ไผ่ซางหม่น พืชสารพัดประโยชน์ เพื่อคนอยู่ได้ สัตว์ป่าก็อยู่ได้ และสร้างโลกที่สมดุล

ไผ่ซางหม่น พืชสารพัดประโยชน์ เพื่อคนอยู่ได้ สัตว์ป่าก็อยู่ได้ และสร้างโลกที่สมดุล

ไผ่ซางหม่น จำนวนเกือบๆ สองหมื่นต้นที่ถูกปลูกภายใต้ ‘โครงการจัดการระบบนิเวศในพื้นที่ป่าสงวนเพื่อแนวเชื่อมต่อป่าตะวันตกสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน’ หรือโครงการเชื่อมป่าฯ กำลังค่อยๆ โตวันโตคืน

หลังผ่านฝนและแดดมา 4 ปี ก็ใกล้สู่ช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับนำมาใช้ประโยชน์ เพื่อสร้างรายได้ให้กับสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการเชื่อมป่าฯ รวมถึงไว้ใช้เป็นกองทุนทรัพย์สินส่วนกลางเพื่อการดูแลทรัพยากรอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต

ส่วนจะนำไปใช้ประโยชน์หรือเพิ่มมูลค่าในรูปแบบใด คำตอบของเรื่องนี้ยังอยู่ระหว่างการหารือร่วมกันของสมาชิกกลุ่ม การศึกษาระเบียบข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์ที่ดิน ตลอดจนการออกแบบวิธีการบริหารจัดการให้เกิดความเข้มแข็งและโปร่งใส

ที่อีกไม่นานเกินรอเราคงได้เห็นรูปธรรมของเรื่องนี้ปรากฏตรงหน้า และเป็นการก้าวไปอีกขั้นของ ‘โครงการจัดการระบบนิเวศในพื้นที่ป่าสงวนเพื่อแนวเชื่อมต่อป่าตะวันตกสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน’

ส่วนในตอนนี้ เราจะย้อนกลับมาพูดถึง ‘ไผ่ซางหม่น’ พืชที่ถูกเลือกมาเป็นสะพานเชื่อมระบบนิเวศ เป็นคอริดอรอร์ให้กับสัตว์ป่าระหว่างอุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้าและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสนามเพรียงกันเสียหน่อย

“สมาชิกที่เข้าร่วมโครงการเห็นตรงกันว่าควรเลือกไผ่ซางหม่น มาเป็นพืชเศรษฐกิจในโครงการ” อำนาจ สุขขวัญ หัวหน้างานป่าสงวนแห่งชาติ และผู้รับผิดชอบโครงการเชื่อมป่าฯ ท้าวความถึงที่มา และขยายความต่อว่า

“เหตุผลที่เลือก เพราะสมาชิกมองว่า ไผ่เป็นพืชที่โตไว ใช้เวลารอไม่นานก็สามารถตัดเอามาใช้ประโยชน์ได้ อีกทั้งยังนำมาแปรรูปเป็นสิ่งของเครื่องใช้ได้หลายอย่าง มีแนวโน้มนำมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่าได้ หรืออย่างน้อยๆ ที่สุด ทุกวันนี้สมาชิกก็ใช้ไผ่เป็นไม้ค้ำยันกิ่งในสวนผลไม้อยู่แล้ว ก็เท่ากับว่ามีการใช้ประโยชน์อยู่แล้ว”

อ่านเพิ่มเติม

สำหรับ ไผ่ซางหม่น หรือบางคนเรียกกันในชื่อ ไผ่นวลราชินี (ชื่อวิทยาศาสตร์ Dendrocalamus sericeus Munro) รวมถึงยังมีอีกหนึ่งสมญาว่าเป็น ‘เพชรแห่งล้านนา’

ชื่อหลังได้มาเพราะเดิมเป็นไผ่พื้นเมืองที่พบมากในภาคเหนือ แถบจังหวัดเชียงใหม่ แพร่ ลำปาง และลำพูน แถมยังมีลักษณะพิเศษด้วยส่วนลำมีขนาดใหญ่ ลำตรง แข็งแรง เนื้อไม้หนา กิ่งแขนงน้อย ทั้งยังสูง 25-30 เมตร สามารถใช้ประโยชน์ได้ทั้งลำ ทำให้ไผ่ซางหม่นเป็นที่ต้องการของตลาด ขายได้ราคาดี และนิยมนำมาผลิตเป็นเฟอร์นิเจอร์ได้หลากหลาย จึงไม่แปลกหากจะถูกยกย่องว่าสร้างมูลค่าไม่ต่างจากเพชร

ในภาพกว้างๆ ไผ่ใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง ไล่มาตั้งแต่งานโครงสร้างอาคาร บ้านเรือน นำมาแปรรูปทำเฟอร์นิเจอร์ โต๊ะ เก้าอี้ เครื่องจักสานต่างๆ อาทิ ตะกร้า เข่ง ภาชนะใส่ของ หรือนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น ไม้จิ้มฟัน ตะเกียบ ไม้เสียบอาหาร ขณะที่ เศษไผ่ที่เหลือจากการแปรรูปยังนำไปเผาถ่านทำเป็นชีวมวลให้โรงงานไฟฟ้า และหน่ออ่อนของไผ่ยังสามารถนำมาประกอบอาหารได้อีกด้วย

ต่างๆ เหล่านี้ คือ คุณประโยชน์ที่สมาชิกและตัวโครงการเชื่อมป่าฯ มองภาพฝันร่วมกัน

ในด้านของเป้าหมายโครงการเชื่อมป่าฯ อีกเรื่อง ที่ตั้งเป้าไปถึงเรื่องการแลกเปลี่ยนพันธุกรรมของสัตว์ป่าระหว่างเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสนามเพรียง ที่ถูกโดดเดี่ยวเหมือนเกาะกลางทะเลกับอุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้าที่เสมือนเป็นประตูสู่ป่าใหญ่ (กลุ่มป่าตะวันตก) พืชที่เลือกปลูกย่อมต้องเหมาะสมกับสัตว์ป่าด้วย และไผ่ก็ตอบโจทย์ต่อการดึงดูดสัตว์ป่าเขามาใช้สะพานเชื่อมระบบนิเวศที่ถูกสร้างขึ้น

โดยไผ่จัดเป็นหนึ่งในอาหารอันโอชะของสัตว์ป่า อาทิ หมูป่า เม่น อ้น เก้ง กวาง กระทิง ต่างล้วนชอบกินรากไผ่ ส่วนใบไผ่และยอดอ่อนเป็นอาหารหลักของช้าง เมื่อกอไผ่ออกดอกหรือที่เรียกกันว่าไผ่ออกขุย แสดงว่าไผ่จะตายลง เมล็ดไผ่จะดึงดูดบรรดาสัตว์กินเมล็ดให้มารวมกัน โดยเฉพาะไก่ป่าและไก่ฟ้ารวมถึงกระรอก

ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อเมล็ดไผ่ลงสู่พื้นดินไผ่ทั้งกอจะค่อยๆ เหี่ยวและตายลงทั้งหมด และบริเวณนั้นจะเต็มไปด้วยกล้าไผ่ขนาดเล็กขึ้นกันอย่างหนาแน่น ซึ่งเป็นอาหารของสัตว์กินพืชหลายชนิด เช่น วัวแดง เก้ง กวาง อีกด้วย

และคุณประโยชน์อีกย่างที่คงไม่กล่าวถึงไม่ได้ คือ ความสามารถในการกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อลดผลกระทบวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดโดยฝีมือมนุษย์

ตามการคำนวณข้อมูลการปลูกไผ่ซางหม่นในโครงการเชื่อมป่าฯ นับจากความโต จำนวนลำ จำนวนต้นไม้แต่ละกอ คำนวณโดยใช้สมการขององค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก (TGO) จะพบว่า ไผ่ในโครงการเชื่อมป่าฯ 1 กอ จำนวน 32 ลำ 1 กอนั้นสามาถกักเก็บก๊าซคาร์บอนฯ ได้ 4.03 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2e)

หรือนับรวมไผ่ที่ปลูกทั้งโครงการเชื่อมป่า ณ เวลานี้ สามารถกักเก็บก๊าซคาร์บอนฯ ได้ 100,750 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2e)

ไผ่ซางหม่น จึงจัดได้ว่าพืชสารพัดประโยชน์ ที่เหมาะสมกับโครงการจัดการระบบนิเวศในพื้นที่ป่าสงวนเพื่อแนวเชื่อมต่อป่าตะวันตกสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

เป็นการติดกระดุมเม็ดแรกเพื่อคนอยู่ได้ สัตว์ป่าก็อยู่ได้ และสร้างโลกที่สมดุล

ไผ่ซางหม่น ลักษณะทั่วไป

ไผ่ซางหม่น มีลำใหญ่ สูงประมาณ 25-30 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลางลำเฉลี่ย 6-10 เซนติเมตร ปล้องยาว 30-40 เซนติเมตร ความหนาของเนื้อไม้ 1.5-3 เซนติเมตร ลำอ่อนมีแป้งสีขาวที่ปล้อง ลำแก่สีเขียวเข้มเนื้อหนา ใบคล้ายไผ่ตง

ไผ่ซางหม่น สามารถเจริญเติบโตได้ในทุกสภาพพื้นดิน จะโตได้ดีในพื้นที่ที่มีน้ำมาก หลังจากปลูกไผ่ 2 เดือนแรก จะต้องให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ จนกระทั่งมีการเจริญเติบโตของต้นใหม่ ในธรรมชาติตั้งแต่ปลูกจนถึงตัดลำไผ่จะใช้เวลา 4-5 ปี แต่หากต้นไผ่ได้รับน้ำและปุ๋ยอย่างสม่ำเสมออาจสามารถตัดไผ่ได้ในเวลา 3 ปี

โครงการเชื่อมป่าฯ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณทำกิจกรรมจากกลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร ข้าว ขนส่ง และบริการ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ภายใต้แผนงานระยะยาว มานับตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ

อ้างอิง

  • เอกสารคาดการณ์การโตของไผ่ซางหม่นในโครงการจัดการระบบนิเวศในพื้นที่ป่าสงวนเพื่อแนวเชื่อมต่อป่าตะวันตกสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดย นายพรพันธ์ เรืองวงษ์นาม
  • ไผ่ซางหม่น พืชน่าปลูก สารพัดประโยชน์

ผู้เขียน

Website | + posts

ทำงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ การเขียน เรื่องสิ่งแวดล้อมและดนตรีนอกกระแส - เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตใช้ไปกับการนั่งมองความเคลื่อนไหวของใบไม้และสายลม