โดย นายศุภวัฒน์ เขียวภักดี ผู้จัดการโครงการวิจัยเสือขนาดเล็ก องค์การแพนเทอร่า
การวางแผนอนุรักษ์เสือปลาอย่างยั่งยืน สิ่งที่ควรทราบก็คือเหยื่อหลักของเสือปลาคืออะไร ขนาดพื้นที่อาศัยเป็นอย่างไรบ้าง รวมถึงปัจจัยนิเวศอื่น ๆ ที่เอามาช่วยในการอนุรักษ์และวิจัยเสือปลาในอนาคต ในอดีตมีงานวิจัยเมื่อปี 2015 พบว่าเสือปลากินปลาเป็นสัดส่วนที่มากที่สุด รองลงมาคือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก นก และสัตว์เลื้อยคลาน
ปัจจุบันมีการเก็บกองมูลบริเวณคันบ่อกุ้ง พื้นที่รกร้าง โดยจะดูพื้นที่ที่มีรอยขุ้ย รอยตีนของเสือปลา ซึ่งในพื้นที่มีสัตว์ที่ใช้พื้นที่ร่วมกับเสือปลาและมีรอยตีนใกล้เคียงกัน คือ แมวดาว และแมวบ้าน ในการแยกสปีชีส์สามารถแยกจากอุ้งตีน ถ้าขนาดอุ้มตีน 2.8 ถึง 3 เซนติเมตร จะเป็นเสือปลา ถ้าน้อยกว่า 2.5 ซม. จะเป็นแมวบ้าน และแมวดาว
นอกจากนี้ได้นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาศึกษานิเวศวิทยาเสือปลา ในปีแรกมีการนำปลอกคอมาติดแต่ผลประกอบการไม่เป็นไปตามที่คาดหมาย เนื่องจากเสือปลาลงน้ำบ่อยจึงไม่เหมาะสมในการใช้ชีวิต จึงได้มีการนำอีกยี่ห้อมาปรับใช้และมีน้ำหนักน้อยกว่า ทำให้สามารถเก็บข้อมูลได้ทุก ๆ 10 นาทีในช่วงเวลาที่เสือปลาทำกิจกรรมหรือว่าล่าเหยื่อ ช่วงเวลาหลับนอนหรือว่าเลี้ยงลูกจะบันทึกทุก ๆ 4 ชั่วโมง
ช่วง 2-3 ปี ในการเก็บข้อมูล จับเสือปลาได้ทั้งหมด 12 ตัว แบ่งเป็นเพศผู้ 5 ตัว และเพศเมียอีก 7 ตัว มีการตั้งชื่อให้เสือปลาทุกตัวโดยหลักการตั้งชื่อก็จะตั้งตามสภาพพื้นที่ แล้วก็ลักษณะพันธุ์พืชเด่นของในพื้นที่นั้น ๆ
เสือปลากินอะไร ?
บริเวณที่มีการบันทึกสัญญาณจากปลอกคอทีมงานจะเข้าไปตรวจว่าเสือปลากินอะไร จากการเก็บข้อมูลพบว่าเสือปลากินปลาในสัดส่วนที่มากถึง 48% เช่น ปลาหมอไทย ปลานิล ปลาช่อน ปลาดุก รองลงมาเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กหรือว่าพวกหนูพุกใหญ่ 25.5% นก 19% และอื่นๆ
ในส่วนของอาหารหลักเสือปลากินปลาหมอไทยและหนูพุกใหญ่ รองลงมาคือ ไก่บ้านที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้ ซึ่งไก่บ้านเป็นปัญหาในพื้นที่ตรงนี้จนเกิดเป็นความขัดแย้งระหว่างคนกับเสือปลา
ค่าพลังงานที่ต้องใช้ในช่วงระยะเวลาประจำวันของเสือปลา เสือปลามีความจำเป็นที่ต้องกินอาหาร 500-1,500 กรัมต่อวัน เมื่อคิดจากค่าโภชนาการของหนูพุกใหญ่อยู่ที่ 1,200-2,500 กิโลแคลอรี่ต่อกิโลกรัม ใน 1 ปี เสือปลาต้องกินหนูพุกใหญ่ถึง 490 ตัว/ปี เป็นข้อมูลที่ชี้ได้ว่า เสือปลามีความสำคัญในการควบคุมประชากรของหนูพุกในพื้นที่ เพื่อไม่ให้ไปรบกวนกับพืชพันธุ์เกษตรของชาวบ้าน
ขนาดพื้นที่อาศัยของเสือปลา
เสือปลาเพศผู้มีขนาดพื้นที่อาศัยเฉลี่ยอยู่ที่ 6.29 ตารางกิโลเมตร ส่วนเพศเมียมีขนาดพื้นที่อาศัยอยู่ที่ 2.83 กิโลเมตร และยิ่งเสือปลาที่มีขนาดตัวที่ใหญ่ขนาดพื้นที่อาศัยก็จะยิ่งเพิ่มตามไปด้วย นอกจากนี้เสือปลาชอบใช้พื้นที่รกร้างที่เป็นบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ บ่อเลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลา แต่หลังจากติดตามผลกระทบที่มีผลต่อการเกิดของเสือปลาในพื้นที่พบว่าหลังที่ชาวบ้านหยุดเลี้ยงสัตว์น้ำ พวกตาข่ายที่ถูกจัดเก็บไม่ดีจะมีผลต่อเสือปลาอย่างมาก ภาพจากกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่า พบเสือปลา 4 ตัวที่แผลมียริเวณลำคอ
หลังจากที่พบว่าเสือปลาได้รับบาดเจ็บจากตาข่ายของชาวบ้านได้เกิดการพูดคุยและหาทางออกร่วมกันกับชาวบ้านในการเก็บอุปกรณ์ให้เป็นระบบอยู่ในสถานที่ที่เหมาะสม เพราะไม่อย่างนั้นจะทำให้ประชากรเสือปลาในพื้นที่ลดน้อยลง
สรุปจากเวทีเสวนาวิชาการ Save our home สถานะเสือขนาดเล็กในประเทศไทยและการอนุรักษ์ วันที่ 12 ธันวาคม 2567 เวลา 13.30 -16.00 น. ณ ห้องประชุม Fortrop ชั้น 3 อาคารวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์