ผลการตรวจสอบความเหมาะสมของพื้นที่ดำเนินโครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น จังหวัดจันทบุรี

ผลการตรวจสอบความเหมาะสมของพื้นที่ดำเนินโครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น จังหวัดจันทบุรี

เรื่องเดิม

กรมชลประทาน ตอบกลับมูลนิธิสืบฯ ว่าได้ทำการศึกษาวิเคราะห์ความเหมาะสมและทบทวนผลกระทบสิ่งแวดล้อม และแนวทางที่กรมชลประทานเสนอนั้นได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) ที่ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่าง ๆ ของประเทศ รวมถึงผ่านการพิจารณา จากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ซึ่งเป็นคณะกรรมการระดับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศแล้ว กรมชลประทานจึงมีความมั่นใจว่าผลการศึกษาที่ได้รับมีความเหมาะสมทั้งด้านวิศวกรรม ด้านสังคม ด้านเศรษฐศาสตร์ ด้านสิ่งแวดล้อม และการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างรอบคอบแล้ว  

ทั้งนี้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีคำสั่งที่ 3211/2566 ลงวันที่ 24 กรกฎาคม 2566 แต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบและศึกษาข้อมูลทางวิชาการ พื้นที่ดำเนินโครงการอ่างเก็บร้ำคลองวังโตนด ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น จังหวัดจันทบุรี เพื่อจัดทำข้อมูลและนำผลการศึกษามาใช้ประกอบการพิจารณาโครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด   

ข้อเท็จจริง

เมื่อวันที่ 11-12 กันยายน 2566 สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานฯ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบความเหมาะสมบริเวณพื้นที่ขอดำเนินโครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น จังหวัดจันทบุรี คณะทำงานตรวจสอบและศึกษาข้อมูลทางวิชาการพบประเด็นความไม่เหมาะสมของพื้นที่ดำเนินโครงการดังกล่าว ดังนี้

1. จากการนำอากาศยานไร้คนขับ (UAV) ยี่ห้อ Trinity F90+ ทำการบินสำรวจสภาพป่าและจัดทำแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศครอบคลุมพื้นที่บริเวณที่ขอดำเนินโครงการฯ พบว่า สภาพพื้นที่โดยส่วนใหญ่เป็นที่ราบต่ำ มีสภาพป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์เป็นผืนต่อเนื่องกันทั้งพื้นที่ ถึงแม้ในอดีตจะมีการสัมปทานการทำไม้ในพื้นที่มาก่อนก็ตาม แต่ในปัจจุบันสภาพป่าได้มีการฟื้นฟูกลับมาแล้ว และเมื่อวิเคราะห์จากภาพถ่ายทางอากาศจะเห็นได้ว่าในบริเวณพื้นที่ดังกล่าวโดยส่วนใหญ่มีสภาพเป็นป่าดิบแล้ง และมีร่อยรอยการใช้ประโยชน์ของสัตว์ป่าในบริเวณที่มีโป่งธรรมชาติ ซึ่งไม่สอดคล้องกับข้อมูลในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำหรับโครงการกิจการหรือการดำเนินการที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างรุนแรง (EHIA) โครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จังหวัดจันทบุรี ที่มีการระบุว่า สภาพพื้นที่เป็นป่าเบญจพรรณและพื้นที่ป่ารอการฟื้นฟู เนื่องจากผ่านสัมปทานการทำไม้มาแล้ว

การสร้างข้อมูลวิถีการบิน (Trajectory)
แผนที่การใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่โครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้นและป่าสงวนแห่งชาติป่าขุนซ่อง

2. จากการลงพื้นที่ในแปลงสำรวจทรัพยากรป่าไม้ และการสำรวจการกระจายของสัตว์ป่าบริเวณพื้นที่ที่ขอดำเนินโครงการฯ โดยใช้หลักวิชาการใช้การสำรวจ

2.1 การสำรวจทรัพยากรป่าไม้ เพื่อสำรวจความหลากหลายของชนิดพันธุ์พืชภายในพื้นที่ดำเนินโครงการฯ โดยการวางแปลงตัวอย่างแบบ Systematic sampling รวมจำนวน 80 แปลง ครอบคลุมบริเวณพื้นที่ดำเนินโครงการฯ แบ่งเป็นจุดสำรวจในเขตน้ำท่วมถึง จำนวน 40 แปลง และจุดสำรวจในแนวกันชน ระยะ 500 เมตร จำนวน 40 แปลง โดยได้ลงตรวจสอบพื้นที่ในแปลงสำรวจที่ 32 ซึ่งได้ทำการสำรวจข้อมูลในลักษณะรูปแปลงวงกลมที่มีจุดศูนย์กลางร่วมกันรัศมีแตกต่างกันจำนวน 3 วง คือ

