จาก 8 เดือน ที่ห้วยขาแข้ง ถึง 28 ปี สืบ นาคะเสถียร

จาก 8 เดือน ที่ห้วยขาแข้ง ถึง 28 ปี สืบ นาคะเสถียร

ณ ห้วงหนึ่งของกาลเวลา ในรุ่งสางของวันที่ 1 กันยายน 2533

ขณะความมืดกำลังจากไป และแสงวันใหม่กำลังเข้ามา ที่ที่จุดจบและจุดเริ่มต้นได้เดินทางมาบรรจบกัน

สืบ นาคะเสถียร หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ได้จุดประกายไฟแห่งการอนุรักษ์ ด้วยแสงเทียนเล่มเล็กๆ แต่สว่างแผ่ซ่านไพศาล เป็นจุดหมายให้กัลยามิตรทุกภาคส่วนหันมาสนใจผืนป่าห้วยขาแข้ง และผืนป่าอนุรักษ์ทั่วประเทศ

และให้เราทุกคนได้มารวมตัวกัน ณ ผืนป่าแห่งนี้ เพื่อระลึกถึงอดีต อยู่กับปัจจุบัน และมองยังอนาคต ด้วยเจตนาเดียวกัน

เจตนาของ สืบ นาคะเสถียร

ย้อนหลังไป ในเดือนธันวาคม 2532

สืบ นาคะเสถียร ชายผู้มีนิสัยมุ่งมั่นจริงจังมาตั้งแต่วัยเด็ก ชายที่มุมานะช่วยเหลือสัตว์ป่าอย่างมิรู้จักเหน็ดเหนื่อย ชายที่ประกาศกร้าวพร้อมยอมแลกชีวิตตัวเองเพื่อลูกน้อง

ได้ตัดสินใจปฏิเสธทุนเรียนต่อปริญญาเอกที่ประเทศอังกฤษ เพื่อเข้ามารับตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ผืนป่าที่ในเวลานั้นแทบไม่เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป เว้นเสียแต่ บรรดาพราน หรือนักทำไม้ ผู้ที่จ้องเข้ามาขโมยทรัพย์สมบูรณ์ออกไปเพื่อประโยชน์ส่วนตน

หากแต่ประสบการณ์ในอดีตที่บ่มเพาะ สืบ รู้ดีว่า ป่าผืนใหญ่แห่งนี้มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ และการดำรงอยู่ของสรรพชีวิต ยังประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังที่สืบได้ปรารภอยู่เสมอว่า “หากมีโอกาสไปดำรงตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแล้ว เขาขอเลือกเพียงสองแห่งคือ ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร และป่าห้วยขาแข้ง”

ก่อนเข้ามาเป็นหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เขาและกัลยาณมิตรเคยร่วมกันสำรวจ ศึกษา ข้อมูลทางระบบนิเวศ ทำความเข้าใจถึงความสมบูรณ์ของป่าใหญ่แห่งนี้

ทั้งยังเป็นแนวหน้าในการคัดค้านการทำสัมปทานไม้ในห้วยขาแข้ง และคัดค้านเขื่อนน้ำโจนในผืนป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ที่มีอาณาเขตเชื่อมต่อกัน

สำหรับห้วยขาแข้งในเวลานั้น เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งเดียวที่ไม่มีราษฎรบุกรุกอาศัย ความเป็นพื้นที่รอยต่อของสามเขตสัตวภูมิศาสตร์ที่แทบจะหาไม่ได้ในโลกนี้ ทำให้อุดมสมบูรณ์ไปด้วยสัตว์ป่าหายากจำนวนมาก เช่น กระทิง วัวแดง ควายป่า นกยูงไทย สมเสร็จ เสือโคร่ง เสือดาว ช้างป่า

ในห้วงความรู้สึกของสืบ ได้ตะโกนก้องออกมาว่า “ถ้าเรามีพื้นที่ป่าที่ดีที่สุดคือห้วยขาแข้ง แล้วเรายังไม่รักษา แม้แต่กรมป่าไม้เองก็ยังไม่สนใจรักษา ก็อย่าหวังว่าจะรักษาที่อื่นให้รอดได้”

สืบ ได้อาศัยความเข้าใจ และความจริงใจ กระโดดเข้าปกป้องผืนป่าและสัตว์ป่า

หากการต่อสู้ของสืบ ใช่มีเพียงความรู้สึกอย่างเดียว แต่ยังประสานเข้ากับการเรียนรู้ศึกษาในเชิงวิชาการ ผสานเป็นความเข้าใจอันถ่องแท้

เพราะก่อนจะเป็นหัวหน้าสืบ ก่อนจะเป็นนักอนุรักษ์นักเคลื่อนไหว สืบเคยทำงานด้านวิชาการมาก่อน เคยทำงานวิจัยมาแล้วหลายชิ้น

