ข่าวดีต้นปี จากความคืบหน้าของโครงการฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยของประเทศไทย ต้นแบบในการฟื้นฟูประชากรแร้งในพื้นที่ธรรมชาติ
รายงานจากเฟซบุ๊กเพจ พญาแร้งคืนถิ่น Thailand Red-headed Vulture Project ระบุว่า “2 มกราคม 2568 แม่มิ่งและพ่อป๊อกวางไข่ใบที่สองสำเร็จ (ใบแรกของฤดูกาลนี้)”
“เวลา 18.32 น. ทีมงานเห็นแม่มิ่งยืนเบ่งอยู่บนรังนานกว่า 8 นาที จน 18.40 น. แม่มิ่งทำท่านอนเอาอกแนบไปกับรัง ตอนนั้นแอดก็ยังไม่เห็นไข่เลย จนแม่มิ่งยืนขึ้นครั้งตอนเวลา 18.42 น. และใช้ปากกลับไข่ไปมาแล้วนอนกกอีกครั้งยันช่วงเช้า”
โดยก่อนหน้านั้นมีรายงานว่า “พ่อป๊อกและแม่มิ่งเริ่มมีพฤติกรรมผสมพันธุ์ทำรังวางไข่ตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2567 เรื่อยมา พร้อมตกแต่งรังจนมีขนาดใหญ่ขึ้นกว่าฤดูกาลที่แล้ว”
“จนก่อนวันจะจบปีนี้ 29 ธันวาคม 2567 แม่มิ่งมีพฤติกรรมอยู่บนรังต่อเนื่อง เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าพญาแร้งจะวางไข่อีกไม่เกิน 72 ชั่วโมง จนในที่สุดแม่มิ่งก็วางไข่ในช่วงหัวค่ำ”
ชฎาภรณ์ ศรีใส หัวหน้าฝ่ายวิชาการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร อธิบายถึงเรื่องราวเพิ่มเติมว่า ไข่ใบที่สองหรือใบแรกของฤดูกาลนี้เป็นไข่ของพ่อป๊อกกับแม่มิ่ง พญาแร้งคู่แรกของโครงการฯ ที่อาศัยในกรงฟื้นฟูที่หน่วยพิทักษ์ป่าซับฟ้าผ่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เป็นกรงเลี้ยงขนาดใหญ่ในถิ่นอาศัยเดิม สำหรับฟื้นฟูประชากรสัตว์ป่าก่อนปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ
โดยคู่พญาแร้งป๊อกกับมิ่งได้วางไข่ใบแรกในช่วงปลายปี 2566 และฟักสำเร็จในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2567 เกิดเป็น ‘51’ ลูกพญาแร้ง (เพศเมีย) ตัวแรกที่ฟักออกจากไข่ได้สำเร็จในธรรมชาติ (ปัจจุบันย้ายมาอยู่ในกรงชั่วคราวเพื่ออนุบาลลูกพญาแร้ง)
สำหรับไข่ฟองล่าสุด ระหว่างนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบว่ามีเชื้อในไข่หรือไม่
ขณะเดียวกัน ด้วยความที่พญาแร้งในธรรมชาติวางไข่คราวละ 1 ฟอง แต่ในทางเทคนิคแล้ว สามารถล้วงไข่ออกจากรัง (นำไปฟักในตู้อบ) เพื่อให้แม่พญาแร้งสามารถวางไข่ได้อีกฟอก หากพญาแร้งยังอยู่ในช่วงที่ยังมีฮอร์โมนสำหรับการวางไข่ ถือเป็นโอกาสในการเพิ่มประชากรพญาแร้งได้อีกทางหนึ่ง
โดยไข่ที่ล้วงออกจาก จะถูกนำไปฟักโดยการควบคุมอุณหภูมิให้เหมาะประหนึ่งการกกไข่ของแม่พันธุ์ (ประมาณ 36 องศาเซลเซียส) รวมถึงการกลับไข่ให้เหมือนพฤติกรรมตามธรรมชาติที่มีการกลับไข่อยู่ตลอดเวลา เพื่อให้อุณหภูมิคงที่ โดยอาจใช้เวลาประมาณ 55-60 วัน จึงจะฟักเป็นออกมาตัว
อย่างไรก็ดี การล้วงไข่ออกจากรังไม่สามารถทำซ้ำติดต่อกันหลายครั้ง เพราะอาจทำให้แม่พันธุ์เกิดความเครียดได้ และปัจจุบันประเทศไทยเหลือแม่พันธุ์พญาแร้งเพียงหนึ่งตัวที่ป่าห้วยขาแข้งเท่านั้น
ทั้งนี้ ในอนาคต ยังมีโจทย์ที่ท้าทายเพิ่มมากขึ้นจากเรื่องโลกร้อน เพราะไข่ของพญาแร้งต้องอยู่ในอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเชื้อในไข่ หากอุณภูมิของโลกสูงเกินกว่า 38 องศาเซลเซียส จะส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเชื้อในไข่โดยตรง เช่นเดียวกับเรื่องความชื้นในอากาศก็ส่งผลกระทบต่อเชื้อเช่นกัน
ร่วมสนับสนุนการศึกษาวิจัยและการฟื้นฟูประชากรกับเหล่า “Red Headed Gang” ได้ที่
โครงการพญาแร้งคืนถิ่น ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส รัตนาธิเบศร์
บัญชีเลขที่ 679-6-72119-5
(ใบเสร็จจากการบริจาค สามารถลดหย่อนภาษีได้เต็มจำนวน)
ผู้ที่ต้องการรับใบเสร็จ สามารถส่งหลักฐานการโอนเงิน
พร้อมทั้ง ชื่อ-ที่อยู่ ในการออกใบเสร็จมาที่กล่องข้อความเฟซบุ๊กพญาแร้งคืนถิ่น
https://www.facebook.com/ThailandredheadedVultureproject
อ้างอิง
- สวัสดีปีใหม่ 2568 สมหวังกับการรอคอยไข่พญาแร้งใบแรกของพ่อป๊อกแม่มิ่งในฤดูกาลนี้
- 2 มกราคม 2568 แม่มิ่งและพ่อป๊อกวางไข่ใบที่สองสำเร็จ (ใบแรกของฤดูกาลนี้)
- เรียบเรียงเนื้อหาเพิ่มเติมจาก รายการนครฮีใจ ตอน “เต่ามะเฟืองและพญาแร้ง” กับการดำรงเผ่าพันธุ์ท่ามกลางโลกเดือด
ผู้เขียน
ทำงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ การเขียน เรื่องสิ่งแวดล้อมและดนตรีนอกกระแส - เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตใช้ไปกับการนั่งมองความเคลื่อนไหวของใบไม้และสายลม