สื่อการเรียนรู้เรื่อง ‘เสือปลา’ และ ‘เลียงผา’ ที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด

สื่อการเรียนรู้เรื่อง ‘เสือปลา’ และ ‘เลียงผา’ ที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด

หากผู้ติดตามท่านไหน มีโอกาสแวะเวียนไปเที่ยวที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด คงมีโอกาสได้พบเห็น นิทรรศการชุดใหม่ที่ติดตั้งอยู่ในพื้นที่อุทยาน ว่าด้วยเรื่องราวของเลียงผาและเสือปลา

นิทรรศการชุดนี้ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้ให้การสนับสนุนเพื่อให้พื้นที่มีชุดสื่อความหมายสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์และพื้นที่ข้างเคียง เพิ่งติดตั้งแล้วเสร็จเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา

ซึ่งหากใครติดตามข่าวสารสิ่งแวดล้อมอยู่เนืองนิตย์ คงคุ้นภาพถ่ายเลียงผาบนยอดเขาหินปูนสูงชันของอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด หนล่าสุดที่มีรายงานคือเมื่อเดือนธันวาคม 2568 

โดยคุณพงศธร พร้อมขุนทด หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ได้อธิบายถึงรายงานนั้นเอาไว้ว่า “การพบเลียงผาครั้งนี้เป็นสัญญาณที่ดี แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จในการอนุรักษ์และการทำงานอย่างทุ่มเทของเจ้าหน้าที่ในการดูแลผืนป่าและสัตว์ป่า”

ปัจจุบันถูกจัดอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ตามบัญชีแดงขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN Red List) และได้รับการคุ้มครองเป็นสัตว์ป่าสงวนตามกฎหมายไทย

ในส่วนของ ‘เสือปลา’ เป็นสัตว์ป่าอีกชนิดที่มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์สูง และคาดว่าในประเทศไทยเหลืออยู่ไม่ถึง 100 ตัว

เพื่อปกป้องสัญลักษณ์ความอุดมสมบูรณ์ไว้ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการอนุรักษ์เสือปลา โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อสร้างความตระหนักรู้ ให้ชุมชนเห็นความสำคัญของเสือปลา 

มีกิจกรรมภายใต้โครงการหลายหลาก อาทิ เวทีหารือและให้ความรู้ความเข้าใจถึงความสำคัญของสัตว์ป่า ในระบบนิเวศและสาเหตุที่ทำให้เกิดและมีจำนวนประชากรลดลง ร่วมกับผู้ได้รับผลกระทบจากเสือปลา การเพิ่มผลผลิตเพื่อเพิ่มรายได้ของชุมชน สนับสนุนและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงระบบนิเวศ การพัฒนาพื้นที่ตัวอย่างการท่องเที่ยวเชิงระบบนิเวศ อบรมเชิงปฏิบัติการมัคคุเทศก์น้อย พัฒนาสื่อด้านต่างๆ ในรูปแบบสื่อออนไลน์ และอื่นๆ

รวมถึงยังทำงานร่วมกับเครือข่ายองค์กรสิ่งแวดล้อมและสถาบันการศึกษา Panthera Thailand และมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ในด้านการศึกษาประชากรเสือปลา ศึกษาอาหารเสือปลา ติดปลอกคอศึกษาพฤติกรรมเสือปลา และศึกษาศักยภาพพื้นที่ในการใช้ประโยชน์ของเสือปลา

และนิทรรศการชุดนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมภายใต้โครงการ

มูลนิธิสืบนาคะเสถียรหวังว่า การจัดทำนิทรรศการชุดนี้ จะช่วยสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ทั้ง 2 ชนิด และก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมต่องานอนุรักษ์ไม่ทางใดทางหนึ่งในอนาคต

เลียงผา 

ชื่อไทย เลียงผา เยียงผา หรือ โครำ
ชื่อสามัญ Sumatran Serow
ชื่อวิทยาศาสตร์ Capricornis sumatraensis
ถิ่นอาศัย บริเวณหน้าผากับยอดเขาที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางอยู่ระหว่าง 800 – 1,500 เมตร บางพื้นที่อาจพบเลียงผาต่ำกว่า 500 เมตร หรือสูงกว่า 2,000 เมตร ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิประเทศ แหล่งอาหาร และแหล่งน้ำ 
อาหาร หญ้า เปลือกไม้ กิ่งไม้ และใบไม้อ่อน 
สถานะการอนุรักษ์ มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (Vulnerable) ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ 

เสือปลา 

ชื่อไทย เสือปลา
ชื่อสามัญ Fishing Cat
ชื่อวิทยาศาสตร์ Prionailurus viverrinus
ถิ่นอาศัย พื้นที่ชุ่มน้ำตามธรรมชาติ หนอง บึง ป่าชายเลน ป่าละเมาะ และบ่อกุ้งบ่อปลาร้าง 
อาณาเขต เพศผู้เฉลี่ย 6.29 ตารางกิโลเมตร เพศเมีย เฉลี่ย 2.83 ตารางกิโลเมตร 
อาหาร อาหารหลัก เช่น ปลาหมอไทย หนูพุกใหญ่ ไก่ ปลาช่อนนา ปลานิล อาหารรอง เช่น นก สัตว์เลื้อยคลาน แมลง หอย ปู
ประชากร อย่างน้อย 81 ตัว 
สถานะการอนุรักษ์ อยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (Critically Endangered) ในประเทศไทย และมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (Vulnerable) ระดับนานาชาติ 

ผู้เขียน

Website | + posts

ทำงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ การเขียน เรื่องสิ่งแวดล้อมและดนตรีนอกกระแส - เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตใช้ไปกับการนั่งมองความเคลื่อนไหวของใบไม้และสายลม