ภาพคุ้นชินของคนรู้จัก จะเห็นสืบสะพายกล้องถ่ายภาพ กล้องส่องทางไกล พกสมุด ปากกา จดและบันทึกสิ่งที่เห็น

หลังเลิกงาน ภายใต้แสงเทียนดวงน้อยตรงระเบียงบ้านพัก สืบนั่งเขียนรายงานข้อมูลสิ่งต่างๆ ที่ออกไปพบเจอด้วยเครื่องพิมพ์ดีด จนเกิดรากฐานสำคัญในการดูแลรักษาผืนป่าห้วยขาแข้ง

ผลงานที่สำคัญ 2 ชิ้น ขณะอยู่ที่ห้วยขาแข้ง คือ การทำแผนแม่บทการจัดการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ห้วยขาแข้ง ร่วมกับคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก่อนกลายเป็นต้นแบบ ขยายไปสู่การจัดการพื้นที่อนุรักษ์อื่นๆ

และยังเป็นผู้เขียนรายงานเสนอให้ผืนป่าทุ่งใหญ่และห้วยขาแข้ง เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ เป็นผลให้ผืนป่าทั้งสองแห่ง ได้รับการดูแลอย่างดีมาจนถึงปัจจุบัน

สืบ ไม่ได้มองว่าข้าราชการ หรือต้องเป็นคนมีอำนาจเท่านั้น ที่จะเป็นผู้ดูแลผืนป่าห้วยขาแข้ง สิ่งสำคัญของการทำงานรักษาผืนป่า คือ การสร้างแนวร่วม และการทำงานสื่อสาร

ข้อมูล งานวิชาการ ได้รับการบรรจงเรียงร้อยเรื่องราวขึ้นใหม่ สำหรับใช้บรรยายแก่สาธารณะ โดยเฉพาะกับเยาวชนรอบผืนป่าห้วยขาแข้ง

สืบใช้เวลากลางดึก ออกแบบงานนิทรรศการ เขียนโปสเตอร์ เขียนบอร์ดด้วยตัวเอง รุ่งเช้าก็ขับรถออกไปทำความเข้าใจกับชุมชน บรรยายให้ความรู้กับเด็กนักเรียนรอบผืนป่าห้วยขาแข้ง

หากมีโอกาสเดินทางไกลจากป่าสู่เมือง สืบก็ยินดีที่จะอธิบายให้สาธารณชนได้เข้าใจทุกสภาพของผืนป่าห้วยขาแข้ง และสถานะของสัตว์ป่า

ในงานวันสิ่งแวดล้อม ปี 2533

สืบได้เอ่ยก่อนการบรรยายว่า “ผมขอพูดในนามของสัตว์ป่าทุกตัว”

กัลยามิตรหลายท่านที่เคยได้เข้ามาเยี่ยมเยียนเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งนี้ หากมีโอกาสได้พบปะกับหัวหน้าสืบ ต่างเล่าตรงกันว่า หัวหน้าสืบมักจะบรรยายเรื่องความสำคัญของผืนป่าและสัตว์ป่า รวมถึงการทำงานของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าให้แขกเหรื่อฟังด้วยตัวเอง

มีครั้งหนึ่ง ผู้ฟังรู้สึกเข้าใจ และเห็นใจการทำงานของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า จนต้องกลับมาจัดคอนเสิร์ตระดมทุน เพื่อหาอุปกรณ์ให้แก่เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า

แต่ห้วยขาแข้งเวลานั้น งบประมาณที่ได้ลงมาดูแลรักษาค่อนข้างจำกัด คนทำงานต้องประสบปัญหาตกเบิก และไม่มีสวัสดิภาพสวัสดิการรองรับ มิหนำซ้ำเครื่องไม้เครื่องมือสำหรับการทำงานยังไม่เพียงพอ อาวุธประจำกายของเจ้าหน้าที่มีเพียงปืนลูกซอง ขณะที่นักล่าสัตว์มีปืนเอ็ม 16 เป็นอาวุธ

หลายครั้งที่ลูกน้องของสืบได้รับบาดเจ็บจากการออกไปลาดตระเวนปราบปรามผู้กระทำผิด

และหลายครั้ง เป็นการแลกมาด้วยชีวิต

สืบ พยายามอย่างยิ่งในการวิ่งหาแหล่งทุนจากภายนอก เพื่อเอามาใช้จ่ายให้แก่เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า บางครั้งหยิบยืมมาจากครอบครัว มากกว่านั้น คือ การพยายามแสดงให้เห็นว่า เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่ามีความสำคัญเพียงใด

“เรามีค่าเหรอ ตายไปอย่างดีก็เอาชื่อมาติดที่อนุสาวรีย์หน้ากรมป่าไม้”

ห้วยขาแข้งเป็นป่าที่มีพื้นที่ขนาด 1 ล้าน 6 แสนกว่าไร่เศษ แต่มีงบประมาณสำหรับดูแลป่าแห่งนี้ได้เพียงไร่ละ 80 สตางค์ต่อปี  ต้นทุนที่มีกับเหตุการณ์ที่ปรากฏ ช่างสวนทางกัน

ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า การลักลอบล่าสัตว์ เป็นปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นทุกวัน ในจำนวนเรื่องที่พบ บางครั้งมีเจ้าหน้าที่หรือผู้มีอิทธิพลเข้ามาเกี่ยวข้อง

แม้สืบเป็นคนทำงานจริงจัง ไม่กลัวอิทธิพลใดๆ แต่พลังของคนคนหนึ่งกับจำนวนลูกน้องเพียงหยิบมือที่มีอุปกรณ์ไม่พร้อมสรรพ คงยังไม่พอสำหรับการจะรักษาป่าผืนนี้

สืบเคยระบายออกมาอย่างเหลืออดว่า “จะให้ผมไปรักษาอะไร มาเคี่ยวเข็ญให้ผมรักษาป่า แถมยังต้องมาชี้แจงอีกว่ารักษาอย่างไร”

หลากปัญหาที่ถาโถมเข้ามายังป่าห้วยขาแข้ง ทั้งการลักลอบทำไม้ อิทธิพลเถื่อน การสูญเสียผู้ใต้บังคับบัญชา กลายเป็นความกดดันถมทับกำลังใจ

สืบเคยคิดที่จะหยุด แต่เขาไม่อาจหนีจากสิ่งที่รักได้

แต่ถึงแม้จะมีความมุ่งมั่นสักเท่าไหร่ มีความพยายามมากมายเพียงใด หากแต่สิ่งที่สืบทำ กลับเป็นเพียงเจตนาที่ไม่มีใครมองเห็น

ครั้งแล้วครั้งเล่าที่สืบพยายามรายงานต่อผู้บังคับบัญชาไปจนรัฐมนตรี ดูจะเสียแรงเปล่า

ความสิ้นหวังในระบบ ตอกย้ำความอาดูรให้ยิ่งสาหัส

ในห้วงคำนึงนั้น สืบรู้สึกว่า กำลังต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว และไม่อาจจะคาดหวังจากใครได้อีกต่อไป

จากจุดเริ่มต้น นำไปสู่จุดสิ้นสุด และกลายเป็นจุดเริ่มต้นอีกครั้ง

สืบเคยบอกกับคนรอบข้างว่า “ผมสามารถให้ทุกสิ่งกับห้วยขาแข้งได้”

จากความคิด ความมุ่งมั่น และการลงมือกระทำ จากอดีต เป็นปัจจุบัน และกำลังเดินทางสู่อนาคต

ป่าห้วยขาแข้งในปัจจุบันสมัย ไม่เหมือนกับเมื่อ 28 ปีก่อน ปัญหาการล่าสัตว์ตัดไม้ อันเป็นมะเร็งระรานระบบนิเวศค่อยๆ ถูกกำจัดออกไป จากการกรำงานอย่างหนักของผู้ที่เข้ามาสานต่อเจตนา

แม้ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าภัยคุกคามผืนป่าจะหมดลงอย่างสิ้นเชิง แต่เสียงปืนเคยกังวานทุกเมื่อเชื่อวัน ในวันนี้ได้เปลี่ยนเป็นเสียงย่ำพื้นของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า นักวิจัย นักวิชาการที่ตบเท้าตระเวนไพร ด้วยสัจจะเดียวกับหัวหน้าสืบ

ในค่ำวันนี้ที่หน้าอนุสรณ์สถานแทนตน สืบ นาคะเสถียร ยังคงอยู่ ไม่จากไปไหน

เพียงแต่เปลี่ยนจากรูปกาย เป็นความรัก ความศรัทธา เป็นเจตนา และความมุ่งมั่นอันแรงกล้า แฝงเร้นอยู่ในตัวของพวกเราทุกคนที่กำลังยืนอยู่ ณ ที่แห่งนี้

เพื่อต่อแสงเทียนจากวันนั้น เหมือนดังเช่นทุกครั้งตลอด 27 ปีที่ผ่านมา

เพื่อให้งานอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สิ่งที่สืบทำ สิ่งที่เราสาน ยังคงสว่างไสว แผ่ซ่านไพศาล สืบ… ต่อไป…

 


บทบรรยาย แสงสีเสียง รำลึก 28 ปี สืบ นาคะเสถียร 31 สิงหาคม 2561 ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง
เอกวิทย์ เตระดิษฐ์ หัวหน้าฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร