คนเฝ้าช้าง (ตอน 1)

คนเฝ้าช้าง (ตอน 1)

ไม่ว่าจะออกไปทำงานมาแล้วกี่ครั้งกี่หน ชุดเฝ้าระวังผลักดันช้างป่า ยังคงรู้สึกตื่นเต้นเขม็งเกลียวอยู่เสมอ และไม่มีวันใดที่ความรู้สึกนั้นจะลดลง แม้มันคืองานที่ทำซ้ำเหมือนกันทุกวันก็ตาม

แต่นั่นก็เป็นสิ่งที่ผลักดันให้ชุดเฝ้าระวังฯ ของหน่วยพิทักษ์ป่าทุ่งแฝก เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง มีความตื่นตัวและเปิดหูเปิดตาอยู่ทุกนาทีที่ปฏิบัติหน้าที่ 

“เมื่อชั่วโมงที่แล้ว เพิ่งมีช้างออกมาหนึ่งตัว” หนึ่งในชุดเฝ้าระวังฯ เล่าสถานการณ์ประจำวันให้ฟังตอนเวลาสองทุ่มเศษ ก่อนรายงานผลลัพธ์ว่า “สามารถผลักดันช้างกลับเข้าป่าได้สำเร็จครับ” 

ในคืนร้อนคืนหนึ่งกลางเดือนมีนาคม พวกเขาตั้งต้นงานเฝ้าระวังประจำวันที่หมู่บ้านบึงเจริญ ชุมชนที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ติดกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และเป็นหนึ่งในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่าออกมาหากินนอกพื้นที่อนุรักษ์ค่อนข้างหนัก 

เจ้าหน้าที่ชุดเฝ้าระวังฯ ให้ข้อมูลว่ามีช้างออกมาหากินในเขตหมู่บ้านเป็นประจำทุกคืน ขึ้นอยู่กับจะมากหรือน้อยเท่านั้น

แต่ถ้าเป็นเดือนมีนาคมหรือเมษายนอาจเจอช้างไม่บ่อย เพราะผ่านฤดูเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังไปแล้ว ไร่ที่เคยอุดมสมบูรณ์ด้วยอาหารเหลือเพียงผืนดินร่วนซุยไม่น่าพิสมัย ช้างอาจย้ายเส้นทางไปหากินในจุดอื่นๆ

“เขาอาจไปเยี่ยมบ้านที่ปลูกผลไม้เยอะๆ แทน” เจ้าหน้าที่รายเดิมขยายความ พร้อมกำชับต่อว่า ถ้าใครจะมาพักรีสอร์ตแถวนี้ ตอนหัวค่ำอย่าเที่ยวออกไปไหนมาไหน มีสิทธิเจอพี่ใหญ่ยืนทักทายอยู่กลางถนนได้ 

ชุดเฝ้าระวังฯ ของหน่วยพิทักษ์ป่าทุ่งแฝก มีคนทำงานอยู่ด้วยกัน 8 คน คอยทำหน้าที่ลาดตระเวนดูแล 4 หมู่บ้านที่ตั้งอยู่ติดกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าในตำบลระบำ อำเภอลานสัก 

กว่าครึ่งของทีมงานเป็นเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ภารกิจเดิมคืองานลาดตระเวนป้องปรามภัยคุกคามในพื้นที่อนุรักษ์ แต่เมื่อสถานการณ์ช้างป่าออกมาหากินนอกป่าบ่อยขึ้น พวกเขาก็ต้องปรับและเพิ่มภารกิจมาทำงานในส่วนนี้ด้วยอีกแรง 

ขณะที่ทีมงานอีกส่วนมาจากการเปิดรับสมัครประชาชนผู้สนใจ เข้ามาทำงานเป็น ‘ชุดเคลื่อนที่เร็วผลักดันช้างป่า’ มีสัญญาว่าจ้างตามระยะเวลาที่กำหนด เมื่อสิ้นสุดงบประมาณก็ต้องต่อสัญญาทำงานกันใหม่ 

