มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ร่วมกับกลุ่มใบไม้ และเครือข่ายอนุรักษ์เสือปลาในพื้นที่ จัดกิจกรรมค่ายเครือข่ายนักศึกษาชมรมอนุรักษ์ ตอน ‘อนุรักษ์บ้านเสือปลา’ ณ ทุ่งสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ระหว่างวันที่ 30 มกราคมถึง 2 กุมภาพันธ์ 2568
ด้วยการมาของทุกคนในครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อการเรียนรู้ ส่งเสริมการอนุรักษ์เสือปลาและถิ่นอาศัย รวมถึงเพื่อสื่อสารการมีอยู่ของเสือปลาในพื้นที่ต่อสาธารณะชน สร้างการรับรู้และตระหนักถึงความสำคัญของเสือปลา สิ่งมีชีวิตอีกหนึ่งชนิดที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ เป็นผู้ล่าสูงสุดของห่วงโซ่อาหารในพื้นที่ชุ่มน้ำ
ภายใต้โครงการส่งเสริมการอนุรักษ์เสือปลาโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนรอบพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร สนับสนุนโดยกองทุนสิ่งแวดล้อม สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม



จากเด็กค่ายสู่ชาวอนุเรี่ยน
วันแรกของการเป็นชาวอนุเรี่ยน (นักอนุรักษ์) นำทีมโดยพี่ ๆ จากกลุ่มใบไม้ และตัวแทนนิสิตนักศึกษาจากชมรมอนุรักษ์ทั่วประเทศกว่า 34 คน จาก 11 มหาวิทยาลัย ที่ได้เข้าร่วมกิจกรรม เพื่อเรียนรู้ธรรมชาติและสัมผัสประสบการณ์จริงในพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับโลก
เริ่มต้นด้วยการทำความรู้จักทุ่งสามร้อยยอดและการอนุรักษ์สัตว์ป่าที่มีความสำคัญในพื้นที่ชุ่มน้ำอย่าง ‘เสือปลา’ โดยกลุ่มเด็กรักษ์ทุ่ง กลุ่มอนุรักษ์เสือปลาทุ่งสามร้อยยอด ก่อนที่พี่ ๆ จะพาทุกคนไปตั้งกล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติ หรือ Camera Trap เครื่องมือสำคัญในงานวิจัยอนุรักษ์ เพื่อการยืนยันตัวตนของเสือปลาในพื้นที่
แม้โอกาสในการตั้งกล้องและได้ภาพเสือปลาเดินผ่านนั้นจะมีไม่มาก แต่ชาวอนุเรี่ยนของค่ายนี้สามารถ ‘ทำได้!’ ความหวังเล็ก ๆ ที่ฝากไว้กับกล้องดักถ่ายถูกเติมเต็มด้วยภาพถ่ายเสือปลาในถิ่นอาศัยแห่งนี้ กล้องที่ทุกคนตั้งใจ ช่วยกันติดตั้ง และจับภาพเสือปลาได้นั้น เป็นสิ่งที่ยืนยันตัวตนของเสือปลาในทุ่งสามร้อยยอด และสะท้อนถึงความเข้มแข็งในการอนุรักษ์เสือปลา



กิจกรรมล่องเรือชมระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำ ณ ท่าเรือชมทุ่ง เกาะไผ่แคมป์ปิ้ง ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่สำคัญของอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ได้พาชาวอนุเรี่ยนไปสัมผัสกับถิ่นอาศัยที่เหลืออยู่น้อยนิดของเสือปลา เรียนรู้ความหลากหลายทรัพยากรทางธรรมชาติ รวมถึงได้รู้จักวิสาหกิจชุมชนที่ส่งเสริมการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับเสือปลาอย่างพึ่งพาอาศัยกัน และสามารถสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงนิเวศได้อย่างยั่งยืน
‘ตลาดนัดกิจกรรม’ อีกหนึ่งกิจกรรมที่มีความสำคัญของการเป็นชาวค่ายเครือข่ายเยาวชน เพราะแต่ละชมรมจะมีการนำเสนอจุดเด่นและบทบาทของชมรมตัวเองที่มีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ชมรมอื่น ๆ ได้มาจับจ่ายใช้สอยไอเดีย และแลกเปลี่ยนแนวทางการทำงานของแต่ละชมรมร่วมกัน
ปิดท้ายในแต่ละวันด้วยกิจกรรม Camp fire เป็นช่วงเวลาแห่งการพูดคุย ทบทวน แลกเปลี่ยนสิ่งที่ได้ทำ ได้เรียนรู้มาตลอดวัน รวมถึงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ร่วมกัน เพื่อพัฒนาตัวเองและต่อยอดองค์ความรู้ที่ได้รับมา





ช่วงท้ายของค่าย มีการสรุปทักษะและประสบการณ์ที่ได้รับ รวมถึงการระดมไอเดียเพื่อต่อยอดงานอนุรักษ์ สร้างเครือข่ายเยาวชนที่เข้มแข็งและยั่งยืนมากยิ่งขึ้น
และหลังจากนี้จะมีการเผยแพร่เนื้อหาและเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับ ‘เสือปลา’ ผ่านช่องทางสื่อออนไลน์ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ได้รับผ่านการเป็นชาวค่ายอนุเรี่ยนออกมาให้ได้รับชมกัน รวมถึงสามารถติดตามรับชมภาพเสือปลาจากกล้อง Camera Trap ได้เร็ว ๆ นี้ หรือติดตามได้จากเพจชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของแต่ละมหาวิทยาลัย



ใคร ๆ ก็ต่างพูดกันว่าเวลาแห่งความสุขมักผ่านไปเร็วเสมอ ตลอดระยะเวลา 4 วัน 3 คืน อาจเป็นช่วงเวลาที่ไม่มากนัก แต่หวังว่าค่ายนี้นอกจากจะเติมเต็มความรู้และความเข้าใจในการอนุรักษ์ จะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างสัมพันธ์ที่ดีของชาวอนุเรี่ยน และเป็นการจุดประกายความรู้สึกและแรงบันดาลใจเล็ก ๆ ในการค้นหา ‘ความหมาย’ ของการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติของโลกเอาไว้
ถ้าการเริ่มต้นคนเดียวมันยาก ลองรวมกลุ่มเล็ก ๆ จากผู้คนที่มีเป้าหมายเล็ก ๆ คล้ายกันดูไหม แม้มันอาจจะไม่ยิ่งใหญ่ และไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโลกนี้ได้ทันที แต่ถ้าเราเปลี่ยนความคิดของใครสักคนได้ นั่นก็เป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีคุณค่าเช่นกัน
เพราะกลุ่มใบไม้บอกไว้เสมอว่า เราไม่จำเป็นต้องทำในสิ่งที่ยิ่งใหญ่ ‘แต่จงทำในสิ่งที่เราทำได้ ณ จุดที่เราอยู่ ด้วยสิ่งที่เรามี’
แค่นั้นก็พอแล้ว

ขอขอบคุณภาพโดย โชคนิธิ คงชุ่ม กลุ่มใบไม้
ผู้เขียน
สาวแว่นทาสแมวที่ชอบบอกเล่าเรื่องราวผ่านลายเส้น มีธรรมชาติช่วยฮีลใจ และหลงใหลในพระจันทร์เสี้ยว