบกว่าปี ก่อนที่ชายร่างสูงโปร่งคนนั้นจากก้าวเท้าหายไปทางบ้านพักในความมืด

มีคนเห็นว่ากลางดึกคืนนั้น หัวหน้าเดินกลับมาที่ห้องหม่อม แต่เจ้าของห้องยังไปเดินตรวจเวร หัวหน้าเดินกลับไปคงเอาของอะไรมาฝากให้สักอย่าง เมื่อไม่พบก็กลับไปบ้านพัก

ก่อนรุ่งสางคืนนั้น มีเสียงปืนดังขึ้นเบาๆ ที่พักริมห้วยทับเสลาหลังโดดหลังนั้น ไม่มีใครสนใจเพราะเมื่อยี่สิบปีที่แล้วเสียงปืนในราวป่าย่อมเป็นเสียงที่คุ้นเคยที่สุดของคนทำงานในป่า

ตอนเช้าหัวหน้าไม่ได้ขึ้นมาจากบ้านริมห้วยเหมือนเคย ไม่มีใครสงสัยเพราะคิดว่าคงทำงานดึก จนกระทั่งสิบเอ็ดโมง หม่อมเดินลงไปตาม เมื่อค่อยๆ เปิดประตูเข้าไปพบภาพอีกภาพที่จะติดตาอยู่จนวันตาย

หัวหน้าสืบ นาคะเสถียร นอนตะแคงเหมือนคนหลับ ที่ศีรษะมีรอยลูกปืนเป็นรูแดงเลือดซึมแห้ง…

มีคนบอกหม่อมว่า หม่อมใช้มือต่อยเสาบ้านซ้ำๆ อย่างบ้าคลั่งจนมือแตก ขณะพูดว่า “ไม่จริงๆๆ”

แต่หม่อมไม่รู้ตัว

นั่นคือ คำบอกเล่าของหม่อม เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าคนสนิทของหัวหน้าสืบในคืนข้ามสู่กันยายน ปี 2533 เมื่อ 28 ปีที่แล้ว

เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียรคนที่หนึ่ง บันทึกความเรียงบางส่วนต่อมิตรผู้ยิ่งใหญ่ของเขา หลังงานจัดการศพเมื่อ 28 ปีที่แล้วว่า

…มีเรื่องราวใดบ้างในประวัติศาสตร์ ที่เราสามารถจดจำและเข้าถึงรายละเอียดได้อย่างแท้จริงยังมิพักต้องพูดถึงความรู้สึกนึกคิดของผู้ที่สร้างเหตุการณ์เหล่านั้น

สืบ นาคะเสถียรใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่กลางป่าและล้มลงตรงกลางป่า ชื่อของเขาคงไม่ถูกลืมโดยง่าย แต่ต่อไปอาจจะถูกเอ่ยถึงบ่อยขึ้นในตัวเมือง

ทุกแว่นแคว้นถิ่นฐานล้วนมีคนอยู่ประเภทหนึ่งซึ่งนับจำนวนแล้วไม่เคยมาก พวกเขาทุ่มเททุกอย่างเพื่อกอบกู้สังคมที่ตัวเองสังกัด โดยไม่คำนึงถึงความเหนื่อยยากหรือแม้แต่ภัยอันตราย คนเหล่านั้นไม่ใช่ศาสดา แต่ถ้าถามถึงลักษณะร่วมก็พอจะระบุได้ว่ามีพอสมควร ที่สำคัญที่สุดคือทุกคนต้องมาใช้ชีวิตไถ่บาปที่เขามิได้เป็นผู้ก่อ ต้องลำบากตรากตรำและสละสิ่งต่างๆ อันควรเป็นของเขาเพื่อให้คนอื่นได้พ้นเคราะห์กรรมและได้รับคุณค่าแห่งชีวิตในราคาที่ถูกลง

ชีวิตของคนกล้ามิได้หมายถึงโรมรันกับความชั่วร้ายด้วยกำลังเสมอไป… หากหมายถึงความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวแน่วแน่ที่จะเดินตามเสียงเพรียกแห่งมโนธรรมโดยไม่ปล่อยให้สิ่งใดมาขัดขวางไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นคชสารเจ็ดงาหรือนาคราชเจ็ดเศียรก็ตาม มีแต่ทำเช่นนี้เท่านั้นพวกเขาจึงจะรู้สึกว่า การมีชีวิตอยู่เป็นเรื่องมีความหมาย และเมื่อถึงเวลาตายก็มีความหมายอยู่ดี