– วงที่ 1 วงกลมรัศมี 17.89 เมตร ครอบคลุมพื้นที่ขนาด 0.1 เฮกแตร์ ทำการสำรวจไม้ต้นที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเพียงอก (DBH) มากกว่าหรือเท่ากับ 4.5 เซนติเมตร ที่ระดับความสูง 1.30 เมตร

– วงที่ 2 วงกลมรัศมี 12.62 เมตร ครอบคลุมพื้นที่ขนาด 0.05 เฮกแตร์ ทำการสำรวจไม้หนุ่มที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเพียงอก (DBH) น้อยกว่า 4.5 เซนติเมตร แต่มีความสูงมากกว่า 1.30 เมตร

– วงที่ 3 วงกลมรัศมี 3.99 เมตร ครอบคลุมพื้นที่ขนาด 0.0005 เฮกแตร์ ทำการนับจำนวนกล้าไม้ที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเพียงอก (DBH) น้อยกว่า 4.5 เซนติเมตร และมีความความสูงต่ำกว่า 1.30 เมตร

2.2 การสำรวจการกระจายของสัตว์ป่า โดยการกำหนดเส้นสำรวจ จำนวน 16 เส้น ผ่านบริเวณที่น้ำท่วมถึงและจากแนวขอบที่น้ำท่วมถึงออกไปอีกเป็นระยะทาง 3 กิโลเมตร และมีระยะห่างระหว่างเส้นสำรวจ 500 เมตร ทำการบันทึกข้อมูลชนิดสัตว์ ร่องรอยการใช้ประโยชน์ของสัตว์ป่า รวมถึง พืชอาหารที่สัตว์ป่าเข้าใช้ประโยชน์ ซึ่งร่องรอยของสัตว์ป่าที่พบมากที่สุดในบริเวณพื้นที่ดังกล่าว คือ รอยตีนกองมูล และการหักกินพืชอาหารของข้างป่า

3. สภาพพื้นที่ในบริเวณที่ขอดำเนินโครงการฯ โดยส่วนใหญ่มีสภาพเป็นป่าดิบแล้งที่ราบต่ำเหมาะแก่การเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าขนาดใหญ่ โดยเฉพาะช้างป่า เนื่องจากมีสภาพเป็นป่าที่ราบต่ำ ผืนใหญ่ที่มีศักยภาพในการเป็นแหล่งอาหารที่เหมาะสมสำหรับเป็นที่อยู่อาศัยของช้างป่ามากกว่าบริเวณอื่นๆ มีแหล่งน้ำขนาดเล็ก และโป่งธรรมชาติ สำหรับข้างป่าได้ใช้อย่างสมบูรณ์ เพื่อช่วยลดปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่รบกวนประชาชน อีกทั้งยังมีพื้นที่เชื่อมต่อกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว ซึ่งจะทำให้มีการอพยพเคลื่อนย้ายถิ่นอาศัยของสัตว์ป่าภายในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่เชื่อมต่อกันได้หากมีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จะเป็นการทำลายผืนป่าดิบแล้งที่ราบต่ำขนาดใหญ่ที่สำคัญต่อการเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่า

แผนที่การกระจายและระดับความเข้มข้นของการใช้ประโยชน์พื้นที่ของช้างป่า

4. ในบริเวณพื้นที่ดำเนินโครงการฯ โดยส่วนใหญ่มีสภาพเป็นป่าดิบแล้ง พบกลุ่มต้นกะพ้อขึ้นเป็นไม้พื้นที่ล่างของผืนป่ากระจายตัวเป็นบริเวณกว้าง ซึ่งกะพ้อเป็นไม้เบิกนำที่สำคัญในสังคมพืชป่าดิบชื้น ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ โดยมีปัจจัยหลัก คือ ความชื้น ระดับน้ำผิวดิน ระดับความลึกของดิน และองค์ประกอบของหมู่ไม้ในพื้นที่เป็นสำคัญ ดังนั้น หากผืนป่าบริเวณนี้ยังคงสภาพที่มีความอุดมสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นอาจมีการเปลี่ยนแปลงชนิดป่า จากป่าดิบแล้งเป็นป่าดิบชื้นได้ในอนาคต เนื่องจากในอดีตพื้นที่ดังกล่าวเคยเป็นป่าที่มีการ สัมปทานไม้ ต่อมามีการพื้นฟูสภาพป่าจนสามารถมีสภาพเป็นป่าดิบแล้งได้ หากมีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จะทำให้สูญเสียพื้นที่ป่าธรรมชาติที่สมบูรณ์เป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่อย่างถาวร

