โดย นายสมโภชน์ ดวงจันทราศิริ หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
ข้อมูลในช่วงปี 2020-2024 จากการติดตั้งกล้องของสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำประมาณ 400 กว่าจุด ในพื้นที่มรดกโลกทุ่งใหญ่นเศวรฯ-ห้วยขาแข้ง พบว่าเจอเสือโคร่งและเสือดาวกว่า 200 กว่าจุด แต่ว่าพอเป็นแมวขนาดเล็ก ๆ ที่ถ่ายได้ คือ เสือลายเมฆ เสือไฟ แมวดาว และแมวลายหินอ่อน ที่ถ่ายได้น้อยเนื่องจากวัตถุประสงค์ของการติดตั้งกล้องคือสำรวจเสือโคร่ง ถ้าในอนาคตจะมีการสำรวจแมวขนาดเล็กจะต้องติดตั้งกล้องให้สอดคล้องกับนิเวศวิทยาและพฤติกรรมการใช้ชีวิตของมัน
เสือขนาดเล็กในศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าและสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า
ส่วนใหญ่เป็นสัตว์ป่าของกลางหรือไม่ก็เป็นสัตว์ป่าที่ชาวบ้านในมามอบให้หรือได้รับการช่วยเหลือ ในกลุ่มแมวขนาดเล็ก รวม 165 ตัวได้แก่ แมวดาว 143 ตัว เสือปลา 13 ตัว เสือกระต่าย 3 ตัว เสือลายเมฆ 2 ตัว แมวลายหินอ่อน 1 ตัว และเสือไฟ 3 ตัว
สถิติการกระทำผิดเกี่ยวกับเสือขนาดเล็ก
ในช่วง 13 ปี (ปี 2555-2567) มีคดีการกระทำผิดเกี่ยวกับเสือขนาดเล็ก จำนวน 31 คดี ประมาณ 10 คดี เกิดขึ้นในพื้นที่อนุรักษ์ และอีก 20 คดี เป็นการตรวจยึดจากตามนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เช่น ด่านตรวจ หรือจากเจ้าหน้าที่เหยี่ยวดง/ชุดพญาเสือไปล่อซื้อมา หนังเสือลายเมฆที่ถูกถ่ายได้ มีการตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นเสือลายเมฆตัวเดียวกันที่เคยถ่ายได้ในอุทยานแห่งชาติไทรโยค โดยทีมงาน Panthera
แนวทางการอนุรักษ์เสือขนาดเล็กในประเทศไทย
ประเทศไทยเรามีการใช้กฎหมายที่คุ้มครองสัตว์ป่า และคุ้มครองพื้นที่อาศัยอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นแมวป่าขนาดเล็กที่อาศัยอยู่ในป่าก็มีความมั่นใจในระดับหนึ่งที่ประชากรมันอาจจะอยู่รอดปลอดภัย แต่ว่าในกลุ่มที่มันมีความเสี่ยง เช่นยังเจอน้อยอยู่อย่างเสือกระต่าย เราพิจาณากันว่าต้องศึกษาอย่างไรให้เจอเยอะกว่านี้ หรือว่าจะขยายพันธุ์เพื่อเพิ่มประชากรและปล่อยคืนสู่ป่า หรือเสือปลาก็ต้องดูกันว่าจะทำไงให้ชนิดนี้อยู่รอด อาจจะเริ่มจากการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่มีอยู่ให้ได้ เพราะเสือปลาอาศัยอยู่ในนอกพื้นที่ป่า อีกทั้งเสือปลามีการทำงานกันมาสักพักนึงแล้ว ก็พอจะเห็นแนวทางที่พอเป็นทางออกได้ แต่อย่างแมวป่าหัวแบนก็ยังเป็นชนิดที่อาศัยอยู่พื้นที่เฉพาะเหมือนกันโอกาสที่จะหายไปจากประเทศไทยก็อาจจะมี
1. การบังคับใช้กฎหมายการคุ้มครองชนิดพันธุ์และพื้นที่อาศัย
2. การพัฒนางานวิจัยด้านชีววิทยา พันธุกรรม และโรคติดต่อ
3. การเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ และปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ
4. การแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง
5. การสร้างจิตสำนึก ส่งเสริมการมีส่วนร่วม
6. การป้องกันและปราบปรามการลักลอบค้าสัตว์ป่า
สรุปจากเวทีเสวนาวิชาการ Save our home สถานะเสือขนาดเล็กในประเทศไทยและการอนุรักษ์ วันที่ 12 ธันวาคม 2567 เวลา 13.30 -16.00 น. ณ ห้องประชุม Fortrop ชั้น 3 อาคารวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์