อย่างไรก็ตามวีรบุรุษนั้นเหมือนจะมาก่อนกาลเวลาเสมอ ทั้งนี้ เพราะพวกเขาคือผลพวงจากความต่ำต้อยของผู้อื่น ฝ่ายหลังทำให้พวกเขาใจร้อน จึงต้องเดินหนทางที่แตกต่างจากคนทั่วไป…

เสกสรรค์ ประเสริฐกุล เลขาธิการมูลนิสืบนาคะเสถียรคนที่หนึ่ง บันทึกถึงมิตรที่ชื่อ สืบ นาคะเสถียร ไว้เช่นนี้เมื่อ 28 ปีที่แล้ว

จะว่าไปแล้วผมสรุปความทุ่มเทเหนื่อยยากเพื่อไถ่บาปที่เขาไม่ได้เป็นผู้ก่อตามที่อาจารย์เสกสรรค์กล่าวมาของ สืบ นาคะเสถียร ออกได้เป็น 4 เรื่องใหญ่ๆ ที่กลายเป็นสัญลักษณ์และจุดเปลี่ยนของสังคมไทย ซึ่งผ่านมา 28 ปี มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ยังทำหน้าที่ในการขยายผลและสืบทอดเจตนารมณ์อย่างต่อเนื่อง

 

 

1. เหตุการณ์ในโครงการช่วยชีวิตสัตว์ป่าที่เขื่อนเชียวหลาน ซึ่งขยายผลมาสู่การคัดค้านเขื่อนน้ำโจนในภายหลังนำมาสู่งานเฝ้าระวังและทักท้วงโครงการที่ส่งผลกระทบต่อผืนป่าและสัตว์ป่าของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร

2. การเขียนรายงานเสนอคุณค่าป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้งเป็นมรดกโลกในช่วงคาบเกี่ยวการทำหน้าที่หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งนำมาสู่การทำงานเพื่อสร้างพื้นที่รูปธรรมของการอนุรักษ์ป่าอย่างเป็นระบบในผืนป่าตะวันตกของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร

3. ถ้อยคำประวัติศาสตร์ ในการนำสู่การบรรยายในการประชุมวิชาการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติครั้งที่ 1 ที่ สืบ นาคะเสถียร ประกาศชัดว่า “ผมขอพูดในนามสัตว์ป่า” การประกาศเจตนาเป็นตัวแทนของธรรมชาติครั้งนี้ ผมมักนึกถึงอนุสรณ์สถานสืบนาคะเสถียรที่มูลนิธิสืบฯ สร้างขึ้นมอบให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ใช้เป็นสถานที่เชิงจิตวิญญาณที่จะเป็นสัญลักษณ์ถ่ายทอดเรื่องราวของคุณสืบไว้ตลอดไป

4. ภาพลักษณ์ข้าราชการน้ำดีของกรมป่าไม้ ที่นำไปสู่การรู้จักบุคคลที่สามารถประกาศตัวเองว่าเป็น “นักอนุรักษ์” สถาปนา “การอนุรักษ์ธรรมชาติ” ขึ้นอย่างเด่นชัดในสังคมไทย หลังสิ้นเสียงกระสุนนัดนั้นเมื่อ 28 ปีก่อน มูลนิธิสืบฯ​ จึงมิเคยละเลยที่จะผลักดันเชิงนโยบายสู่การพัฒนาของการทำงานอนุรักษ์ของหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบของประเทศ รวมถึงการพัฒนาองค์กรไปสู่องค์กรการสื่อสารการอนุรักษ์ ระดับประเทศ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารการอนุรักษ์สู่สังคมไทยของมูลนิสืบนาคะเสถียรย่อมเปรียบเสมือนการทำหน้าที่ขยายผลให้ประเทศไทยยังมีขบวนการอนุรักษ์ธรรมชาติอย่างต่อเนื่องตามเจตนารมณ์ของคุณสืบ

 

 