สังคมพืชป่าดิบแล้งที่มีกะพ้อ

5. ในบริเวณพื้นที่ดำเนินโครงการฯ พบร่องรอยการใช้ประโยชน์พื้นที่ทั้งเป็นแหล่งอาหารและถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าที่สำคัญ โดยเฉพาะช้างป่า ซึ่งพบเห็นได้จากรอยตีน กองมูล การขุยเขี่ย และการหักกิน พืชอาหารที่กระจายอยู่เต็มพื้นที่ในบริเวณที่มีการจายตัวของต้นกะพ้อ และต้นระกำ ซึ่งเป็นพืชอาหารที่สำคัญของช้างป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น และภาพจากการติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่า ทำให้พบว่าในบริเวณดังกล่าวยังเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยและหากินของกระทิง เก้ง และหมูป่า หากมีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้ข้างป่าออกนอกพื้นที่ เนื่องจากการสูญเสียพื้นที่ป่าที่มีความเหมาะสมต่อการอยู่อาศัย และส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชนโดยรอบพื้นที

สังคมพืชป่าดิบแล้งที่มีกะพ้อ

6. จากการรับฟังความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนมุมมอง กรณีหากมีการสร้างอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 เวลา 16.00 น. ณ ศาลาประชาคมบ้านขุนช่อง หมู่ที่ 3 ตำบลขุนช่อง อำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี ร่วมกับประชาชนในพื้นที่ อาสาสมัครเฝ้าระวังช้างป่า และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น มีความเห็นว่า ไม่เห็นด้วยหากมีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด ในเขต อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น เนื่องจากหากมีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำจะทำให้ช้างป่าออกมาใช้ประโยชน์บริเวณ อ่างเก็บน้ำ และออกหากินในพื้นที่อยู่อาศัยและทำกินของประชาชนอย่างแน่นอน รวมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น ต่อเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ และอาสาสมัครเฝ้าระวังช้างป่าในพื้นที่ ในการเฝ้าระวังและผลัดดันให้ช้างป่ากลับเข้าสู่พื้นที่ป่า ซึ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการปฏิบัติหน้าที่

ข้อพิจารณา

สำนักอุทยานแห่งชาติ พิจารณาแล้ว จากข้อเท็จจริงในการลงพื้นที่ตรวจสอบความเหมาะสมบริเวณพื้นที่ขอดำเนินโครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น จังหวัดจันทบุรีจึงขอเส่นอข้อคิดเห็นและแนวทางในการดำเนินโครงการดังกล่าว ดังนี้

1. เห็นควรให้กรมชลประทานพิจารณาทบทวนรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำหรับโครงการกิจการหรือการดำเนินการที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างรุนแรง (EHIA) โครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จังหวัด จันทบุรี ในส่วนที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในพื้นที่ เพื่อให้เกิดความถูกต้อง แม่นยำ และนำไปประเมินผลกระทบและความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่า รวมถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต หากมีการดำเนินโครงการดังกล่าว

