16 มกราคม 2568 มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) ร่วมกับ กรมป่าไม้ ในบันทึกความร่วมมือว่าด้วยการดำเนินกิจกรรมพัฒนาบริหารพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติในผืนป่าตะวันตก
โดยบันทึกความมือดังกล่าว เป็นภารกิจสานต่อและขยายผลการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืน ภายใต้กรอบระยะเวลาใหม่ พ.ศ. 2568 – 2571 มีนายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ พร้อมด้วยนายภาณุเดช เกิดมะลิ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ร่วมลงนามในบันทึกความร่วมมือ
ภาณุเดช เกิดมะลิ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้อธิบายถึงความสำคัญของภารกิจพัฒนาบริหารจัดการพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติในผืนป่าตะวันตกว่า ตลอดแนวเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งและพื้นที่อนุรักษ์ข้างเคียง ทางด้านตะวันออก โดยรวมเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ในความรับผิดชอบของกรมป่าไม้ เป็นแนวกันชน (Buffer Zone) ของพื้นที่อนุรักษ์ ตลอดแนวยาวกว่า 400 กิโลเมตร
ในบางพื้นที่ได้รับการประกาศเป็น ‘ป่าชุมชน’ เพื่อให้ชุมชนเข้ามาร่วมกับกรมป่าไม้ดูแลและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างยั่งยืน บางแห่งประกาศเป็นพื้นที่ ‘ป่านันทนาการ’ พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่ยังคงเป็น ‘ป่าคงสภาพ’ และบางส่วนอยู่ระหว่างการเตรียมผนวกพื้นที่อนุรักษ์เพิ่ม รวมถึงพื้นที่หน่วยงานราชการอื่นๆ ขอใช้ประโยชน์ ถือเป็นพื้นที่ที่มีการบริหารจัดการที่หลากหลาย แต่สามารถทำงาน ‘ร่วมกัน’ เพื่อให้ชุมชนอยู่ได้ ป่าอยู่ได้ อย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ พื้นที่ดังกล่าวยังมีความพิเศษ เนื่องจากเป็นแนวกันชนของผืนป่ามรดกโลก ทำให้มี ‘สัตว์ป่า’ เข้ามาใช้ประโยชน์ ทั้งในเรื่องแหล่งอาหาร ใช้เป็นที่อยู่อาศัย ปลอดภัยจากการล่า สามารถพบเห็นสัตว์ป่า เช่น วัวแดง ช้างป่า นกยูง หรือแม้แต่เสือโคร่ง เข้ามาใช้พื้นที่ จนสามารถพัฒนาเป็นการท่องเที่ยวสัตวป่าในรูปแบบกลุ่มวิสาหกิจชุมชนขึ้นได้
โดยแนวคิดการจัดการพื้นที่แนวกันชนใหม่อย่างมีส่วนร่วม เป็นการทำงานโดยมี ‘หน่วยป้องกันรักษาป่า’ เป็นหลักในการประสานความร่วมมือ พัฒนาแผนการจัดการพื้นที่ออกเป็นกลุ่ม หรือโซน ตามบริบทสภาพพื้นที่ ปัญหา โดยการจัดการพื้นที่มีทั้งงานด้านการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ดูแลระบบนิเวศทรัพยากรป่าไม้สัตว์ป่า การพัฒนาการท่องเที่ยวและการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน เป็นการจัดการที่สอดคล้องกับแผนการจัดการพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติ และไม่ขัดกับกรอบกฎหมาย




สำหรับบันทึกความมือในการดำเนินกิจกรรมพัฒนาการบริหารจัดการพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติในผืนป่าตะวันตก (พ.ศ. 2567-2571) ในครั้งนี้ โดยกำหนดเป้าหมายและแนวทางดำเนินงานที่สำคัญไว้ 6 ด้าน ได้แก่
1) ส่งเสริมพื้นที่ป่าเศรษฐกิจและป่าชุมชนตามแนวนโยบายป่าไม้แห่งชาติ
2) สร้างแผนบริหารจัดการสัตว์ป่า เพื่อสนับสนุนความหลากหลายทางชีวภาพ
3) พัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ ด้วยการจัดตั้งหน่วยป้องกันรักษาป่าต้นแบบ
4) สนับสนุนกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่ ร่วมดูแลรักษาป่าสงวนแห่งชาติในผืนป่าตะวันตกให้เป็นแนวป่ากันชนของพื้นที่ป่าอนุรักษ์
5) สนับสนุนให้มีการศึกษาปริมาณการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่นำร่อง
และ 6) ส่งเสริมเทคโนโลยีใหม่เพื่อการพัฒนาระบบนิเวศและสังคมในผืนป่าตะวันตก




ผู้เขียน
ทำงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ การเขียน เรื่องสิ่งแวดล้อมและดนตรีนอกกระแส - เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตใช้ไปกับการนั่งมองความเคลื่อนไหวของใบไม้และสายลม