เรื่องราวของ สืบ นาคะเสถียร เกิดขึ้นอย่างพอเหมาะพอดีกับโลกที่เริ่มสำนึกรู้ว่ามนุษย์ทำลายความสัมพันธ์ของชีวิตและธรรมชาติไปอย่างเกินเลย ในต้นทศวรรษที่ 30 ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เปิดเผยมากมายว่าว่าเผ่าพันธุ์ของเราทำลายป่าและล่าสัตว์ป่า ทำการประมงเกินขนาด พัฒนาอุตสาหกรรมและพลังงานสร้างมลภาวะ และปล่อยกาวเรือนกระจกมากมาย นี่เป็นความรู้ที่เริ่มตระหนักในความจริงที่ปรากฏชัดในช่วงนั้น ความตายของสืบ นาคะเสถียร คล้ายเป็นบทสรุปของสังคมไทยมีผู้ประกาศที่จะ “สืบทอดเจตนา” มากมาย และก่อเกิดเป็นขบวนการสิ่งแวดล้อมร่วมสมัยที่แผ่ขยายกว้างขวาง และมีการเรียนรู้ ถอดบทเรียนบนความตายของหัวหน้ารักษาพงไพรจังหวัดอุทัยคนนั้นอย่างกว้างขวาง

ยืนยง โอภากุล กลั่นวรรคทองที่เป็นผลสะเทือนชัดเจนยิ่งกว่า

“สืบ นาคะเสถียร คือบทเรียนข้าราชการไทย ถือประโยชน์ของชาติเป็นใหญ่ ถึงตัวจะตาย แต่หัวใจคงอยู่”

สุรชัย จันทิมาธร แต่งเพลงในอีก 12 ปี ต่อมาอย่างพินิจและใคร่ครวญว่า

“สืบ นาคะเสถียร คือบทเรียนข้าราชการไทย ไม่เพียงเท่านั้น คือขวัญ กำลังใจ ของคนรักป่า

เพราะไม่เพียงความตายของสืบ นาคะเสถียร จะสร้างผลสะเทือนให้เกิดความเปลี่ยนแปลงมากมายในวงการข้าราชการป่าไม้ การอนุรักษ์ป่าห้วยขาแข้ง-ทุ่งใหญ่นเรศวรอย่างทุ่มเทของหัวหน้าและเจ้าหน้าที่รวมถึงการสนับสนุนจากกรมที่เชื่อว่า สืบ นาคะเสถียร อาจจะเคยฝันถึงในยามหลับใหลเท่านั้น

นอกจากนี้การทยอยประกาศเขตอนุรักษ์ป่าเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องมาอีกร่วมสามทศวรรษจนกระทั่งวันนี้มีป่าอนุรักษ์ที่มีพื้นที่เกินจำนวนที่พี่สืบเคยเสนอไว้เสียอีก  ยังเกิดขบวนการอนุรักษ์ธรรมชาติมากมาย และประเทศไทยก็เกิดบรรทัดฐานทางสังคมที่ไม่ยอมรับการทำลายป่า หรือการล่าสัตว์ป่าที่สถาปนารากฐานความคิดจากรุ่นสู่รุ่นอย่างไม่เคยเกิดมาก่อน

แน่นอนว่าบนความเปลี่ยนแปลงนี้มีเหตุการณ์เมื่อ 28 ปีที่แล้วเป็นจุดเปลี่ยนใหญ่ และในใจของคนทำงานอนุรักษ์ล้วนมีแสงเทียนที่ไม่เคยดับที่พี่สืบจุดไว้ที่ห้วยขาแข้งแท่งนั้นส่องสว่างอยู่ในความมืดอย่างอาจหาญมั่นคง

นอกจากศิลปินและเพลงที่ได้รู้จักกันอย่างแพร่หลายของศิลปินใหญ่นามอุโฆษที่กล่าวมา ความตายของสืบยังเป็นแรงสะเทือนใจที่ส่งแรงบันดาลใจให้ผู้คนและศิลปินอีกมากมายสื่อสารงานออกมาถึง สืบ นาคะเสถียร อย่างมากมาย ในวันนี้ผมขอนำท่อนสำคัญบทเพลงเก่าแก่ของศิลปินใต้ดินคนหนึ่งมาให้พวกเราฟัง เนื้อเพลงที่แต่งถึง สืบ นาคะเสถียร ที่สะเทือนความรู้สึกของเขาลึกซึ้งไปถึงว่า

“แสงทองส่องฟ้า เหมือนเป็นไออุ่นจากเธอ สายลมพัดหญ้าเอนไหว คือลมหายใจของเธอ สายฝนที่หล่นโปรยปราย คือน้ำใจหลั่งไหลจากเธอ เสียงฟ้าคำรามพร่ำเพ้อ คือเสียงเธอบอกรักพงไพร”

เพลง สืบ นาคะเสถียร โดย นิด พาร์ทไทม์

ท่อนหนึ่งของเพลงนี้ไม่เกินเลยไปมากมาย หากจะบอกว่าอนาคตที่ประเทศไทยจะมีธรรมชาติที่ยังโอบอุ้มเกื้อกูลเราอยู่ล้วนเป็นส่วนหนึ่งจากชีวิตและความตายของสืบ

เมื่อ พ.ศ.2532 สืบ นาคะเสถียร ได้รับทุนไปเรียนปริญญาเอกที่ประเทศอังกฤษแต่กลับตัดสินใจไปรับหน้าที่หัวหน้าเขตรักษาป่าที่ห้วยขาแข้ง เหตุผลใหญ่ที่สุดที่ไม่ไปเรียนต่อแต่กลับเลือกที่จะใช้ชีวิตเป็น “หัวหน้ารักษาพงไพร จังหวัดอุทัย ณ ห้วยขาแข้ง” ไม่มีอะไรชัดเจนไปกว่าการเลือกเดิมพันชีวิตที่เหลือเพื่อรักษา “มรดก” ชิ้นสำคัญที่สุดชิ้นหนึ่งไว้ให้กับมนุษยชาติ เพราะห้วยขาแข้งต่อเนื่องกับทุ่งใหญ่นเรศวรเป็นป่าใหญ่ที่ไม่เคยถูกสัมปทานไม้ ยังรักษาสภาพดั้งเดิมของธรรมชาติไว้ได้มากที่สุด

สำคัญกว่านั้นคือตำแหน่งแห่งที่ตั้งของผืนป่ามหึมานี้อยู่ในรอยต่อสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งทางชีวภูมิศาสตร์ของโลก โชคดีของประเทศไทยที่ได้ประกาศป่าห้วยขาแข้งแห่งนี้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าไว้ตั้งแต่ พ.ศ.2515 หลังจากในตอนแรกเป็นพื้นที่อนุญาตสัมปทานไม้ไปแล้ว แต่มีการพบควายป่า และสัตว์ป่าที่สำคัญอื่นๆ ส่วนป่าทุ่งใหญ่ที่มีพื้นที่ต่อเนื่องกันถูกประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าในปี 2516

การตัดสินใจ เลือก และ แลก ครั้งนั้น มาจากข้อมูล และความรู้ด้านนิเวศวิทยาอย่างแท้จริง สืบเคยกล่าวไว้ว่า

“ถ้าเรามีพื้นที่ป่าที่ดีที่สุดคือห้วยขาแข้ง แล้วเรายังไม่รักษา แม้แต่กรมป่าไม้เองก็ยังไม่สนใจรักษา ก็อย่าหวังว่าจะรักษาที่อื่นให้รอดได้”

การที่สืบ “เลือก และ แลก” นี่คือการสอนเราให้รู้ว่า การอนุรักษ์ไม่ใช่อะไรอื่น แต่คือการทุ่มเทรักษาสิ่งที่ยังดี และมีคุณค่าที่จะเก็บรักษาเพื่อประโยชน์ในอนาคตของคนรุ่นหลัง

แน่นอนที่สุดว่าเราย่อมไม่สามารถหยุดการทำลายทรัพยากรและระบบนิเวศจากการพัฒนาขยายวิถีชีวิตเมืองและอุตสาหกรรม

แต่เรา “เลือก และ แลก” ด้วยการทุ่มเทชีวิตการทำงาน ที่จะนำเสนอ รณรงค์ ต่อสู้ในหลากหลายวิถีทาง ที่จะรักษาพื้นที่สำคัญที่พอหน่วงไหว้ไม่ให้ถูกทำลายในชั่วชีวิตของเราไว้ได้บ้าง ก่อนส่งต่อความตั้งใจ และภารกิจสู่คนรุ่นต่อๆ ไป

ขณะเดียวกัน การพูดในนามสัตว์ป่าของ สืบ นาคะเสถียร ย่อมมิใช่การเทศนาบาปบุญคุณโทษของการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตต่อมนุษยชาติผู้ยังดำรงชีพด้วยการกินเนื้อ และบ้างก็ถือว่าการล่าคือบ่อเกิดแห่งอารยธรรมเสียด้วยซ้ำ แต่กลับเป็นความหมายที่จะจัดความสัมพันธ์ของมนุษย์ต่อสัตว์ป่าให้เห็นหน้าที่ของแต่ละชีวิตในระบบนิเวศที่ทำงานรักษาความสมดุลทั้งการเป็นห่วงโซ่อาหารเพื่อถ่ายทอดพลังงาน หมุนเวียนแร่ธาตุ และการพึ่งพาอาศัยกันและกันของสังคมพืชและสัตว์ป่า ทั้งนี้ก็เพื่อให้ป่ายังคงทำหน้าที่รักษาสมดุล ดิน น้ำ ลม ไฟ ให้กับมนุษย์ในเมือง

 

 

สมรภูมิการอนุรักษ์ที่มีผู้คนทำงานเลือก และ แลก ด้วยการทำงานหนักตลอด 28 ปีที่ผ่านมามีทั้งที่แพ้พ่ายและยังไม่แพ้

ผมยกตัวอย่าง เรื่องสำคัญที่เอ่ยถึงก็นึกตามได้ให้ฟังสักหลายเรื่อง

สถิติในช่วงสามสิบปีที่ผ่านมาเราเสียป่าให้กับพื้นที่เกษตรกรรมจำพวกพืชเชิงเดี่ยวเฉลี่ยปีละล้านไร่ ทำให้พื้นที่ป่าหายไปในช่วงยี่สิบปีหลังสืบนาคะเสถียรชีวิต ราวๆ 20 ล้านไร่ นั่นคือ 5-7% ของพื้นที่ป่าประเทศไทย ในขณะเดียวกันก็เร่งประกาศเขตคุ้มครองป่าต้นน้ำธารที่เข้มงวดประเภทอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าได้มากกว่า 30 ล้านไร่ ทำให้สถานการณ์ป่าไม้ในช่วงเวลาหลายปีมานี้ยังมีป่าอยู่พอประมาณถึง 102 ล้านไร่ หรือ ราว 31% ของพื้นที่ประเทศไทย และมีสถิติการลดลงของป่าน้อยลงอย่างชัดเจน

ผลการวางมาตรการอนุรักษ์สัตว์ป่าที่ป่าห้วยขาแข้งหลังการตายของสืบชัดเจนว่า สถานภาพของสัตว์ป่าดีขึ้นทั้งจากผลการวิจัยประชากรเสือโคร่ง นกเงือก ควายป่า กระทิง และวัวแดง รวมถึง นกยูง พบการแพร่กระจายของสัตว์ป่าออกไปยังพื้นที่ที่เหมาะสมในป่าตะวันตกในหลายพื้นที่ แต่ยังไม่ชัดเจนว่าประชากรสัตว์ป่าเหล่านี้จะเพิ่มขึ้นได้หรือไม่ เนื่องจากพื้นที่ในป่าตะวันตกก็ยังไม่มีมาตรฐานการจัดการสัตว์ป่าที่เทียบเท่ากับทุ่งใหญ่ ห้วยขาแข้ง เช่นเดียวกับข้อมูลที่พบการเดินทางไปกลับของนกเงือกจากห้วยขาแข้งไปถึงกลุ่มป่าบาลาฮาลา และมาเลเซีย แต่ก็ไม่แน่ใจได้ว่าการกระจายพันธุ์และการอนุรักษ์ฝูงนกเงือกระหว่างการบินไป และการรักษาประชากรของพวกมันจะทำได้หรือไม่ในป่าฮาลาบารา และในมาเลเซีย

แต่นั่นย่อมไม่ใช่การไร้ซึ่งความหวัง เพราะมีคนแลกชีวิตที่กำลังพัฒนาระบบงานอนุรักษ์เพื่อให้พื้นที่การกระจายตัวของสัตว์ป่าเหล่านั้นได้รับการเลือกที่จะเก็บรักษามันไว้ให้ได้ในทุกๆ พื้นที่

ขณะที่บางพื้นที่มีความหวัง แต่สถานการณ์ในช่วง 28 ปีที่ผ่านมากก็ชัดเจนว่าประชากรเสือโคร่งหมดไปจากป่าเขาใหญ่และป่าอื่นๆ สัตว์สำคัญที่เป็นตัวบ่งชี้ความอุดมสมบูรณ์ของป่าที่ลุ่มต่ำอย่างนกแต้วแล้วท้องดำใกล้สูญพันธุ์ไปจากประเทศไทย สัตว์ป่าสงวนหลายชนิดที่เมื่อครั้งสืบนาคะเสถียรยังมีชีวิตยังมีรายงานว่าพบร่องรอยและอาจจะมีความหวังว่าจะยังมีอยู่ ปัจจุบันนักนิเวศวิทยาค่อนข้างแน่ใจว่าหมดความหวังที่จะพบเจอได้อีกแล้วในป่าธรรมชาติของไทย เช่น กระซู่ หรือ กูปรี

เขื่อนใหญ่เขื่อนสุดท้ายที่สร้างได้ในป่า คือ เขื่อนเชี่ยวหลาน พื้นที่ที่ สืบ นาคะเสถียร ทำโครงการช่วยเหลือชีวิตสัตว์ป่า และกระแสอนุรักษ์จากการคัดค้านเขื่อนน้ำโจนยังทำให้นักอนุรักษ์ยังหน่วงรักษาป่าแก่งเสือเต้น แม่วงก์ ภูเขียว เอาไว้ได้

ในพื้นที่ระบบนิเวศอื่นๆ นอกจากป่า ในช่วง 28 ปีที่ผ่านมา เขตเมือง ระบบชลประทาน และนิคมอุตสาหกรรมเข้าแทนที่พื้นที่เกษตรกรรม ทุ่งนา และพื้นที่ชุ่มน้ำทั่วทั้งภาคกลาง และป่าบุ่งป่าทามภาคอีสาน รวมถึงหลายแห่งในป่าพรุภาคใต้ รูปธรรมความเปลี่ยนแปลที่ชัดเจนคือการตัดขาดของพันธุ์ปลาจากแม่น้ำโขงมายังลุ่มน้ำอีสานจากเขื่อนปากมูน

พื้นที่ชายทะเลมากมายถูกพัฒนาเพื่อท่าเรือและนิคมอุตสาหกรรมในสเกลระดับโลก เช่น อ่าวอุดม แหลมฉบัง มาบตาพุด ขนอม

แต่กระนั้นความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น และความเข้าใจต่อผลกระทบของการพัฒนายังทำให้พื้นที่ที่มีระบบนิเวศ และทรัพยากรสมบูรณ์หลายแห่งยังรักษาไว้ได้ แม้จะเกิดสมรภูมิความขัดแย้งในระดับมึงสร้างกูเผา อาทิ ทะเลบ้านกรูด บ่อนอก สิชล ปากบารา สวนกง พื้นที่ชุ่มน้ำกระบี่

การประมงเกินขนาดจากเครื่องมือประมงทำลายล้างทำให้จำนวนปลาและสัตว์น้ำลดจำนวนจากทะเลไทย แต่ก็มีการต่อสู้ของเครือข่ายชุมชนประมงพื้นบ้านต่อเนื่องยาวนานที่ปัจจุบันเริ่มตีโต้กลับได้บ้าง ดังเช่นเห็นผลจากการยกเลิกเครื่องมือบางชนิดที่ส่งผลกระทบรุนแรงอย่างอวนรุน และการจำกัดจำนวนเรืออวนลากในปัจจุบัน

ผมเพียงแค่ยกตัวอย่างให้เห็นว่า การอนุรักษ์ไม่ใช่อื่นใดนอกจากการ “เลือก และ แลก”