2. เห็นควรให้กรมชลประทานพิจารณาทบทวนการขอใช้พื้นที่เพื่อก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น จังหวัดจันทบุรี เนื่องจากสภาพพื้นที่โดยส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบต่ำ จึงไม่เหมาะสมในการนำมาก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ เพราะเมื่อเป็นพื้นที่ราบทำให้ต้องใช้พื้นที่ในการดำเนินโครงการฯ มาก ซึ่งจะเป็นการทำลายทรัพยากรป่าไม้และถิ่นที่อยู่อาศัยที่สำคัญของสัตว์ป่าโดยเฉพาะช้างป่าภายในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น และพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่มีแนวเชื่อมต่อกัน แต่หาก มีความจำเป็นต้องมีการดำเนินโครงการดังกล่าว เห็นควรให้ปรับลดระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางให้อยู่ในระดับที่ต่ำที่สุดหรือไม่เกิน 57.5 เมตร เพื่อลดผลกระทบต่อทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าภายในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น ซึ่งจากการประเมินพื้นที่น้ำท่วมถึงในแต่ละระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางในบริเวณพื้นที่ขอดำเนินโครงการฯ จากส่วนสำรวจและวิเคราะห์ทรัพยากรป่าไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช โดยการอ้างอิงข้อมูลระดับชั้นความสูงจากกรมชลประทาน พบว่า ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 57.5 เมตร จะสามารถเก็บกักน้ำได้ปริมาตร 10,842,751.29 ลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่น้ำท่วมถึงรวมทั้งสิ้น 2,680.26 ไร่ โดยแบ่งเป็นภายในเขตอุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น จำนวน 703.77 ไร่ และภายนอกพื้นที่อุทยานแห่งชาติ จำนวน 1,976.48 ไร่ โดยอาจมีรูปแบบการก่อสร้างในลักษณะเป็นร่องระบายน้ำในรูปกรวย และมีการบริหารจัดการน้ำโดยการต่อท่อระบายน้ำหรือการสร้างอ่างพวงภายนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์สำหรับพักน้ำ และนำออกไปใช้ประโยชน์ภายนอกพื้นที่ ทั้งในภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรมเนื่องจากในบริเวณพื้นที่ขอดำเนินโครงการฯ เป็นพื้นที่ทีมีความสำคัญต่อการอยู่อาศัยของช้างป่า หากมีการ ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จะทำให้ช้างป่าสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย และเกิดปัญหาการออกหากินของข้างป่าภายในพื้นที่ของประชาชน

3. เห็นควรให้กรมชลประทานในฐานะผู้ขออนุญาตใช้พื้นที่จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ ร่วมกับหน่วยงานที่กำกับดูแลพื้นที่ทั้งกรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พีชเพื่อนำเสนอข้อมูล ข้อเท็จจริง เกี่ยวกับประโยชน์และผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นหากมีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนดอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวโน้มในการออกนอกพื้นที่ของช้างป่าที่จะก่อให้เกิดผลกระทบโดยตรงต่อประชาชนโดยรอบพื้นที่โครงการฯ

4. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พีช ควรกำหนดให้มีการชดเชยในกรณีการขอใช้พื้นที่ป่าอนุรักษ์ในการก่อสร้างเขื่อน อ่างเก็บน้ำ หรือการก่อสร้างในลักษณะอื่นที่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ป่าในกรณีที่การดำเนินโครงการดังกล่าวมีภาคเอกชนได้รับประโยชน์ร่วมด้วย จึงควรกำหนดให้ภาคเอกชนที่ได้รับผลประโยชน์จากการดำเนินโครงการมีส่วนในการชดเชยค่าเสียหายและมูลค่าของพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่สูญเสียไป โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน

(1) การชดเชยค่าเสียหายทางสิ่งแวคล้อมบางประการหลังการทำลายป่าไม้ โดยเทียบเคียงกับกรณีการบุกรุกพื้นที่ป่าที่กำหนดให้มีการดำเนินคดีทางแพ่งเรียกค่าเสียหายจากผู้กระทำความผิดจากการทำลายหรือทำให้สภาพป่าเสียหาย

(2) การชดเชยมูลค่าของการกักเก็บคาร์บอนที่อยู่ในรูปของมวลชีวภาพรายปี มูลค่าของต้นไม้ มูลค่าของพื้นที่ป่าและชนิดพันธุ์ไม้ในพื้นที่ มูลค่าของการทดแทนระบบนิเวศ รวมถึงอัตราการเพิ่มพูนรายปีที่ต้องสูญเสียพื้นที่ป่าไปในอนาคต หรือมูลค่าความเสียหายของรัฐที่เกิดขึ้นจากการฟื้นฟูสภาพป่าในพื้นที่ เนื่องจากการสูญเสียพื้นที่ป่าดังกล่าวจะทำให้ไม่สามารถให้บริการทางระบบนิเวศได้อีกต่อไป

(3) การชดเชยในกรณีที่เกิดผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่จากการดำเนินโครงการ เช่น กรณีช้างป่าออกนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์เข้าทำลายพืชผลทางการเกษตรของประชาชน ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่ เป็นต้น

ทั้งนี้ สำนักอุทยานแห่งชาติจะได้รวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริง ความเหมาะสม และข้อคิดเห็นเพิ่มเติมต่อโครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังตนด ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น จังหวัดจันทบุรี เพื่อสนอในการประชุมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ซึ่งจะมีการพิจารณาให้ความเห็นต่อโครงการดังกล่าวต่อไป

อ้างอิง