ภารกิจงานที่เริ่มต้นเมื่อตะวันลับขอบฟ้าและยาวไปถึงเมื่อแสงแรกของอีกวันปรากฏ ชุดเฝ้าระวังผลักดันช้างป่าทีมนี้ และทีมอื่นๆ ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง (รวมถึงทีมของในกลุ่มป่าต่างๆ ที่คงปฏิบัติหน้าที่ไม่ต่างกัน) จะเลือกตั้งจุดประจำการหลักในพื้นที่ที่ได้รับรายงานว่ามีช้างป่าปรากฏตัวหนล่าสุด

เมื่อตั้งต้นได้ ก็จะคอยสอดส่องจ้องมองไปยังราวป่า ใช้ไฟฉายกวาดแสงทำลายความมืดอันเป็นปริศนา จับจ้องเฝ้าระวังว่าพี่ใหญ่จะเดินออกมาทางไหน เมื่อเห็นตัวก็จะส่งเสียงดังๆ ขับไล่ให้ช้างหันหลังกลับเข้าหาป่า  

ใช้ทั้งโทรโข่งบอกกล่าวขยายเสียงกังวาน หรือไม่ก็อาศัยเสียงของลูกบอลไล่นก

ในมุมของคนทำงาน พวกเขาบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ‘ไฟฉาย’ คืออุปกรณ์ที่สำคัญเป็นอย่างมาก พูดพลางก็หยิบไฟฉายสองแบบขึ้นมาสาดแสงไปยังราวป่าเปรียบเทียบให้เห็น 

“ถ้ามีไฟฉายที่แรง เราจะเห็นช้างได้เร็วขึ้น และเห็นจากระยะที่ไกลขึ้น” หนึ่งในชุดผลักดันอธิบาย สิ่งนั้นไม่ได้หมายเพียงการทำงานที่ง่ายขึ้น แต่ยังรวมถึงเรื่องความปลอดภัยของคนทำงาน

และเพราะเราไม่สามารถคาดเดาพฤติกรรมของสัตว์ป่าได้อย่างชัดเจนร้อยเปอร์เซ็นต์ บางครั้งช้างอาจปรากฏตัวในจุดที่ห่างออกไปจากจุดที่ตั้งใจเฝ้า ชุดเฝ้าระวังฯ ก็ต้องรีบโยกย้ายตัวเองให้สมดังชื่อเต็ม ‘เจ้าหน้าที่ชุดเคลื่อนที่เร็วเฝ้าระวังผลักดันช้างป่าและสัตว์ป่าที่ออกนอกพื้นที่อนุรักษ์’ ไปยังจุดที่ได้รับรายงานด้วยรถยนต์ ซึ่งมีชุมชนคอยช่วยรายงานและแจ้งเหตุ ทำให้การทำงานเป็นไปอย่างรวดเร็ว 

นอกจากไม่อาจรู้ล่วงหน้าว่าช้างป่าจะปรากฏตัวบริเวณไหน เรื่องเวลา คือ อีกสิ่งที่ไม่มีอะไรแน่นอน

“อย่างเมื่อวาน ตอนหัวค่ำไม่มีอะไรเลย แต่ปรากฏว่าช้างออกมาตอนประมาณเที่ยงคืนครึ่ง ยังดีที่ออกมาตัวเดียว ก็ผลักดันสำเร็จไม่มีเหตุการณ์บานปลายอะไร” หนึ่งในทีมงานเล่า

ด้วยความที่ต้องอยู่เวรยามตลอดทั้งคืน ชุดเฝ้าระวังฯ ต้องสลับผลัดเปลี่ยนกันหมุนเวียนพักผ่อนแบ่งการทำงานกันเป็นกะ ช่วงไหนใครออกไปลาดตระเวนก่อนหรือใครพักเอาแรงก่อน

แต่ถึงจะสลับอย่างไร เมื่อได้รับรายงานช้างป่าปรากฏตัว ทุกคนก็ตื่นขึ้นมาทำงานเสมอ

ในเรื่องหน้าที่ ยังรวมไปถึงงานเล็กๆ น้อยๆ อย่างการเตรียมเสบียงระหว่างการทำงาน ใครเป็นต้มกาแฟ ดูแลน้ำท่าให้กับชุดเฝ้าระวังฯ

เรื่องบางเรื่องอาจเป็นเพียงสิ่งละอันพันละน้อย แต่หากขาดสิ่งใดไปภารกิจคงไม่สมประกอบ

จากประสบการณ์ที่ทำงานมากว่าปีเศษ ชุดเฝ้าระวังฯ ของหน่วยพิทักษ์ป่าทุ่งแฝก ทำหน้าที่ผลักดันช้างป่ากลับเข้าสู่พื้นที่อย่างไม่เผชิญปัญหามากนัก

ตามข้อมูลของศูนย์ช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เหตุการณ์ช้างป่าออกนอกพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565-2567 เกิดขึ้นทั้งหมด 1,081 ครั้ง

เมื่อเทียบกับกลุ่มป่าหรือพื้นที่อนุรักษ์อื่นๆ อาทิ อุทยานแห่งชาติกุยบุรี เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาฤาไน อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ หรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง ฯลฯ ถือว่าไม่สูงนัก

แต่ตัวเลขสถิติ ก็ไม่ได้การันตีถึงความปลอดภัย

มีครั้งหนึ่งที่ทำเอาคนทำงานรู้สึกขวัญผวา ระหว่างลาดตระเวนด้วยรถอยู่ดีๆ พี่ใหญ่ก็ปรากฏตัวออกมาจากข้างทาง อย่างที่ไม่มีใครทันได้ระวังหรือเห็นตัวก่อน ซ้ำยังยกขาถีบเข้าที่ตัวกระบะรถจนเป็นรอยยุบบู้บี้

แต่โชคดีที่ทุกคนตื่นตัวและหลบหลีกได้ทัน จึงไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ

หนึ่งในทีมงานยอมรับว่าเหตุการณ์ครั้งนั้นชวนทำให้ใจเสียอยู่ไม่น้อย แรงเหยียบของช้างบนกระบะเหล็กไม่ต่างอะไรกับการบี้ดินน้ำมัน แต่เมื่อเหตุการณ์ผ่านไปแล้ว ก็เก็บไว้เป็นบทเรียนเตือนใจให้ต้องตื่นตัวและเปิดหูเปิดตาอยู่ตลอดเวลา 

พวกเขาบอกว่า ‘สติ’ เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องมีเมื่อเจอกับช้างป่า

แม้จะผ่านการอบรมวิธีผลักดันช้างป่า หรือศึกษาพฤติกรรมช้างมามากมายแค่ไหน แต่ความรู้เหล่านั้นอาจใช้ไม่ได้ในสถานการณ์จริงหากไม่ตั้งสติให้ดีก่อน เพราะในเหตุการณ์จริงมีปัจจัยหลายอย่างเข้ามาเกี่ยวเนื่อง จำเป็นต้องคิดให้ไวและทันกับสถานการณ์ตรงหน้า ซึ่งบางเหตุการณ์มันต่างจากสิ่งที่อบรมกันมา

และนั่นจึงทำให้ไม่ว่าจะออกไปทำงานมาแล้วกี่ครั้งกี่หน ชุดเฝ้าระวังผลักดันช้างป่า ยังคงรู้สึกตื่นเต้นเขม็งเกลียวอยู่เสมอ และไม่มีวันใดที่ความรู้สึกนั้นจะลดลง แม้มันคืองานที่ทำซ้ำเหมือนกันทุกวันก็ตาม

ตลอดปี พ.ศ. 2568 มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ให้การสนับสนุนเสบียงและอุปกรณ์ผลักดันช้างป่า แก่ชุดเฝ้าระวังผลักดันช้างป่า ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และชุดผลักดันที่จัดตั้งขึ้นของชุมชน เป็นประจำทุกเดือน ในกิจกรรมลาดตระเวนร่วมดูแลป้องกันทรัพยากรในป่าชุมชนและสนับสนุนเสบียงสำหรับเครือข่ายผลักดันสัตว์ป่า โดยใช้งบประมาณจากโครงการธรรมชาติปลอดภัย 

ผู้เขียน

Website | + posts

ทำงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ การเขียน เรื่องสิ่งแวดล้อมและดนตรีนอกกระแส - เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตใช้ไปกับการนั่งมองความเคลื่อนไหวของใบไม้และสายลม