และนั่นก็นำไปสู่ความสมดุลและหน่วงโลกที่หมุนไปทางทำลายล้างให้ช้าลงบ้าง เพื่อให้มนุษย์ได้ตระหนัก และค่อยๆ ได้ทบทวน ได้เข้าใจ และเปลี่ยนใจ

ในระดับโลก ความเปลี่ยนแปลงที่คู่ขนาน ความตายของ สืบ นาคะเสถียร มาพร้อมกับข่าวการปล่อยของเสียกากนิวเคลียร์ลงในมหาสมุทร และการต่อสู้ของเรือเรนโบว์วอริเออร์ การทำลายป่าแอมะซอน รวมถึงเรื่องใหญ่ในภูมิภาคเราอย่างโครงการสร้างเขื่อนยักษ์ในแม่น้ำโขง สาละวิน และเขื่อนยักษ์ในประเทศลาว ขณะที่โลกก็เปลี่ยนแปลงขยายภาคการค้าขาย ขนส่ง การสื่อสารไร้พรมแดน การใช้พลังงานอย่างก้าวกระโดด ข้อมูลชัดเจนเรื่องโลกร้อน น้ำแข็งขั้วโลกละลาย ภาวะอากาศแปรปรวนสุดขั้ว โรคระบาดจากแมลงที่เป็นผลพวงจากภาวะโลกร้อน แต่ขณะเดียวกันการประชุมสิ่งแวดล้อมโลกที่ริโอเดอจาเนโร เมื่อปี 2534 ก็ทำให้โลกมีวาทกรรมที่เป็นความหวังอย่างคำว่า “การพัฒนาที่ยั่งยืน” และข้อตกลงลดโลกร้อนต่างๆ การเคลื่อนไหวให้ความรู้ระดับอดีตรองประธานาธิบดี อัล กอร์ เรื่องภาวะโลกร้อนทั่วโลก จนนำไปสู่ข้อตกลงที่เป็นความหวังอย่าง COP21 ที่ฝรั่งเศส จนปัจจุบันสหประชาชาติได้กำหนดแนวทางที่ทุกประเทศให้การยอมรับ อย่าง SDG หรือ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน Sustainable Development Goals

แม้ในระดับโลก การอนุรักษ์ไม่ใช่อื่นใดนอกจากการเลือก และ แลก

เราหยุดการพัฒนาที่ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติ ความสมดุลทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคตไม่ได้แต่เราสามารถที่จะสร้างผู้คนในฝ่ายอนุรักษ์เพื่อหน่วงการทำลายไว้ให้ทันหัวใจที่จะเปลี่ยนแปลงได้ในวันหนึ่ง

ปัจจุบัน มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ยังเป็นองค์กรหลักระดับประเทศที่สื่อสารความรู้ความเข้าใจในเรื่องระบบนิเวศป่าไม้ และผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่างเพื่อให้สาธารณะชนรับรู้และเป็นแนวร่วมในการอนุรักษ์สืบสานเจตนาให้ คุณสืบ  นาคะเสถียร ต่อไป เพื่อให้ประเทศไทยยังคงมีป่าตะวันตกเป็นต้นน้ำลำธาร และแหล่งความหลากหลายทางชีวภาพให้กับประเทศไทย และโลกของเราให้ยาวนานที่สุดเท่าที่พวกเรา และนักอนุรักษ์รุ่นต่อไปยังมีแนวร่วม และการสนับสนุนจากสาธารณะชนอย่างที่ผ่านมายี่สิบแปดปี

งานของมูลนิธิสืบฯ ที่ว่ามาก็เพียงทำได้ตามปัจจัยทุน และบุคลากรที่จำกัดแต่นั่นก็เสริมด้วยหัวใจที่เข้มแข็ง ที่สำคัญก็คือวิถีวิธีทำงานที่มีพี่สืบเป็นต้นแบบ และทำงานแบบที่ต้องมีต้นทุนชีวิตทั้งหมดเป็นเดิมพัน

แต่นั่นก็ยังไม่เท่ากับสังคมไทย และขบวนการอนุรักษ์ที่เติบโต เปลี่ยนแปลงโลกให้มีความหวังมาตลอด 28 ปี ด้วยกัน

ด้วยจิตคาราวะ
ศศิน เฉลิมลาภ
ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร