บันทึกภารกิจงานเครือข่ายชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

บันทึกภารกิจงานเครือข่ายชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

“เครือข่ายนักศึกษา คือ กลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ ถือได้ว่ามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศทั้งวันนี้และอนาคต”

ปารีณา ธนโรจนกุล เจ้าหน้าที่ประสานงานเครือข่าย ให้คำตอบชัดเจนกับคำถามถึงเหตุผลการทำงานด้านเครือข่ายนักศึกษาของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร หนึ่งในก่อนจะเล่าต่อว่า

จุดมุ่งหมายของการจัดตั้งกลุ่มหรือชมรมอนุรักษ์ในมหาวิทยาลับต่างๆ มาจากความสนใจอนุรักษ์และปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของกลุ่มนักศึกษา และพร้อมอุทิศตัวทำงานด้านการอนุรักษ์

ดังนั้น การทำงานร่วมกันในลักษณะเครือข่าย จึงเป็นการส่งเสริม สนับสนุน ปลูกจิตสำนึกสร้างคนรุ่นใหม่ให้รู้จักหวงแหนทรัพยากร และสานต่อเจตนารมณ์ของคุณสืบ นาคะเสถียร ในการปกป้องและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

โดยบทบาทหน้าที่ของมูลนิธิสืบฯ ในแผนงานด้านนี้ คือการทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง ฝึกอบรมทักษะด้านต่างๆ เช่น องค์ความรู้ สนับสนุนการทำกิจกรรมของเครือข่าย ตลอดจนชักชวนเครือข่ายมาร่วมทำกิจกรรมกับมูลนิธิสืบฯ ในวาระต่างๆ

ปารีณา ธนโรจนกุล เจ้าหน้าที่ประสานงานเครือข่าย (ด้านขวา ในภาพ)

เช่น ในปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2567) มูลนิธิสืบฯ ได้ทำกิจกรรมสื่อความหมาย ‘เป็นเหี้ยอะไรเอ่ย’ ให้ความรู้เรื่องสัตว์กินซากแก่สาธารณชน ก็มีตัวแทนจากนักศึกษาจากเครือข่ายมาร่วมกิจกรรมในฐานะทีมงาน เป็นประสบการณ์ในด้านการจัดกิจกรรมนอกสถานที่

หรือการจัดเวทีเครือข่ายชมรมอนุรักษ์เป็นประจำเพื่ออัพเดทข้อมูลต่างๆ รวมถึงประเด็นทางสิ่งแวดล้อมที่น่าสนใจ ซึ่งปารีณาลงรายละเอีดเชิกลึกว่า “การจัดกิจกรรมเปรียบเสมือนมีเวทีที่ให้คนที่มีอุดมการณ์เดียวกันมาทำกิจกรรมร่วมกัน ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูล ทำให้รู้จักสมาชิกใหม่เพิ่มขึ้น และเกิดแนวร่วมในการทำงานด้านการอนุรักษ์มากขึ้น”

ผลลัพธ์ตัวอย่างที่ได้จากการประชุมแลกเปลี่ยนข้อมูล นำไปสู่การออกมาส่งเสียง เขียนแถลงการณ์ร่วมกันในนามเครือข่ายถึงประเด็นสิ่งแวดล้อมสำคัญๆ เช่น ในเดือนเมษายนเครือข่ายชมรมอนุรักษ์จาก 9 มหาวิทยาลัย ได้ออกแถลงการณ์ร่วมถึงปัญหาฝุ่น PM2.5 ถึงรัฐบาล พร้อมแจกแจงเหตุผล พร้อมนำเสนอแก้ไขปัญหาเบื้องต้น

หรือในเดือนกรกฎาคม เครือข่ายชมรมอนุรักษ์จาก 9 มหาวิทยาลัย ได้แถลงการณ์คัดค้านการเพิกถอนพื้นที่อนุรักษ์อุทยานแห่งชาติทับลาน ออกจากการเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์

ปัจจุบัน มูลนิธิสืบฯ ทำงานร่วมกับเครือข่ายชมรมอนุรักษ์ในรั้วมหาวิทยาลัยต่างๆ รวม 17 ชมรม ปารีณา บอกว่า ในอนาคตเครือข่ายเฝ้าฝันถึงการยกระดับตัวเองให้มีความเข้มแข็งเพิ่มมากขึ้น ทั้งในแง่ของปริมาณให้เกิดการรวมกลุ่มของชมรมอนุรักษ์ทั่วประเทศ หรือการยกบทบาททางสังคมให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น สามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น และยังมองไปถึงเรื่องการมีส่วนร่วมในการร่างนโยบาย และเป็นแนวร่วมในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

“จากการหารือตอนนี้มีแนวคิดเรื่องการจัดตั้งเป็นสหพันธ์หรือสมาพันธ์ชมรมอนุรักษ์ เพื่อเป็นศูนย์กลางเครือข่ายความร่วมมือในการดำเนินงานของกลุ่มชมรมอนุรักษ์ จัดให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล เรียนรู้ระหว่างสมาชิก การประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ความรู้ และผลักดันนโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวกับทางด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็ยรายละเอียดที่ต้องศึกษาต่อว่าจะสามารถดำเนินการได้อย่างไรได้บ้าง”

นอกจากเป้าหมายในอนาคต หมุดหมายสำคัญยังมีเรื่องการก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆ เช่น เรื่องความต่อเนื่องของเครือข่าย จากการเปลี่ยนคนทำงาน นักศึกษารุ่นหนึ่งเรียนจบใหม่มีรุ่นใหม่เข้ามาแทนที่ หรือในเรื่องการบริหารการทำงานที่ไม่เหมือนกันของแต่ละชมรม รวมถึงปัญหาเรื่องระยะทางใกล้ไกลของแต่ละชมรม ทำให้การทำกิจกรรมร่วมกันเป็นไปได้ยากในบางกิจกรรม เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้การขับเคลื่อนเครือข่ายชมรมอนุรักษ์ยังไม่สมบูรณ์เต็มที่ และหาทางปรับปรุงแก้ไข

สำหรับ พ.ศ. 2568 มูลนิธิสืบฯ เริ่มได้เริ่มกิจกรรมกับเครือข่ายชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเวทีแรกไปเมื่อวันที่ 30 ม.ค. – 2 ก.พ. ผ่านกิจกรรมศึกษาธรรมชาติระบบนิเวศพื้นที่สามร้อยยอด และฝึกทักษะการเป็นนักสื่อความหมาย เครือข่ายนักศึกษาจากชมรมอนุรักษ์ต่างๆ เข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมด 11 มหาวิทยาลัย จำนวน 34 คน มีกลุ่มใบไม้ และกลุ่มเด็กรักษ์ทุ่ง ซึ่งเป็นภาคีเครือข่ายอนุรักษ์ในพื้นที่ร่วมเป็นวิทยากร

งานเครือข่ายชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม อยู่ในแผนงานยุทธศาสตร์ที่ 5 ของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ว่าด้วยเรื่องการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการทำงานทุกมิติ มีรายละเอียดในเรื่องสนับสนุนและทำงานร่วมกับองค์กรเครือข่ายอนุรักษ์ในทุกมิติ ทั้งในระดับเยาวชน นักศึกษา ชุมชน และสาธารณชน ตลอดจนเครือข่ายสื่อมวลชนและผู้พิทักษ์ป่า ภายในประเทศและต่างประเทศ ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างขึ้นรวมถึงมีหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมสนับสนุนการทำงานอย่างเข้มแข็งและจริงจัง

ผู้เขียน

Website | + posts

ทำงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ การเขียน เรื่องสิ่งแวดล้อมและดนตรีนอกกระแส - เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตใช้ไปกับการนั่งมองความเคลื่อนไหวของใบไม้และสายลม